'วัคซีนโควิด-19'ล็อตแรก ไทยฉีดใน 3 พื้นที่ก่อน

'วัคซีนโควิด-19'ล็อตแรก ไทยฉีดใน 3 พื้นที่ก่อน

แพทย์ผชช.เผยวัคซีนโควิด-19ล็อตแรก ของแอสตราเซเนกา 50,000 โดส ฉีดที่สมุทรสาคร -แม่สอด-ชายแดนใต้ก่อน ยอมรับครั้งนี้ถูกการเมืองคัดค้านโจมตีหนักที่สุด ยืนยันคกก.วิชาการไม่เข้าข้างการเมือง มีจุดยืนยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

เวลา 15.00 น.วันที่ 22 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนคือเครื่องมือเสริมในการควบคุมและป้องกันโรค เมื่อฉีดแล้วไม่ใช่จะเกิดผลใน1-2สัปดาห์ เบื้องต้นต้องใช้เวลาเป็นเดือน เพราะฉะนั้ยแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องเข้มมาตรการป้องกันส่วนตัว ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19ขณะนี้นั้นเป็นวัคซีนที่ทั่วโลกยอมรับให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว 3 ตัวและมีตัวอื่นๆรอคิวอีกมาก ต่อไปจะมีวัคซีรตัวอื่นๆออกมาอีกด้วย


วัคซีนเป็นชีววัตถุอย่างหนึ่ง การฉีดเข้าร่างกายสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ 1.ความปลอดภัย 2.ประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ โดยองค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO)กำหนดวัคซีนโควิด-19ไว้ที่ประสิทธิภาพ 50%ขึ้นไป ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นก็มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันในแต่ละปีตั้งแต่ 40-70% และ3.ราคา ซึ่งในช่วงเวลานี้ที่วัคซีนยังออกมาไม่มาก อำนาจจึงยังเป็นของผู้ขายมากกว่า ราคาจึงสูงมาก


"ในประเทศไทยไม่ได้จะฉีดวัคซีนโควิด-19ทุกคน แต่มีเป้าหมายให้ได้ 50-70%ของจำนวนประชากร เนื่องจากการศึกษา วิจัยวัคซีนชนิดนี้ไม่ว่าตัวใดยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เพราะทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเกือบ100ล้านคนแล้ว และเสียชีวิตอีกราว 2 ล้านคน จึงเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ทำให้ต้องนำวัคซีนมาใช้ก่อน แต่ต้องทำให้คนปลอดภัยด้วย"รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19ตัวแรกในประเทศไทยแล้ว คือของบริษัทแอสตราเซเนก้า แต่กว่าจะอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้นั้นจะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเป็นผู้พืจารณา อาทิ ฝ่ายคุณภาพ ที่จะต้องดูแม้กระทั่งว่าโรงงานที่สร้างถูกหลักเกณฑ์หรือไม่ วัคซีนที่ผลิตออกมาใน3-4ล็อตต้องเหมือนกัน ฝ่ายดูในสัตว์ ก็พิจารณาเรื่องความเป็นพิษ และฝ่ายทางการแพทย์หรือด้านคลินิก ซึ่งตนเองอยู่ในชุดนี้ โดยเอกสารที่บริษัท แอสตราฯส่งมาขึ้นทะเบียนเมื่อช่วงปลายปี 2563นั้นมี ราว 18,000 หน้า แต่ถามว่าคณะกรรมการแต่ละท่านแต่ละฝ่ายอ่านทุกหน้าหรือไม่ คำตอบ คือไม่ ในส่วนอื่นๆจะอ่านเฉพาะที่สรุป แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพมย์ที่ตัวเองรับผิดชอบจะต้องอ่านทุกหน้าอย่างละเอียด ซึ่งจะบ่งบอกถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

