ม๊อบเกษตรกร บุกทวงค่าชดเชยโครงการชลประทาน

ม๊อบเกษตรกร บุกทวงค่าชดเชยโครงการชลประทาน

เกษตรกร ฯ เร่งติดตามจ่ายค่าชดเชยผลกระทบโครงการชลประทานเร่งด่วน หลัง เกษตรกร 4 จ.อีสาน โครงการฝาย-อ่างเก็บน้ำ ลั่นค้างหิ้งกว่า 29 ปี

นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานในหลายจังหวัด ซึ่งเดินทางมายังบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรฯ จำนวนกว่า 300 คน อาทิ        จ.สุรินทร์ (5 โครงการ และโครงการฝายราษีไศล) จ.อุดรธานี (โครงการฝายห้วยหลวง และโครงการฝายกุมภวาปี)    จ.อุบลราชธานี (5 โครงการ) และ จ.ชัยภูมิ (โครงการอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร) นำโดย นายศักดา กาญจเสน ประธานกลุ่มสมัชชาเกษตรกรอีสาน และเครือข่าย  ว่า

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาให้กับ เกษตรกรโดยที่ผ่านมาปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขหลายเรื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ครั้งที่ 1/2564 เห็นชอบรายชื่อราษฎรผู้มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทน 82 แปลง เนื้อที่ 422 ไร่เศษ จำนวนเงิน 52.78 ล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบรายชื่อผู้ครอบครองที่ดินและมีสิทธิ์ได้รับค่าขนย้าย 22 แปลง เนื้อที่ 206 ไร่เศษ จำนวนเงิน 9.29 ล้านบาท และให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าชดเชย ต่อไป นับเป็นความสำเร็จในการช่วยเหลือราษฎรในโครงการฝายหัวนา จ.ศรีสะเกษ ที่ได้ต่อสู้เรียกร้องมานาน 29 ปี

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้จ่ายค่าชดเชยพื้นที่ที่ได้รับกระทบจากโครงการฝายราศีไศล ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด

โดยพิจารณาจาก 1. ผลการพิจารณาเห็นชอบการพิจารณาอุทธรณ์การทำประโยชน์ในลักษณะท้องถิ่นที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2543 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล และ 2. ผลการพิจารณาเห็นชอบการพิจารณาอุทธรณ์การทำประโยชน์ในลักษณะท้องถิ่นถูกต้องตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2543

ประกอบผลการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลกับคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (ระดับอุทธรณ์) ทั้ง 3 จังหวัด เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2552 ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราศีไศล ซึ่งการจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการราษีไศลดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จะดำเนินการชดเชยจากกรอบงบประมาณเหลือจ่าย ซึ่งจะดำเนินการหลังตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการครอบครองและทำประโยชน์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างครบถ้วนแล้วต่อไป 

“กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้นโยบายของ นายเฉลิมชัย มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เน้นย้ำทุกครั้งว่า ทำได้ ให้ทำทันที เพื่อให้จบในยุคนี้ และยืนยันที่จะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ ในส่วนของโครงการต่างๆ ที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนและนำเสนอเพิ่มเติมนั้น ที่ประชุมจะนำเรียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับทราบ และจะเร่งรัดติดตามเพื่อช่วยเหลือเยียวยาต่อไป