'โตโจ ฮิเดกิ' ผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นให้แพ้สงคราม (1)

'โตโจ ฮิเดกิ' ผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นให้แพ้สงคราม (1)

เจาะลึกเรื่องราวของ "โตโจ ฮิเดกิ" ผู้กำหนดชะตาญี่ปุ่นให้แพ้สงครามที่ทำสงครามในจีน ทั้งๆ ที่มีการวางแผนระยะยาวเป็นอย่างดี (ตอนที่ 1)

ผู้คนส่วนใหญ่ ทราบว่าจีนทำสงครามกับญี่ปุ่น แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า ญี่ปุ่น ไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการเลยว่า กองทัพญี่ปุ่นที่ทำสงครามในจีนเป็นการรุกราน ทั้งๆ ที่สถานที่ทำสงครามไม่ใช่ประเทศของตนเอง

ในปี 2020 อิจิโนะเสะ โตชิยะ (一ノ瀬俊也) แห่งมหาวิทยาลัยไซตามะ ได้เขียนชีวประวัติของโตโจ ฮิเดกิ และได้บรรยายถึงวิวัฒนาการของโตโจและ พวกที่นำพาญี่ปุ่นไปสู่การแพ้สงคราม ทั้งๆ ที่มีการวางแผนระยะยาวเป็นอย่างดี เพื่อมุ่งไปสู่ชัยชนะในที่สุดแม้แต่กับสหรัฐ

  • ก. พื้นฐาน

โตโจ ฮิเดกิ เกิดวันที่ 30 ก.ค.1884 ในตระกูลชาวเมืองโมริโอกะ บิดาเป็นนายทหารยศพันตรี ตำแหน่งรองเสนาธิการ ในการทำสงครามกับจีนระหว่างปี 1894-1895 โตโจพยายามสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่ล้มเหลวถึง 2 ครั้ง โอบาตะ โตชิโร (小畑敏四郎) จึงได้จัดติวโตโจที่บ้านของเขาเองร่วมกับโอกามูระ ยาสุยิ (岡村寧次) และนากาตะ เท็ดซัน (永田鉄山) จนสามารถสอบเข้าได้ ในปี 1912 พวกเขาจึงเป็นเพื่อนรักกัน และทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดทิศทางหลักของกองทัพบกญี่ปุ่น กล่าวกันว่าในปี 1921 พวกเขาทำสัญญาลับกันที่เมืองบาเดนบาเดนของเยอรมนี ในอันที่จะถอนรากถอนโคนอิทธิพล โจชูและสัทสุมะในกองทัพบก

สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้โตโจตระหนักในความสำคัญของเศรษฐกิจที่มีต่อการทำสงครามจนกลายเป็นแนวคิดของพวกเขาว่า การทำสงครามจะต้องระดมสรรพกำลังในชาติจึงจะได้รับชัยชนะในระหว่างปี 1914-1924 ญี่ปุ่นได้ส่งคณะ

ดูงานในยุโรปถึง 220 คน โดยแบ่งเป็นเยอรมนี 55 คน เพื่อดูงานทหารราบ ฝรั่งเศส 65 คน เพื่อดูงานทหารปืนใหญ่ หลังจากกลับจากเยอรมนีแล้ว โตโจได้เป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก โตโจมีความเห็นว่าการทำสงครามจะต้องมีการประสานของนโยบายทางทหารและทางการเมืองที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น เยอรมนีใช้เรือดำน้ำจมเรือในมหาสมุทรแอตแลนติกมากไปจนสหรัฐเข้าร่วมสงคราม สงครามด้วยสรรพกำลัง (総力戦/ โซริอ๊กเซน) หมายถึงอาวุธ อุปกรณ์ลำเลียงวัตถุดิบอย่างเหล็กถ่านหิน การจัดหาวัตถุดิบจึงหนีไม่พ้นแมนจูเรีย มองโกเลีย และภาคเหนือของจีน และเป็นแนวคิดทั่วไปในกองทัพญี่ปุ่นอยู่แล้ว

