"บัญชา พงษ์พานิช" ศาสตร์ของหมอ ยังแพ้ศาสตร์ธรรมชาติ

"บัญชา พงษ์พานิช"  ศาสตร์ของหมอ ยังแพ้ศาสตร์ธรรมชาติ

ไม่ว่าจะคุยกับ "หมอบัญชา" กี่ครั้้ง เขาก็สามารถเชื่อมโยง "ธรรมะ"ให้เห็นตามความเป็นจริง เขาเคยเป็นมะเร็ง และไม่ได้บอกว่าหายแล้ว แต่อยู่กับมันอย่างเข้าใจ ในโลกแห่งความไม่แน่นอน เราต้องมีวิธีรับมือ

“ในความเห็นผม ความหมายกลางของธรรมะก่อนที่จะไปถึง 84.000 ธรรมขันธ์ คือ 84,000 แอพพลิเคชั่น ที่ท่านปล่อยให้กับลูกค้า (Customer) หรือระบบอะไรที่ใช้ง่าย ไม่ว่าฮาร์ดแวร์หรือซอฟแวร์ (User Friendly) คนนั้นเอาหมวดนี้ไป คนนี้เอาหมวดนี้ไป” 

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ พูดถึงความหมายของธรรมะในงานเสวนา ครบรอบ 10 ปี สวนโมกข์กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

“ธรรมะคืออะไร ถ้าย้อนไปในอดีต ผมเป็นพุทธ ที่บ้านผม มีป้านับถือคริสต์ มีสมาชิกอีกคนเป็นอิสลาม จนผมโตถึงระดับหนึ่ง ก็ยังตอบไม่ได้ว่าธรรมะคืออะไร ตอนผมเรียนแพทย์อยู่เชียงใหม่ เพื่อนคนหนึ่งมาทางธรรม อะไรทุกอย่างเป็นธรรมะหมด 

คนนั้นคือ ศ.นพ.ธีระ ทองสง บอกผมว่า บัญชามาอยู่ชมรมผู้สนใจธรรมกับผมไหม เขาสนใจธรรมะตั้งแต่เรียนมัธยม พอผมเข้าไป บรรยากาศคนสนใจธรรม ดูซังกะตายไร้ชีวิต ผมไม่เอาด้วยหรอก ชีวิตแบบนี้ ผมก็เลยไม่รู้เรื่อง

161147427738 สวนโมกข์ กรุงเทพ

มารู้เรื่องธรรมะ คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตอนเรียนจบหมออายุจะ 30 แล้ว ผมยังตอบไม่ได้ว่าธรรมะคืออะไร

คำว่า ธรรมชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับคำว่า ธรรม เลย แต่พอมาเป็นคำไทย ธรรมะกลายเป็นธรรมชาติ ผมเลยคิดถึงคำว่า Mother Nature ก็คือตัวกฎ ที่จัดการสิ่งต่างๆ ให้มันเป็นไป

ครูบาอาจารย์ทางบาลีทั้งหลายบอกว่า ธรรมะ มาจากคำว่า ธร ภาษาสันสกฤต หมายถึง "การยึดไว้ การถือไว้ ทรงอยู่ได้ ตั้งหลักอยู่ได้ ไม่ล้ม ไม่ตาย" ส่วนคำว่า ชา-ติ แปลว่า การเกิด ธร-ชา-ติ คือ ธรรมะ-ชา-ติ แปลว่า เกิดมาแล้วอยู่ได้

ท่านพุทธทาสบอกว่า ธรรมะคือ 1.ตัวธรรมชาติ ความเป็นไปที่ทรงอยู่ได้ มันเป็นไป เพราะข้อ 2. มีกฎกำกับ ให้ต้องเป็นไป และ 3.มีบทบาทที่ต้องทำให้สอดคล้องกับกฎ ถ้าขัดแย้งกับกฎ ก็จะไม่ได้รับผลในความเป็นจริง”

คุณหมอบัญชา ยังมีความคิดเห็นว่า ธรรมของท่านพุทธทาส สามารถสรุปได้ในธรรมะ 9 ตา นั่นเอง

“ในธรรมะ 9 ตาของท่านพุทธทาส คือ การอธิบายเหตุผลว่า ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ แล้วธรรมะก็แสดงตัวผ่านธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ บุคคล กาย ใจ เรา

