กรมควบคุมโรค ประสาน กทม. ตรวจสอบผู้ป่วยโควิด ปกปิดข้อมูล

กรมควบคุมโรค ประสาน กทม. ตรวจสอบผู้ป่วยโควิด ปกปิดข้อมูล

กรมควบคุมโรค เผยกรณีผู้ป่วยโควิด 19 ปกปิดข้อมูล ได้ประสานไปยังกทม. ตรวจสอบ ดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือกฎหมายอื่นอย่างเคร่งครัด เพราะการปกปิดทำให้โรคโควิด 19 แพร่ระบาดออกไปในวงกว้างและทำให้การควบคุมโรคล่าช้า

วันนี้ (28 มกราคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกับงานฉลองวันเกิดของดีเจดัง ซึ่งมีบางรายปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ นั้น กรมควบคุมโรค ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ลงวันที่ 27 มกราคม 2564 เนื่องจากพบว่ามีบุคคลอื่นซึ่งมีประวัติใกล้ชิดกับดีเจดังติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นอีก โดยจากข้อมูลการเดินทางของบุคคลดังกล่าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องมีการให้ข้อมูลบางประการที่ไม่สอดคล้องกัน รวมถึงมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลบางส่วนต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้โรคโควิด 19 แพร่ระบาดไปในวงกว้างและทำให้การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ล่าช้าและไม่ทันการณ์ได้


จากกรณีดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และ 2.กรณีสถานที่ซึ่งใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมถึงกรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนอย่าปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลล่าช้า เพราะจะส่งผลให้การควบคุมโรคทำได้ช้า ไม่ทันการณ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นเพิ่มได้อีก และขอให้ทุกคนเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง โดยสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เช็กชื่อด้วย“ไทยชนะ” และดาวน์โหลด“หมอชนะ” เพื่อช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422