ธุรกิจพลังงานตั้งเข็มทิศ ปั้นธุรกิจรับเทรนด์ใหม่

ธุรกิจพลังงานตั้งเข็มทิศ ปั้นธุรกิจรับเทรนด์ใหม่

ส่องแผนธุรกิจใหม่ 3 ค่าย ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ "ปตท.-พีทีจี-บางจาก" มุ่งเทรนด์พลังงานโลกดูแลสิ่งแวดล้อม เสริมรายได้ธุรกิจพลัง ขับเคลื่อนการเติบโตระยะยาว

เมื่อโลกยังคงหมุนรอบตัวเองในทุกๆวัน ผู้ประกอบการด้านต่างๆ ก็ยังต้องเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป และ “พลังงาน” ก็ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนการดำรงชีวิตของคนและสัตว์บนโลก

ดังนั้น การมีพลังงานที่เพียงพอกับความต้องการใช้ จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ผู้ประกอบการด้านพลังงานทุกรายต่างตระหนักดี และต้องมุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกยุคใหม่ที่เน้นส่งเสริมพลังงานสะอาดในการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กระแสเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้พลังงานในปัจจุบันและในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต หรือ มุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้นในการผลิตกระแสไฟฟ้าและน้ำมันส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานในประเทศไทย ต่างปรับแผนธุรกิจรองรับต่อเทรนด์ธุรกิจใหม่

บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงาน – ปิโตรเคมี เบอร์ 1 ของเมืองไทย ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหุ้นไทย ประจำปี 2563 สูงสุด อยู่ที่ 1.21 ล้านล้านบาท ได้วางแผนรองรับการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ในหลายรูปแบบ

161190953616

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า การลงทุนใหม่ (new business) ของ ปตท. ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจ Life Science เช่น ยา อาหารเสริม และเครื่องมือแพทย์ ผ่านการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ

รวมถึง ธุรกิจในกลุ่ม Digitalization ผ่านความร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านคลาวด์และดิจิทัล และล่าสุดปตท. ได้จัดตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบสารสนเทศหลากหลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เนต (Public Cloud) เช่น การให้บริการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล จัดการข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่บริษัท องค์กรต่าง ๆ

นอกจากนี้ ธุรกิจโลจีสติกส์ กำลังศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม หลังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)ศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)

อีกทั้ง ยังร่วมมือกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโลจิสติกส์ และความร่วมมือในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ด้วย

 “ตอนนี้ New S-Curve เราก็มี Life science เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ ดิจิทัล และการเข้าไปร่วมมือกับการท่าเรือฯ ซึ่งโลกเดินไปทางไหน ปตท.เองก็ต้องมุ่งไปตามเทรนด์โลก”

161190963282

นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.ยังสนใจและมองโอกาสหาพันธมิตรในสายห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) และปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.ได้เตรียมพร้อมพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ใน 2 เทคโนโลยี ทั้งผ่านการลงทุนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ที่จัดตั้งโรงงานและเตรียมผลิตแบตเตอรี่ ด้วยเทคโนโลยี Semi-solid เซลล์แรกของประเทศไทย หรือ “G-Cell” และทางสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ของกลุ่มปตท.ได้ตั้งโรงงานพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและลิเทียมซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้า

ขณะเดียวกันบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR ได้ลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) แล้ว จำนวน 25 แห่ง โดย ปตท. ได้ตั้งเป้าหมายในส่วนของธุรกิจใหม่ จะเพิ่มการเติบโตของกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้กับพอร์ตของปตท.ราว 10% ใน 10 ปี(ปี 2573)

ขณะที่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป ภายใต้เครื่องหมายการค้า "PT" หรือ ปั๊ม PT ที่ปัจจุบันมีจำนวนสาขาปั๊มน้ำมันและปั๊มLPG แซงหน้าพี่ใหญ่อย่าง ปั๊ม “PTT Station” โดยสิ้นปี 2563 มีปั๊มทั่วประเทศ 2,094 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะขยับสัดส่วนส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์) ขึ้นไปอยู่ที่ เบอร์ 1.1 ในอนาคตนั้น กำลังปั้นแผนธุรกิจใหม่รับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า(EA)

161190995714

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่ในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ในการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า(EV Charging Station) ในสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน PT โดยจะเริ่มดำเนินการ เฟสแรก จำนวน 5 แห่ง ก่อนขยายเป็น 30 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) ทั้งหมด

รวมถึง มีแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการลงทุน EV Charging Station ประเภท Ultra Charge บริเวณใกล้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) รองรับกลุ่มรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า คาดว่าจะสรุปความร่วมมือกับพันธมิตรได้ภายในปีนี้

161190998423

นอกจากนี้ ยังเจรจากับพันธมิตรเพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจใช้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งในปั๊มน้ำมัน PT และนอกปั๊ม เบื้องต้น คาดว่าจะมีความชัดเจนแผนการลงทุนได้ภายในปีนี้ โดยปัจจุบัน บริษัท ได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาปั๊มน้ำมัน PT ไปแล้ว 33 แห่งในปั๊มน้ำมัน

ขณะเดียวกัน ยังเจรจากับพันธมิตรเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 รองรับความต้องการใช้เอทานอลของบริษัท ที่คาดว่า จะเพิ่มเป็น 8 แสนลิตรต่อวันถึง 1 ล้านลิตรต่อวันในอนาคต 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนลิตรต่อวัน เป็นต้น

ด้านบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ผู้นำกลุ่ม Greenovation ด้านพลังงานของไทย ได้วางยุทธศาสตร์การลงทุนในปี 2564 เพื่อรักษามาร์เก็ตแชร์ตลาดค้าปลีกน้ำมัน เบอร์ 2 จากปัจจุบัน มีมาร์เก็ตแชร์ อยู่ที่ 15.6-15.7%

161191002437

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า แผนการลงทุนในปี 2564 กลุ่มบางจาก จะเดินหน้าขยายการเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจการตลาด,ธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ตลอดจนมุ่งขยายธุรกิจผ่านนวัตกรรมพลังงานสีเขียว รองรับเทรนด์ใหม่ เช่น การบริหารจัดการจักรยานยนต์และสามล้อไฟฟ้า และการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ (battery swapping) โดยตั้งเป้าหมายขยาย Winnonie สตาร์ทอัพให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในกลุ่มบางจากฯ เป็น 10,000 คันในปี 2566

161191004372

นอกจากนี้ ยังได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ในการขยายจุดชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า EV Charger ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ไม่น้อยกว่า 150 สาขาทั่วประเทศ ภายในปี 2564