'กรณ์' หนุนรัฐเร่งอัดฉีดช่วยเหลือ ปชช.ตัวเล็ก-ผู้ประกอบการSME

'กรณ์' หนุนรัฐเร่งอัดฉีดช่วยเหลือ ปชช.ตัวเล็ก-ผู้ประกอบการSME

"กรณ์" ชี้มาตรการเยียวยา "โควิด" รอบ 2 ไม่ไม่ครบกลุ่ม หวั่นมนุษย์เงินเดือน-ผู้ประกอบการSME เดือดร้อน ย้ำรัฐเร่งอัดฉีดเงินช่วยคนตัวเล็ก

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij "เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาโควิดรอบ 2 ของรัฐบาล โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอและไม่ครบ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทาง 2 ข้อที่สามารถนำไปใช้ได้เลย โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 

อัดฉีดเงินช่วยคนตัวเล็กด่วน!  ชดเชยรายได้ให้ SME และไม่เก็บภาษีมนุษย์เงินเดือน 

พรรคกล้ามองว่ามาตรการเยียวยาที่ประกาศออกมา"ยังไม่พอและยังไม่ครบ" กลุ่มที่เดือดร้อน และถูกมองข้าม คือประชาชนตัวเล็ก และผู้ประกอบการ SME ที่เสียภาษีให้รัฐมาโดยตลอด

-ยังไม่พอ 

วงเงิน 200,000 ล้านที่จะใช้นั้นน้อยเกินไป ไม่ว่าจะมองในภาพใหญ่ผลต่อเศรษฐกิจ หรือจะมองในแง่มุมการลดความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับสิทธิความช่วยเหลือ 

-ข้อเสนอพรรคกล้าทางการคลัง

รัฐบาลมีเงินหน้าตักอยู่ 600,000 ล้าน และถ้าปรับลดโครงการต่างๆ ที่ไม่เร่งด่วนออกไป น่าจะมีอย่างน้อย 750,000 ล้าน ที่จะนำมาช่วยลดภาระประชาชน และผู้ประกอบการ

-ยังไม่ครบ 

ยังขาดประชาชนกลุ่มสำคัญที่ถูกมองข้าม นั่นคือกลุ่มที่ไม่รวย แต่ก็เสียภาษีให้รัฐมาตลอด ช่วงโควิดนี่เขาก็เดือดร้อน และการช่วยเหลือกลุ่มนี้จะส่งผลโดยตรงกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย กลุ่มนี้คือผู้ประกอบการระดับเล็กไปถึง SME และคนทำงานที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท หลายคนโดนลดเงินเดือน ลดวันทำงาน ลดสวัสดิการ แต่ค่าใช้จ่ายประจำวันหนักเหมือนเดิม  

ข้อเสนอพรรคกล้าในทางปฏิบัติ 2 ข้อ ทำได้ทันทีครับ 

1. เราควรชดเชยรายได้ ให้ผู้ประกอบการรายเล็ก และ SME ที่รายได้ลดลงในช่วงโควิด 

โดยใช้ภาษี VAT ที่ผู้ประกอบการจ่ายเป็นตัวเปรียบเทียบยอดขายระหว่างปี 2562 (ก่อนโควิด) และปี 2563 (หลังโควิด) โดยที่รัฐบาลสามารถกำหนดกติกาเงื่อนไขและเพดานการชดเชยได้ - วิธีการนี้เป็นการช่วยเหลือโดยตรงให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีที่วันนี้เดือดร้อน และเป็น ‘พลเมืองดี’ มาตลอด  

2. กลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือกลุ่มที่สองคือประชาชนที่จ่ายภาษีเงินได้มาโดยตลอด - รัฐบาลควรเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดให้กับผู้เสียภาษีในกลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500,000 บาทและเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 10% ซึ่งทั้งหมดมีจำนวนรวมประมาณ 3 ล้านคน เป็นเม็ดเงินภาษีประมาณ 50,000 ล้านบาท 

ทั้งสองมาตรการสามารถดำเนินการได้ทันทีในวงเงินกู้เดิมของรัฐบาล อย่าให้คนตัวเล็กสู้เพียงลำพัง อย่าทอดทิ้งพวกเขา