การออกแบบร้านค้าปลีกสีเขียว (Green Retail Store)

การออกแบบร้านค้าปลีกสีเขียว (Green Retail Store)

การออกแบบระบบพลังงานจะมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด

การออกแบบระบบและร้านค้าปลีกสีเขียว (Green Retail Store) ประกอบด้วย การออกแบบระบบพลังงานภายในศูนย์กระจายสินค้า/คลังสินค้า และร้านค้าปลีกทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านโดยใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การจัดวางสินค้าและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าสีเขียว การลดการใช้ถุงพลาสติกและการสร้างขยะ รวมไปถึงการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานและผู้บริโภค 

สำหรับการออกแบบระบบพลังงานจะมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด เช่น การที่เทสโก้ โลตัส ร่วมมือกับคลีนเทคโซลาร์ ติดตั้งและดำเนินโครงการระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานทดแทน และแผงที่ติดตั้งบนหลังคายังช่วยลดอุณหภูมิให้กับอาคารประมาณ 1 องศาเซสเซียส โดยตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 65% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานได้มากกว่า 21.5 กิกะวัตต์ชั่วโมง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12,515 ตันต่อปี นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ยังมีการเปลี่ยนหลอดไฟในร้านค้ากว่า 1,000 สาขา เป็นหลอด LED ที่ให้ความสว่างมากกว่า แต่กินไฟน้อยกว่าหลอดไฟแบบดั้งเดิม รวมทั้งมีอายุการใช้งานยาวนาน 

Costco ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารสีเขียว (Green Building Design) ด้วยการใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ โดยใช้เหล็กที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 80% ในการทำโครงสร้างอาคาร รวมทั้งมีการนำยางมะตอยรีไซเคิลมาใช้ปูพื้นลานจอดรถโดยมีคอนกรีตรีไซเคิลเป็นวัสดุฐาน

Amazon ออกแบบอาคารห้างค้าปลีก Whole Foods Market ให้ใช้พลังงานโดยรวมน้อยลง โดยนำเทคโนโลยีที่ผสมผสานระบบคลาวด์คอมพิวติ้งขั้นสูง การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และชุดติดตั้งอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานความร้อนเพื่อปรับระบบทำความเย็นในช่วงที่มีการใช้พลังงานสูงสุด และยังเป็นผู้นำในการเปลี่ยนสารในการทำความเย็น โดยใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติซึ่งมีศักยภาพในการสูญเสียโอโซนเป็นศูนย์และมีโอกาสเกิดภาวะโลกร้อนต่ำมาก

Kroger ติดตั้งระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System) ที่ให้ข้อมูลพลังงานแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้พนักงานสามารถแก้ปัญหาความผิดปกติของการใช้พลังงานได้ทันที และยังช่วยระบุโอกาสในการลดการใช้พลังงาน 

Sainsbury ได้พัฒนาระบบ Smart Building Solution สำหรับร้านค้ากว่า 220 สาขา ด้วยระบบควบคุมไฟที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 991,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ในส่วนของการออกแบบระบบสร้างความเย็น Sainsbury ได้มีการใช้เทคโนโลยี Aerofoil ครบทุกสาขา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้ช่วยให้ความเย็นยังวนเวียนอยู่ในบริเวณช่องเก็บสินค้าที่เป็นส่วนแช่เย็น ส่งผลให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 15% และลดการปล่อยคาร์บอนได้เทียบเท่า 9,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี 

สำหรับการลดการใช้ทรัพยากรน้ำในศูนย์กระจายสินค้าและร้านค้าปลีกซึ่งถือเป็นจุดที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำค่อนข้างมาก ไฮเปอร์มาร์เก็ตจะเน้นการใช้ระบบติดตามผล และการปรับกระบวนการต่าง ๆ เพื่อลดการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย Coop เริ่มใช้ระบบฐานข้อมูลในการติดตามปริมาณการใช้น้ำของแต่ละโครงการของบริษัท โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้น้ำลง 10% ในปี 2025 เทียบกับปีฐาน 2020 

Costco ติดตั้งระบบวัดน้ำที่มีชื่อว่า Apana สำหรับช่วยติดตามและแก้ไขความผิดปกติของการใช้น้ำได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดการใช้น้ำลงประมาณ 10% ในขณะที่ Sainsbury ได้มีการปรับระบบวิศวกรรมในส่วนของก๊อกน้ำให้เป็นแบบ Low flow ส่งผลให้สามารถลดการใช้น้ำได้ทั้งสิ้น 33% ตลอดจนการใช้ก๊อกประหยัดน้ำวีอาร์เอช เพื่อใช้ติดตั้งในห้องน้ำของเทสโก้ โลตัส ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งสามารถประหยัดน้ำได้มากกว่าเดิม 5 เท่า

นอกจากการให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานทั้งภายในศูนย์กระจายสินค้าและร้านค้าปลีกแล้ว คราวหน้าเรามาคุยกันถึงการออกแบบร้านค้าปลีกสีเขียวในประเด็นด้านการจัดวางสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นกันจนชินตามากขึ้นในไฮเปอร์มาร์เก็ตหลาย ๆ แห่ง