แก่นธรรมเหล่านี้ ชุดที่หนึ่ง คือ 1.อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างแปรเปลี่ยนเสมอ 2.ทุกขตา ไม่มีสิ่งใดทนอยู่ในสภาพเดิมได้ จากใหม่เป็นเก่า จากเก่าสูญสลาย  3.อนัตตา แท้จริงแล้วไม่มีตัวตน ทุกสิ่งเกิดขึ้นชั่วคราว การรวมตัวกันของธาตุเพียงชั่วคราว อ.ประยุตต์ บอกว่า นี่คือสามัญลักษณะ ลักษณะที่ทุกอย่างต้องเป็นไป ไม่ว่าโลกหรือจักรวาล

 

161147440344 สวนโมกข์ กรุงเทพ

ชุดที่สอง 4.ธัมมัฏฐิตัตตา ความดำรงอยู่ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น 5.ธัมมนิยามตา ความเปลี่ยนแปลงตามวิถี ดอกไม้มีสีสันต่างกัน 6. สุญญตา ความว่าง ทุกสิ่งเป็นเพียงมายาภาพ

ชุดที่สาม 7.อิทัปปัจจยตา ทุกอย่างมีเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ 8. ตถาตา เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ไร้แก่นสาร 9.อตัมมยตา เมื่อเห็นแจ้งด้วยปัญญาแล้ว แบกก็หนัก วางก็โล่ง ยึดทุกครั้ง ทุกข์ทุกครั้ง วนเวียนซ้ำซาก จึงเปล่งวาจาว่า กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย นี่คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา ที่หลวงพ่อพุทธทาสได้นำมาสอนเพื่อนมนุษย์”

สำหรับคนที่เกิดมาแล้ว ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หมอบัญชาบอกหลักคิดว่า ให้หาตัวเองให้เจอก่อน

“การเกิดมาเป็นมนุษย์ มันไม่ง่าย มีความซับซ้อนมาก กว่าจะเป็นเราแบบนี้ เราแบ่งสรรพสิ่งเป็นมีชีวิตกับไม่มีชีวิต สิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุดคือ จุลชีพ ไวรัส มีหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ ทุกคนต้องหาตัวเองให้เจอให้เร็วที่สุด อย่างการหาบทบาทหน้าที่ของผมมี 3 อย่าง ผมเรียนจบเป็นหมอ อยากเป็นหมอที่ดี 1. เลือกสิ่งนั้นให้ไหว 2. เลือกทำสิ่งที่มีความสุข  3.สิ่งนั้นต้องดูแลตัวเองได้ ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ แล้วก้าวต่อไิได้”

หากใครก็ตาม ตกอยู่ในสภาวะที่ทำใจยาก หรือ จิตตก เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องตาย คุณหมอมีข้อคิดให้ลองทำปฎิบัติ

“หลังบวชเรียน ผมพบว่า ในความเป็นมนุษย์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ เรามีอยู่ 3 สิ่ง 1.กาย 2.จิต 3.ปัญญา ระบบการรับรู้กายกับจิตต่างกัน ความเข้มแข็งของใจ มันมีระบบการรู้ด้วยชีวิตและการยอมรับสภาพ สามารถฝึกได้

ถ้าเราป่วยแล้ว ยิ่งโอดโอย ยิ่งทำให้เวทนาทวีคูณ ความหวาดหวั่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนตอนที่ผมเป็นมะเร็ง “อ้าว มันมาแล้วเว้ย หมอผ่าตัดให้หมดเลยนะ” แต่หมอก็ผ่าตัดให้ไม่หมดอีก เราไม่กลัวไม่หวาดผวา ถ้าจิตตั้งมั่น แข็งแรง ใจก็ไม่แกว่ง

แต่ถ้าเต็มไปด้วยภาวะวิตก กำลังมันจะอ่อนทันที เป็นเรื่องของการทำงาน 3 ส่วนในระบบชีวิต มนุษย์เรา สมองมันพัฒนาเยอะ แต่ตัวชี้ขาดคือ ปัญญาญาณ การรู้อย่างถูกต้อง หลายคนที่หมอบอกว่า คนนี้ตายแน่ๆ แต่ไม่ตาย เพราะเขาปล่อยวางทางใจให้มันผ่านไป ระบบภูมิคุ้มกันก็เลยกลับมา มันมีมิติเหล่านี้ครับ

