กรมอนามัย แนะหลัก 6 x 6 สร้างเกราะป้องกันโรคโควิด-19 ช่วงเปิดเรียน

กรมอนามัย แนะหลัก 6 x 6 สร้างเกราะป้องกันโรคโควิด-19 ช่วงเปิดเรียน

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และเด็กวัยเรียนยึดปฏิบัติตามหลัก 6 x 6 ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) และ 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ในช่วงเปิดเรียน เพื่อลดความเสี่ยงโรคโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามมาตรการผ่อนปรนของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่กำหนดให้โรงเรียนทั้งภาครัฐ และเอกชนเปิดเรียนได้ตามปกติตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์นี้ กรมอนามัยจึงขอเน้นย้ำพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และเด็กวัยเรียน ยึดปฏิบัติตามหลัก 6 x 6 ป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) และ 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ดังนี้

6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ 1) เว้นระยะห่าง (Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร 2) สวมหน้ากาก (Mask wearing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา 3) ล้างมือ (Hand washing) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ นาน 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 4) คัดกรองวัดไข้ (Testing) วัดไข้ สังเกตอาการ ซักประวัติผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนก่อนเข้าสถานศึกษา 5) ลดการแออัด (Reducing) ลดแออัด ลดเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มคนจำนวนมาก และ 6) ทำความสะอาด (Cleaning) ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วม อาทิ ที่จับประตู ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ฯลฯ


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ได้แก่ 1) ดูแลตนเอง (Self care) ดูแลใส่ใจ ปฏิบัติตน มีวินัย รับผิดชอบตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด 2) ใช้ช้อนกลางส่วนตัว (Spoon) ใช้ช้อนกลางของตนเองทุกครั้ง เมื่อต้องกินอาหารร่วมกัน ลดสัมผัสร่วมกับผู้อื่น 3) กินอาหารปรุงสุกใหม่ (Eating) กินอาหารปรุงสุกใหม่ร้อนๆ กรณีอาหารเก็บเกิน 2 ชม. ควรนำมาอุ่นให้ร้อนทั่วถึง ก่อนกินอีกครั้ง 4) ไทยชนะ (Thai chana) ลงทะเบียนตามที่รัฐกำหนด ด้วย app ไทยชนะ หรือลงทะเบียนบันทึกการเข้า-ออกอย่างชัดเจน 5) สำรวจตรวจสอบ (Check) สำรวจบุคคล นักเรียน กลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง และ6) กักกันตัวเอง (Quarantine) กักกันตัวเอง 14 วัน เมื่อเข้าไปสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดโรค

“ทั้งนี้ สำหรับการเรียนขอให้เน้นจัดการเรียนการสอนให้เป็นกลุ่มเดียวและให้มีกิจกรรมทำใน กลุ่มเดียวกันตลอดทั้งวัน และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ อาทิ สนามเด็กเล่น อุปกรณ์ของเล่นร่วมกับการจัดกลุ่มสลับกันใช้งานเพื่อช่วยลดการสัมผัสร่วมกันจำนวนมาก รวมทั้งปรับรูปแบบและเวลาในการรับประทานอาหารกลางวัน เช่น จัดเป็นกล่องอาหารแยกเฉพาะบุคคล และให้นักเรียนรับประทานในห้องเรียนของตนเอง ซึ่งมีที่นั่งเว้นระยะห่างกัน หรือปรับเวลาในการพักรับประทานอาหารกลางวันให้เหลื่อมเวลากัน นอกจากนี้ เมื่อกลับถึงบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้เด็กล้างมือด้วยสบู่ และน้ำ อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีก่อนทำกิจกรรมต่างๆในบ้าน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

161198184550