หลังจากกลับจากยุโรปในปี 1927 แล้วนากาตะ โอบาตะ โอกามูระ และโตโจได้เข้าร่วมกลุ่มพบปะเป็นประจำที่เรียกว่า ฝุตาบะไค (二葉会) ซึ่งประกอบด้วย นายทหารระดับกลางที่จบโรงเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นที่ 15-18 ส่วนนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 21-24 รวมกลุ่ม ที่เรียกว่า โมซุโยไค/กลุ่มวันพฤหัส (木曜会)

ในการประชุมครั้งที่ 3 ของโมซุโยไค โตโจ ได้กล่าวว่า การตระเตรียมเพื่อสงครามในทางทหารนั้น เป้าหมายระยะแรกก็คือการจัดตั้งอำนาจปกครองในแมนจูเรียและมองโกเลีย เพื่อทำสงครามกับรัสเซียเป็นหลัก แต่ว่าการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเข้าร่วมของสหรัฐก็จำเป็นเช่นเดียวกัน ในระหว่างนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องสงครามกับจีน เพียงแต่มีเป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรเท่านั้น ส่วนทางด้านอังกฤษนั้น สามารถแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์อย่างอื่นได้ ที่จริงแล้วกลุ่มฝุตาบะไคเริ่มต้นด้วยการพูดเรื่องสัพเพเหระ แต่มาพูดเรื่องของบ้านเมืองใน

ภายหลังตัวประธานคือโคโมโตะ ไดซากุ (河本大作) นักเรียนนายร้อย รุ่นที่ 15 ซึ่งเป็นผู้บงการการวางระเบิด ฆ่านายพลจางโซหลิน ขุนศึกผู้ครอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โอกามูระเข้าร่วมกับโมซุโยไค ในปี 1928 และถกเถียงถึงปัญหาของทหารที่มี รายได้อยู่อย่างลำบากภายใต้สภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นแล้วแย่กว่ากันมาก นายทหารที่ออกจากราชการแม้ว่าจะได้บำเหน็จ ก็มีชีวิตอยู่ได้ลำบาก หางานใหม่ก็ไม่ได้ด้วยประสบการณ์ใช้ไม่ได้ในภาคเอกชน เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายทหารจึงมีความจำเป็นต้องได้งบประมาณมา เพื่อให้ทหารเติบโตได้ การทำสงคราม จึงเป็นวิถีทางหนึ่ง ทุกคนพากันฝันเฟื่องจินตนาการโดยไม่ได้คิดถึง ความระทมทุกข์ของการแพ้สงครามแม้แต่น้อย ในปี 1929 พวกเขาจึงประชุมลับเพื่อหา มาตรการให้มีการใช้กำลังกับแมนจูเรีย

เนื่องจากการวางระเบิดจางโซหลิน เกิดจากการกระทำของทหารบก ความจริงเบื้องหลังจึงเปิดเผยไม่ได้เนื่องจากจะทำให้กองทัพเสียหายอย่างมาก โอกามูระ นากาตะ และโตโจจึงพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขเหตุการณ์นั้น

วันที่ 16 พ.ค.1929 ฝุตาบะไคกับโมซุโยไครวมกันเรียกชื่อใหม่ว่า อิสเซกิไค (一夕会) และมีมติ 3 เรื่องคือ 1) การรื้อระบบบุคลากรกองทัพบก 2) การผลักดันนโยบายทุกด้าน และ 3) การให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแมนจูเรียและมองโกเลีย เรื่องบุคลากรจะพยายามผลักดันสมาชิกในกลุ่มให้ได้ควบคุมตำแหน่งสำคัญและให้โตโจในฐานะอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพยายามกีดกันไม่ให้ชาวโจชูเข้ามาเรียน

  • ข. แผนชั่วในจีน

วันที่ 18 ก.ย.1931 อิตางากิ เซอิชิโร่ (板垣征四郎) และอิชิฮารา คันยิ (石原莞爾) แห่งกองกำลังคันโตในแมนจูเรียได้ใช้ข้ออ้างว่า ฝ่ายจีนวางระเบิดทางรถไฟ ทำการเคลื่อนกำลังปฏิบัติการทางทหารเพื่อสะกดกองกำลังของขุนศึกในแมนจูเรีย ญี่ปุ่นเรียกเหตุการณ์นี้ว่า มันชูยิเฮน (満洲事変) ฝ่ายจีนเรียกว่า เหตุการณ์ 9.18 (九一八事変)

