'เซ็นทารา' วอนรัฐเร่งแผน รับต่างชาติฟื้นรายได้ 100% ปี 66

'เซ็นทารา' วอนรัฐเร่งแผน รับต่างชาติฟื้นรายได้ 100% ปี 66

กลุ่ม “เซ็นทารา” วอนรัฐเร่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หวั่นลากยาวกระทบผู้ประกอบการ "ล้มหายตายจาก" พร้อมเดินหน้า "รีสตาร์ทธุรกิจ" เปิดโรงแรม 11 แห่งในครึ่งปีแรกหลังโควิดคลี่คลาย

ลุยปูพรมไทย-ต่างประเทศ ปักหมุดครบ 130-140 แห่งในปี 2568 ชี้วิกฤติเป็นโอกาส โรงแรมเสนอขายเพียบ แย้มสนใจ "อังกฤษ-ฝรั่งเศส"

ปี 2563 เป็นปีแห่งความยากลำบากของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวซึ่งเคยรับบทพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี หลังวิกฤติโควิด-19 กระหน่ำซัดทุกหย่อมหญ้า โรงแรมรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ไม่เว้น “เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปที่ต้องปรับตัวอย่างหนักในเชิงการลงทุนและดูแลต้นทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง จนกว่าจะถึงวันเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในปี 2563 ของกลุ่มเซ็นทาราหนักหนาที่สุดนับตั้งแต่ทำธุรกิจมากว่า 37 ปี น่าจะเป็นปีแรกที่ขาดทุน เพราะตั้งแต่ทำโรงแรมมา ไม่เคยขาดทุนเลยสักปี

“ครบรอบ 1 ปีพอดีนับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ระบาด เรียกได้ว่าปี 2563 เป็นปีที่ยากลำบาก พอมาเจอโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาก็ทรุดลงไปอีก แต่คาดว่าจะเป็นช่วงสั้นๆ แค่ในไตรมาสแรกของปี 2564 เท่านั้น ซึ่งเรามีประสบการณ์รับมือมาแล้ว”

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่สำนักเศรษฐกิจและหน่วยงานรัฐคาดการณ์ และคาดหวังว่าจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในไตรมาส 4 ปีนี้หากสามารถเปิดประเทศได้ กลุ่มยุโรปน่าจะเดินทางมาได้ในช่วงไฮซีซั่นฤดูหนาว

“แต่ก็ขึ้นกับนโยบายรัฐบาลด้วยว่าจะดำเนินการไปในทิศทางไหน จะเปิดประเทศเมื่อไร แต่ปล่อยแบบนี้ไม่ได้ หากปิดประเทศต่อไปจะตายกันหมด”

กลุ่มเซ็นทาราจึงอยากให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้คนในประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก พร้อมออกมาตรการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 2 ครั้ง และผ่านการตรวจหาเชื้อโควิดแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว โดยขณะนี้ภาคเอกชนท่องเที่ยว เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กำลังผลักดันข้อเรียกร้องนี้ถึงรัฐบาลอยู่ เพราะต่างอยากเห็นการเริ่มทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไป

“เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาได้แน่นอน เพราะแนวโน้มความต้องการท่องเที่ยวยังมีอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความมั่นใจของนักท่องเที่ยว และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล นอกจากนี้ยังต้องดูประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวด้วย เพราะหากเขาเปิดประเทศก่อนเรา เขาก็จะได้โอกาสก่อน เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักทั่วโลก ทำให้คนมีเงินจำกัด จากเดิมที่เคยวางแผนเที่ยวต่างประเทศ 2-3 ครั้งต่อปี ก็จะเหลือแค่ 1 ครั้งต่อปี หากไทยเปิดประเทศช้ากว่าประเทศอื่นๆ อาจจะไม่เป็นผลดี แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีหลายล้านคน ถ้ายิ่งช้าก็จะยิ่งกระทบมากขึ้น”

นายธีระยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มเซ็นทาราได้ปิดให้บริการโรงแรมบางแห่งชั่วคราวในประเทศไทย โดยส่วนที่เปิดให้บริการปัจจุบันมี 15 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่เซ็นทาราเป็นเจ้าของ 4 แห่ง ได้แก่ เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ, เซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์, เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลลา หัวหิน และเซ็นทรา บาย เซ็นทารา โฮเทล แม่สอด ส่วนอีก 11 แห่งเป็นโรงแรมที่รับบริหาร

