คนไทยเล่น 'การพนัน' มากน้อยแค่ไหน?

คนไทยเล่น 'การพนัน' มากน้อยแค่ไหน?

เปิดสถิติแนวโน้ม "การพนัน" และติดการพนันของคนไทย พบว่ามีมากขึ้นและขยายไปถึงการพนันในรูปแบบออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวที่นิยมใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น แล้วแนวทางแก้ไขปัญหานี้ควรดำเนินไปอย่างไร?

หนังสือรายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2563 ให้สถิติข้อมูลเรื่องสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทยที่น่าสนใจ แม้จะเป็นการเก็บข้อมูลแบบสุ่มตัวอย่าง (ปี 2562) แล้วมาคำนวณกับประชากรทั้งประเทศ เป็นสถิติเชิงประมาณการ แต่ก็น่าจะให้ภาพที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง

ประเด็นที่น่าสนใจคือคนไทยมีแนวโน้มที่จะเล่นการพนันและติดการพนัน จนเป็นปัญหาทั้งส่วนบุคคลและปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่น่าห่วงใยมากคือ เด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาว และมีแนวโน้มการขยายตัวของการพนันออนไลน์ ซึ่งเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและควบคุมได้ยากในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาก็มีข่าวการจับกุมผู้ดำเนินการบ่อนพนันทั้งออนไลน์และสถานที่จริงรวมหลายสิบแห่ง แต่ละแห่งมีวงเงินหมุนเวียนหลักร้อยล้านบาท

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประมาณการว่ามีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เล่นการพนันในรอบปี 2562 จำนวน 30.420 ล้านคน ร้อยละ 57 ของกลุ่มตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 1.490 ล้านคน หรือร้อยละ 5.2

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนคนเล่นการพนันเทียบกับประชากรในภูมิภาคสูงที่สุดคือ ร้อยละ 58.9 รองลงมาคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนผู้เล่นพนันอยู่ที่ร้อยละ 58.3 อันดับที่สามคือภาคใต้ มีสัดส่วนคนเล่นพนันอยู่ร้อยละ 54.4 ภาคเหนือร้อยละ 52.0 ภาคกลางร้อยละ 50.6

การพนันยอดนิยมอันดับหนึ่งในปี 2562 คือสลากกินแบ่งรัฐบาล มีจำนวนผู้เล่นพนันประมาณ 22.749 ล้านคน อันดับที่สองคือหวยใต้ดิน มีประมาณ 17.737 ล้านคน โดยเกือบ 3 ใน 4 ของคนที่เล่นหวยใต้ดินจะเล่นพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลควบคู่กันไปด้วย กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่ ไม่คิดว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเรื่องการพนัน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องถูกกฎหมายที่รัฐบาลดำเนินการเอง แต่ความจริงการใช้เงินเพื่อเล่นเสียงหวังที่จะได้รางวัล แต่มีโอกาสเสียเงินเปล่าๆ ก็คือการเล่นการพนันอย่างหนึ่ง

อันดับที่สามคือพนันไพ่ มีคนเล่นในปี 2562 ประมาณ 4.446 ล้านคน ถัดมาคือพนันทายผลฟุตบอล มีประมาณ 3.464 ล้านคน รองลงไปคือไฮโล โปปั่น และน้ำเต้าปูปลา พนันวัวชนและไก่ชน พนันมวยหรือมวยตู้ พนันหวย หุ้น พนันบิงโก ตามลำดับ

การพนันเป็นกิจกรรมที่อาจก่อผลกระทบทางลบหลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน การเป็นหนี้สิน การทำงาน การก่ออาชญากรรม ปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง ฯลฯ โดยเฉพาะคนเสพติดการพนันหรือเสี่ยงที่จะติด ซึ่งมีสัดส่วนมากพอสมควร ราว 10-15% ของคนที่เคยเล่นการพนันในรอบ 1 ปี

ผลเสียเหล่านั้นจะยิ่งรุนแรงเป็นพิเศษหากเกิดขึ้นกับกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ในช่วงที่สมองกำลังเจริญเติบโต แต่ยังควบคุมความหุนหันพลันแล่น หรือการตัดสินใจด้วยอารมณ์อย่างรวดเร็วไม่ได้ดีพอ ไม่มีประสบการณ์ชีวิต ไม่มีรายได้เป็นของตนเอง ผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยเงินที่สะสมมา มีเวลาว่าง มีความเหงาหรือโดดเดี่ยว ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกชักจูงหรือล่อลวงให้ใช้เงินเก็บไปกับการเล่นพนันจนเกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน

ผลการสำรวจพบว่าเยาวชนในช่วงอายุ 19-25 ปี มีสัดส่วนคนที่เล่นพนันในปี 2562 สูงกว่ากลุ่มเสี่ยงอื่นๆ โดยมีเยาวชนที่เล่นการพนันถึงร้อยละ 46.3 ของประชากรในช่วงอายุเดียวกัน หรือคิดเป็นจำนวน 3.051 ล้านคน ประเภทการพนันที่คนในช่วงวัยนี้นิยมเล่น 5 อันดับแรก ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน พนันทายผลฟุตบอล พนันไพ่ และไฮโล โปปั่น น้ำเต้าปูปลา วงเงินหมุนเวียนที่เยาวชนกลุ่มนี้ใช้เล่นพนันในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 58,878 ล้านบาท

ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเล่นการพนันในปี 2562 ถึงร้อยละ 42.2 เมื่อเทียบกับประชากรในช่วงวัยเดียวกัน หรือคิดเป็นจำนวน 3.357 ล้านคน ประเภทการพนันที่ผู้สูงวัยนิยมเล่นสองอันดับแรกคือสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน รองลงมาคือพนันไพ่ พนันวัวชนหรือไก่ชน ประมาณการวงเงินที่ผู้สูงวัยใช้เล่นพนันในปี 2562 ได้ 57,131 ล้านบาท

กลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปีประมาณ 1 ใน 5 เล่นการพนันในปี 2562 (ร้อยละ 20.9 ของคนในวัยเดียวกัน) หรือคิดเป็นจำนวน 0.733 ล้านคน ประเภทการพนันที่เยาวชนกลุ่มนี้นิยมเล่นคือหวยใต้ดิน สลากกินแบ่งรัฐบาล พนันไพ่ และพนันทายผลฟุตบอล วงเงินที่เยาวชนในช่วงอายุนี้ใช้ไปกับการพนันในปี 2562 ประมาณการ 10,200 ล้านบาท

สัดส่วนการติดพนันของคนไทยน่าจะสูงกว่าหลายประเทศ กลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจข้างต้น ประเมินว่าตนเองติดการพนันร้อยละ 7.2 หรือราว 5.23 ล้านคน และคนที่ตอบว่าไม่แน่ใจว่าตนเองติดการพนันหรือไม่มีอีกร้อยละ 14.1 (4.29 ล้านคน) กลุ่มหลังนี่อาจอยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงว่าจะติดการพนันต่อไป

ในหนังสือรายงานศูนย์ศึกษาการพนัน ประจำปี 2563 เล่มนี้ยังมีบทความที่น่าสนใจหลายบทความ สิ่งที่น่าช่วยกันติดตามคือ เรื่องการขยายตัวของการพนันออนไลน์ในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว ผู้นิยมใช้สื่อออนไลน์มาก และหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่คนเดินทางไม่สะดวก ใช้การสื่อสารออนไลน์เพิ่มขึ้นส่งเสริมให้ธุรกิจ เช่น กาสิโนและการพนันออนไลน์อื่นๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก

ในปี 2563 และต้นปี 2564 มีข่าวทลายบ่อนการพนันออนไลน์ในไทยหลายครั้ง (และบ่อนที่มีคนเล่นด้วย) แต่คงยังปราบได้เพียงบางส่วนที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น เพราะธุรกิจการพนัน คนดำเนินการมีโอกาสได้กำไรสูงมาก เจ้าหน้าที่รัฐก็ทุจริตและหย่อนยาน คนไทยที่ชอบเล่นการพนันก็มีอยู่มากพอสมควร

มีบทความของผู้เขียนเรื่องความสำคัญและแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาติดการพนันด้วย เสนอแนะให้รัฐบาลลงมือทำหลายเรื่อง อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการหรือสถาบันที่เป็นองค์กรกลาง ทำหน้าที่วิจัยป้องกันและบำบัดการติดการพนัน การฝึกอบรมให้แพทย์ จิตแพทย์ บุคลากรทางสาธารณสุข และการสังคมสงเคราะห์ มีความรู้ความเข้าใจว่าการติดการพนันเป็นอาการป่วย (ทางจิต ทางความคิด อารมณ์) ชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องการการป้องกันและรักษาพยาบาลอย่างถูกวิธี และควรให้ความสำคัญกับปัญหาการติดการพนันเป็นปัญหาสุขภาพ ที่ควรจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับการควบคุมป้องกันสารเสพติดและสารอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ควรเพิ่มภาษีเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อาหาร แบบขยะ (Junk Food) และน้ำตาล

ข้อสุดท้ายที่สำคัญยิ่งคือ รัฐบาลควรต้องปฏิรูปนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในแนวทางกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษาที่มีคุณภาพสู่ประชาชนทั้งประเทศอย่างเป็นธรรม และเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าการเพิ่มความมั่งคั่งทางวัตถุ มีระบบประกันสังคม และรัฐสวัสดิการที่ดี ประกันให้ประชาชนมีรายได้ยังชีพอย่างพอเพียง มีความมั่งคั่งในชีวิต ก็จะเป็นการปฏิรูปที่มีผลดีทางเศรษฐกิจสังคมในหลายด้าน รวมถึงช่วยลดปัญหาการติดการพนันได้ในทางอ้อม เพราะการที่คนไทยส่วนหนึ่งชอบเล่น/ติดการพนันเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมด้วย (อ่านฉบับเต็มได้ที่ www.gamblingstudy-th.org)