อินเดียพร้อมส่งวัคซีนแอสตร้าให้ซาอุฯ‘ภายใน 7 วัน’

อินเดียพร้อมส่งวัคซีนแอสตร้าให้ซาอุฯ‘ภายใน 7 วัน’

สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียเตรียมส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 3 ล้านโดสให้ซาอุฯ ภายใน 1 สัปดาห์ในราคาโดสละ 5.25 ดอลลาร์

นายอดาร์ ปุณาวาลา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (เอสไอไอ) ที่ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เอสไอไอจะจัดหาวัคซีน 3 ล้านโดสในนามของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้ซาอุดีอาระเบียภายใน 1 สัปดาห์ หรือ 10 วัน ในราคาโดสละ 5.25 ดอลลาร์

รวมทั้งจัดหาให้แอฟริกาใต้ 1.5 ล้านโดสในราคาเดียวกันในนามของแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งราคาขายให้แอฟริกากลายเป็นประเด็นถกเถียงกันเพราะสูงกว่า 3 ดอลลาร์ที่แอฟริกาใต้และประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาต้องจ่ายตามข้อตกลงที่สหภาพแอฟริกาทำไว้ โดยแอสตร้าเซนเนก้ากล่าวว่า จะไม่หากำไรจากวัคซีนในช่วงโควิดระบาด

เอสไอไอเป็นบริษัทผลิตวัคซีนใหญ่สุดของโลก จับมือกับแอสตร้าเซนเนก้า มูลนิธิเกตส์ และพันธมิตรวัคซีนแกวี จัดหาวัคซีนหลายพันล้านโดสให้กับประเทศยากจน เอสไอไอสามารถจัดหาวัคซีนได้ทั้งในนามของแอสตร้าเซนเนก้า และทำข้อตกลงด้วยตนเอง

ในกรณียุโรปนั้น เอสไอไอยังไม่มีแผนส่งวัคซีนไปให้แม้ว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะถูกอียูกดดันอย่างหนักให้ส่งวัคซีนเพิ่ม หลังจากประกาศลดการส่งเนื่องจากโรงงานในเบลเยียมผลิตไม่ทัน

ซีอีโอเอสไอไอกล่าวว่า ยังไม่ได้รับการร้องขอให้เพิ่มซัพพลายให้ยุโรปเพราะนั่นเท่ากับว่าวัคซีนให้แอฟริกาและอินเดียจะเหลือน้อยลง ซึ่งเอสไอไอไม่อยากให้เป็นแบบนั้น บริษัทจะพิจารณาชาติร่ำรวยทีหลัง อาจจะ 6 เดือนหรือ 1 ปี

ส่วนบราซิลสัปดาห์ก่อนได้รับวัคซีน 2 ล้านโดสจากเอสไอไอ นายปุณาวาลาเผยว่า ราคาอยู่ที่ราว 5 ดอลลาร์ต่อโดส และเมื่อโรงงานแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นแห่งสุดท้ายแล้วเสร็จพร้อมเดินสายการผลิต เอสไอไอจะเพิ่มการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าอีก 30% ภายในเดือน มี.ค. จากระดับปัจจุบันที่วันละราว 2.4 ล้านโดส

นอกจากนี้เอสไอไอยังมีแผนเริ่มผลิตวัคซีนโนวาแวกซ์ของสหรัฐภายใน 2-3 เดือน แม้โรงงานใหม่แห่งหนึ่งในเมืองปูเนทางตะวันตกของประเทศเพิ่งถูกไฟไหม้เมื่อสัปดาห์ก่อน มีผู้เสียชีวิต 5 คน

ซีอีโอระบุด้วยว่า เอสไอไอไม่มีแผนเป็นพันธมิตรกับไฟเซอร์อิงค์ ที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ต้องเก็บไว้ในที่เย็นจัด -70 องศาเซลเซียส เนื่องจากอินเดียยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานระดับนั้น

ด้านไฟเซอร์ซึ่งพัฒนาวัคซีนร่วมกับบริษัทไบออนเทคของเยอรมนี กล่าวว่า จะปฏิบัติตามคำขอของรัฐบาลอินเดียหากรัฐบาลซื้อวัคซีนไฟเซอร์

ทั้งนี้ ไฟเซอร์เป็นบริษัทแรกที่ยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินในอินเดียตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. แต่ยังไม่ได้รับไฟเขียว ขณะที่สำนักงานอาหารและยาอินเดียกล่าวว่า ไฟเซอร์ไม่ยอมมาเข้าร่วมประชุมตามที่ทางการเชิญ ซึ่งไฟเซอร์โต้ว่า ทางการอินเดียแจ้งกะทันหันเตรียมตัวไม่ทัน