และภายในครึ่งแรกของปี 2564 กลุ่มเซ็นทาราคาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง (Reopen) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ วันที่ 10 ก.พ.นี้ เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา, วันที่ 1 มี.ค.นี้ เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว รวมถึงเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท ภูเก็ต และเซ็นทารา วิลลา สมุย, วันที่ 1 เม.ย.นี้มี เซ็นทารา หาดใหญ่ รวมถึงเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลลา กระบี่ และโคซี่ พัทยา วงศ์อมาตย์ บีช ส่วนวันที่ 1 มิ.ย.นี้ มีโคซี่ สมุย เฉวง บีช และหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็อาจจะกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมในภูเก็ตอีก 3 แห่งที่เหลือ

“แม้ที่ผ่านมาภาพรวมลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติของกลุ่มเซ็นทาราจะหายไปประมาณ 70% ตามภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้ แต่ยังได้ลูกค้านักท่องเที่ยวไทยช่วยเติมอัตราการเข้าพัก ทำให้มีรายได้หมุนเวียนเข้ามา แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้โรงแรมมีกำไร”

โดยก่อนเจอวิกฤติ กลุ่มเซ็นทาราได้ดำเนินกลยุทธ์กระจายความหลากหลายของฐานลูกค้า (Market Mix) เมื่อปี 2562 มีลูกค้าคนไทยครองสัดส่วนมากเป็นอันดับ 1 ที่ 20% ส่วนอีก 80% เป็นลูกค้าต่างชาติ แบ่งเป็นจีน 12% รัสเซีย 7% สหราชอาณาจักร 6% ออสเตรเลีย 5% อินเดีย 5% และอื่นๆ

“ทั้งนี้มองว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโรงแรมไทยอย่างมาก จึงอยากให้รัฐบาลขยายระยะเวลาโครงการไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือจนกว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาชัดเจน อย่างกลุ่มเซ็นทาราเองก็มีรายได้จากโครงการนี้แล้วกว่า 200 ล้านบาท”

ด้านคาดการณ์รายได้โรงแรมของกลุ่มเซ็นทาราในปี 2564 คาดฟื้นตัว 55-60% เมื่อเทียบกับรายได้ปี 2562 ซึ่งปิดที่ 8,500 ล้านบาท หากสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 4 นี้ฟื้นตัวดีจริง ก็จะส่งโมเมนตัมไปยังไตรมาส 1 ของปี 2565 หนุนให้การฟื้นตัวด้านรายได้ในปีหน้าของกลุ่มเซ็นทาราอยู่ที่ 80% และกลับมาเป็นปกติ 100% ในปี 2566

ขณะที่แผนธุรกิจ 5 ปี (ปี 2564-2568) กลุ่มเซ็นทารายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจโรงแรมทั้งในและต่างประเทศให้ถึงเป้าหมาย 130-140 แห่งภายในปี 2568 จากปัจจุบันให้บริการแล้ว 44 แห่ง และอยู่ระหว่างพัฒนา 39 แห่ง รวมเป็น 83 แห่งซึ่งแบ่งเป็นโรงแรมในไทย 48 แห่ง และในต่างประเทศ 35 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องรวม 17,358 ห้อง

และเมื่อโฟกัสเฉพาะโรงแรมใหม่ที่เตรียมเปิดให้บริการในปีนี้ มีจำนวน 8 แห่งทั่วเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม ตุรกี กาตาร์ เมียนมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย ประเทศละ 1 แห่ง และ สปป.ลาว อีก 2 แห่ง

ด้านค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน (CAPEX) ของกลุ่มเซ็นทาราในไทยปีนี้ วางแผนไว้ที่ 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็น 300 ล้านบาทสำหรับค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ส่วนอีก 3,300 ล้านบาทสำหรับรองรับการเติบโตในอนาคต เช่น การปรับปรุงห้องพัก ห้องประชุม และพื้นที่โครงการใหม่ ส่วน CAPEX เมื่อปีที่แล้ว เดิมวางแผนไว้ที่ 8,000 ล้านบาท แต่พอมีโควิด-19 จึงปรับแผนเพื่อบริหารสภาพคล่อง ใช้เงินลงทุนจริงไม่ถึง 3,000 ล้านบาท

“ในช่วงโควิดระบาด มีโรงแรมทั้งในและต่างประเทศเสนอขายกิจการให้กลุ่มเซ็นทาราเข้าซื้อจำนวนมาก ซึ่งต้องขอศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดีก่อน โดยในต่างประเทศ กลุ่มเซ็นทาราสนใจซื้อโรงแรมในอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของยุโรป” ซีอีโอเซ็นทาราฯกล่าว