161147451368 สวนโมกข์ กรุงเทพ 

นอกจากความไม่รู้แล้ว ถ้ารู้ชัดและแจ่มแจ้ง ทุกเรื่อง ทุกปรากฏการณ์ ถ้าเราแม่นกับมัน แล้วตั้งสติ พร้อมวิเคราะห์เอาปัญญาญาณมาใช้ แล้วตั้งมั่นมีสมาธิ จะมีโอกาสรอด ศาสตร์ของหมอก็ยังแพ้ศาสตร์ธรรมชาติ เพราะหมอใช้ศาสตร์ที่ตัวเองเรียนมา แต่ถ้าบวกเรื่องของจิตด้วย มีพลังมาก” คุณหมอเล่า และว่า

“มีความจริงสองระดับทำให้รับมือได้มากขึ้น 1.รู้ให้ชัดเจน 2. เข้าใจความเป็นจริงสูงสุด สุดท้ายก็จะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก่อนตาย ถ้าเรารู้จักสิ่งนั้นให้ดี บางทีอาจจะไม่ตาย”

ในโลกของความไม่แน่นอน นายแพทย์บัญชา แนะนำให้รับมือกับสิ่งต่างๆ ว่า ให้เตรียมพร้อมไว้

“ความตายอยู่กับเราเสมอ จงพร้อมไว้ ในโลกนี้มีความเสี่ยงมาก แต่อะไรคือทางที่จะอยู่กับมันได้ เวลามีเหตุอะไร เราต้องคิดว่า ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ พระพุทธเจ้าว่าไง ในเรื่องนี้มีคำสอน 

ทำอะไรก็ให้นึกถึงความจริงของเราและของสิ่งอื่น สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ เราไม่ใช้เจ้าของแต่ผู้เดียว เราต้องอยู่กับเขา เข้าใจเขา รับฟังเขา อยู่ให้ได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า สงบ เย็น เป็นประโยชน์

161147466392 สวนโมกข์ กรุงเทพ

เราควรทำตามหน้าที่ที่ตัวเองค้นพบ หาตำแหน่งบทบาทของตัวเองที่เราทำได้ อยู่ได้ ไม่ไปก่อโทษใคร เป็นประโยชน์ แล้ว enjoy กับมัน สรรพชีวิตคือการหาจุดพอดี แต่มีสรรพชีวิตหนึ่งที่เติบโตขยายตัวเป็นมะเร็งร้ายงอกไปครอบคลุมไปกินเซลล์ดีๆ ก็คือ ทุนนิยมเสรี

เสริมต่อมกิเลส ขยายตัวคุกคามลุกลามชีวิตที่อยู่แบบง่ายๆ ก็เริ่มไม่พอ ต้องมีนักธรรมชาตินิยมทั้งหลายมาช่วยปกป้องสรรพชีวิต เราต้องช่วยกัน ท่านพุทธทาสบอกว่าถ้า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ คุณหมอเล่า และว่า

“มนุษย์เรามีความรู้สึกอยากพิชิต ผมชวนน้องสองคนไปทิเบต จากเนปาลไปเบสแคมป์ฝั่งจีน รถไปถึงเลย ไปกัน 3 คน ระหว่างทางเราเห็นคนนอนให้ออกซิเจนมีรถพากลับมา อีกคนนอนตาย อีกคนวิ่งได้ ผมไปได้ช้ามาก เพราะหายใจไม่พอ ออกซิเจนน้อย

มีอีกหลายอย่างที่ธรรมชาติเหนือกว่าเรา ขากลับก็เจอพายุหิมะ เห็นรถตกเหว สุดท้ายมันมากกว่าการพิชิต กลับมามีความละเอียดมากขึ้น แล้วอยู่ท่ามกลางสรรพชีวิตที่มีความสมดุล 

สรรพชีวิตที่มีปัญหามากที่สุดคือ มนุษย์ ท่านพุทธทาสบอกว่า ปัญหาคือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่ล่ะที่เบียดเบียนกันเอง เอาเปรียบกันมากที่สุด ทั้งๆ ที่ทุกคนเป็นเพื่อนทุกข์ทั้งนั้น สัตว์ร่วมโลกก็เหมือนกัน”