โปรดสังเกตว่า ญี่ปุ่นใช้คำว่า 事変 ซึ่งแปลว่า “เหตุการณ์พลิกผัน” อยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงสถานะที่ตัวเองเป็นฝ่ายกระทำผู้อื่น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงในทุกครั้งก็เป็นเช่นนั้น)

โตโจและพวกประชุมในวันที่ 21 เพื่อวางมาตรการรับสถานการณ์ในแมนจูเรีย และมองโกเลีย เพื่อให้กองกำลังคันโตเปิดปฏิบัติการที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้เปรียบ ข้อสรุปที่ได้ คือด้วยเงื่อนไขตั้งต้นที่จะสถาปนาแมนจูเรีย ให้เป็นประเทศอิสระในที่สุด ในสถานการณ์ อย่างนี้การจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอิสระจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่มีทางเลือกอื่น การรักษาบูรณภาพแห่งคาบสมุทรเกาหลี และการรักษาสิทธิประโยชน์ในแมนจูเรีย หมายถึงจะต้องเตรียมการทำสงครามกับรัสเซีย แม้ว่าโอกามูระจะไม่เคยคิดที่จะให้แมนจูเรียเป็นอิสระมาก่อน แต่ก็จำเป็นต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่

แต่ว่ากองกำลังคันโตต้องการจะไปให้ถึง “ประเทศแมนจูเรีย” โดยที่ไม่พิจารณาการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอิสระเลย เพราะว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นพฤติกรรมโดยตรงที่แยกจากสำนักงานของรัฐบาลญี่ปุ่นในแมนจูเรียและขัดกับข้อกำหนดของสันนิบาตชาติที่กำหนดให้ชนชาติมีสิทธิตัดสินใจเอง และไม่ยอมรับการทำสงครามรุกราน อีกทั้งจะต้องเคารพต่ออธิปไตยเหนือดินแดนของจีนด้วยตาม สนธิสัญญาวอชิงตันปี 1922 ถ้าหากทำให้เป็นประเทศอิสระแล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าชาวจีนแยกตัวกันเองภายใน และไม่ใช่การปฏิเสธสนธิสัญญาระหว่างประเทศและการกำหนดอนาคตเองของชนชาติ

นอกจากนี้ญี่ปุ่นจะต้องไม่รับรองประเทศเกิดใหม่โดยทันที เนื่องจากจะถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนให้กลุ่มกบฏตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ที่ชอบด้วยกฎหมายของจีน เพียงแต่ให้ทำสัญญาลับๆ กับประเทศเกิดใหม่ให้ได้ผลเหมือนๆ กันก็เพียงพอแล้ว

ทั้งกองกำลังคันโตและสำนักงานเสนาธิการทหารต่างตระหนักว่า มันชูยิเฮน เป็นสิ่งที่ขัดกับสนธิสัญญา 9 ประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีเหตุผลที่ฟังได้พอสมควร เพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้รุกรานและโตโจเองก็คิดหนักทุกครั้งในการกระทำการใดในภายหลัง ฝ่ายกองทัพเอง ก็พยายามโอนอ่อนตามรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เหตุการณ์บานปลาย และพยายามควบคุมกำกับกองกำลังคันโต พระจักรพรรดิเองก็รับสั่งกับกองกำลังคันโตโดยอ้อมๆ ว่า ให้หยุดพฤติกรรมเช่นนั้นเสีย

วันที่ 1 มี.ค.1937 ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารของกองกำลังคันโต โตโจ ไม่เพียงแต่วางแมนจูเรียเป็นแหล่งระดมสรรพกำลังของประเทศและอุตสาหกรรมทางทหารเท่านั้น แต่ยังวางไว้เป็นฐานของการเตรียมเพื่อสงครามในอนาคต นอกจากนี้กองกำลังคันโตยังมีความพยายามอย่างจริงจังที่จะ ก้าวเข้าไปในบริเวณทางเหนือของจีน หรือหัวเป่ย (華北) ที่มีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ โดยได้เข้าไปจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเอง จี้ตงในเมืองทงโจว (通州) ของเหอเป่ยและ เรียกบริเวณนี้ว่า “เทียบเท่าแมนจูเรีย” ตั้งแต่เดือน ธ.ค.1935

[ติดตามตอนต่อไป]