เฝ้าระวังโควิด 4 จังหวัด 15 อำเภอภาคใต้ ชายแดนไทย-มาเลเซีย

เฝ้าระวังโควิด 4 จังหวัด 15 อำเภอภาคใต้ ชายแดนไทย-มาเลเซีย

เฝ้าระวัง 4 จังหวัด 15 อำเภอ ภาคใต้ นราธิวาส ยะลา สงขลา สตูล ชายแดนติด มาเลเซีย หลังพบสถานการณ์ในมาเลเซีย ยอดผู้ป่วยสูงกว่า 2 แสนราย ผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 5 พันรายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ราว 3 - 4 พันรายต่อวัน

วันนี้ (30 มกราคม 2564) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)​ รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 930 ราย ติดเชื้อในประเทศ 916 ราย จากต่างประเทศ 14 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 17,953 ราย หายป่วยแล้ว 11,505 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 77 ราย สำหรับ การระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 63 – 30 ม.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อรวม 13,716 ราย หายป่วยแล้ว 7,565 ราย เสียชีวิต 17 ราย

รายละเอียดผู้ป่วยรายใหม่ 930 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ติดเชื้อในประเทศ (จากระบบการเฝ้าระวัง และ ระบบบริการ) 27 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 18 ราย กทม. 3 ราย นนทบุรี 2 ราย มหาสารคาม 2 ราย ตาก 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ติดเชื้อในประเทศ (จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 889 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 865 ราย สมุทรปราการ 18 ราย มหาสารคาม 4 ราย กทม. 1 ราย ระยอง 1 ราย และ ติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย ได้แก่ อิหร่าน 1 ราย เกาหลีใต้ 1 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย ไนจีเรีย 2 ราย รัสเซีย 1 ราย สหราชอาณาจักร 2 ราย เยอรมนี 2 ราย มาเลเซีย 3 ราย  

161198341850

“การคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 5 วันที่ผ่านมา พบผู้ป่วยค่อนข้างสูง ในวันนี้พบ 889 ราย หลักๆ คือ สมุทรสาคร และคาดว่าจะสูงไปอีกสักระยะ เนื่องจากจะมีการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณภาครัฐเอกชนที่ร่วมมือตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน ขอให้กำลังใจพี่น้องสมุทรสาคร และจะทำให้สมุทรสาครปกติโดยเร็ว” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว

สำหรับ รายละเอียดผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศชาย ชาวเมียนมา อายุ 31 ปี อาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัว คือ ตับแข็ง สุราเรื้อรัง อาศัยอยู่ในสมุทรสาคร มีประวัติเสี่ยงทำงานร่วมกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ วันที่ 15 ธ.ค.63 มีอาการไข้ แน่นท้อง ตาเหลืองตัวเหลือง วันที่ 29 ธ.ค. 63 มีอาการเหนื่อยหอบ ปอดอักเสบ ส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 วันที่ 30 ธ.ค. 63 ยืนยันพบเชื้อ 2 ม.ค. 64 มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ต่อมามีอาการ ไตวายเฉียบพลัน อวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิต 27 ม.ค. 64  

ขณะที่ สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฝั่งเอเชีย ประเทศที่พบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และเมียนมา โดยประเทศมาเลเซีย อยู่ในอันดับ 55 ของโลก พบผู้ป่วยรายใหม่ 5,725 ราย อัตราเพิ่มขึ้นจากในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบผู้ป่วยใหม่ 3,000 – 4,000 รายต่อวัน ยอดผู้ป่วยสะสมรวมมากกว่า 203,933 ราย

  • เฝ้าระวัง 4 จังหวัด 15 อำเภอภาคใต้

พญ.พรรณประภา กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากประเทศมาเลเซีย มีแนวชายแดนติดกับภาคใต้ของไทย 4 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่  “นราธิวาส” ได้แก่ สุไหงโก-ลก , จะแนะ , สุคิรินแว้ง , ตากใบ ติดกับ รัฐ Kelantan , Perak  “ยะลา” ได้แก่ กาบัง , ยะหา , บันนังสตา , ธารโตเบตง ติดกับ Kedah ,Perak “สงขลา” ได้แก่ สะเดา , สะบ้าย้อย , นาทวี ติดกับ Perlis , Kedah และ “สตูล” ได้แก่ เมืองสตูล , ควนโดน ติดกับ Perlis , Kedah  ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ในพื้นที่ที่ติดต่อตามแนวชายแดนทางภาคใต้โดยเฉพาะ 4 จังหวัดดังกล่าว" 

161198508265

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 102,628,593 ราย อาการรุนแรง 108,987 ราย รักษาหายแล้ว 74,325,752 ราย เสียชีวิต 2,216,285 ราย  

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 26,512,193 ราย 2. อินเดีย จำนวน 10,733,487 ราย 3. บราซิล จำนวน 9,119,477 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 3,813,048 ราย 5. สหราชอาณาจักร จำนวน 3,772,813 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 118 จำนวน 17,953 ราย

161198341914