"ขอให้สบายว่า วัคซีนที่ผ่านอย. ย่อมมีความปลอดภัย แต่ไม่ 100% และไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ฉีดหรือใช้อยู่ปลอดภัย 100% มีแต่มากหรือน้อย แต่ต้องเป็นผลข้างเคียงอยู่ในระดับยอมรับได้ เมื่อเทียบกับวัคซีนอื่นๆที่ใช้ๆอยู่ โดยวัคซีนล็อตแรกที่จะเข้ามา 50,000 โดส จะใช้ในจังหวัดที่ระบาดรุนแรง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆที่ทำงานด่านหน้าในพื้นที่เสี่ยงก่อน จ.สมุทรสาคร อ.แม่สอด จ.ตาก และชายแดนใต้ จากนั้นจะเป็นผู้สูงอายุ "รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ทำไมต้องแอสตราเซเนก้า ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทนี้มีสิ่งสำคัญที่มีนโยบายไม่เอากำไร ไม่ควรขาดทุน เพราะต้องการผลิตวัคซีนนี้ช่วยชาวโลก บริษัทจึงต้องการขยายฐานการผลิตไปในภูมิภาต่างๆของโลก และมองหาบริษัทที่จะมาเป็นฐานการผลิต โดยในโซนภูมิภาคอาเซียน มีบริษัทเอกชนในไทยและประเทศข้างเคียงหลายแห่งเสนอตัว แต่บริษัท แอสตราฯจะมีเกณฑ์พิจารณาหรือข้อเช็คลิสต์ของบริษัทในการเลือก และที่สุดบริษัทแอสตราฯเขาก็เป็นผู้คัดเลือก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของประเทศไทย และเมื่อผลิตวัคซีนออกมาแล้วก็จะต้องส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะนำมาใช้จริง สิ่งนี้บ่งบอกว่าในเกณฑ์วิทยาศาสตร์ บริษัทนี้เข้าขั้นมาตรฐาน ไม่เช่นนั้นแอสตราฯคงไม่เลือก เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่คนไทยต้องภาคภูมิใจ


"ผมไม่ค่อยสบายใจอยู่นิด ที่มีผู้สงสัย ข้องใจ คัดค้าน ขอความกรุณาให้ทำใจร่มๆ อย่ารุ่มร้อนมาก ทำใจให้เป็นธรรม ปล่อยวางบ้าง เพื่อจะดูว่าสิ่งที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่เบื้องหลังทำงานหนักมาก เพื่อคนไทย ถามว่าเราจัดหาวัคซีนนี้ได้ช้าหรือไม่ ถือว่าไม่ได้จัดหาวัคซีนช้า เพราะว่าหลายๆประเทศก็ยังไม่ได้ และหากช้าลงหน่อย ในทางการแพทย์บอกว้า บางอย่างเราเห็นผลลัพธ์บางวัคซีนโผล่ขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะในการฉีดคนหลักหมื่น ผลข้างเคียงบางอย่างอาจไม่เจอ แต่เมื่อฉีดในคนหลักล้าน ผลข้างเคียงบางอย่างก็จะเจอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้"รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว


รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า วัคซีนโควิด-19ของซิโนแวค เป็นการผลิตโดยเทคโนโลยีเชื้อตาย ที่มีการใช้มานานหลาย10ปี เพราะฉะนั้น จึงมั่นใจมีตวามปลอดภัยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัคซีนที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ๆที่เพิ่งวิจัย ซึ่งผลการศึกษาวัคซีนนี้ในประเทศบราซิล ก็พบว่าป้องกันกลุ่มที่อาการรุนแรง 100% ป้องกันกลุ่มอาการรุนแรง ปานกลาง และน้อย 70% และป้องกันกลุ่มอาการรุนแรง ปานกลาง น้อย และไม่มีอาการได้ราว 50%นิดๆ ซึ่งส่วนตัวรับได้เพราะผ่านเกณฑ์ของฮู อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะติดใจในประเทศผู้ผลิต แต่วัคซีนปัจจุบันที่ใช้อยู่ เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนไวรัสตับอัก้สบเอ,บี มาจากประเทศจีนทั้งสิ้น ซึ่งเทคโนโลยีของจีนไปไกลมาก ที่สำคัญ ก่อนจะนำมาใช้ในไทยจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย.และมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอย่างหนักก่อน เพราะชีวิตคนไทยสำคัญกว่าวัคซีน

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ทำไมต้องเป็นวัคซีนนจากแอสตราเซเนก้า เพราะวัคซีนตัวอื่นๆ ที่เราไปเจราจาหลายบริษัท ต้องการให้ไทยแสดงยอดการสั่งซื้อจำนวนมหาศาลถึงจะมาขึ้นทะเบียนในไทย ขณะที่ระยะแรกของการจองวัคซีน เป็นลงทุน ที่ยังไม่สามารถระบุผลว่าจะได้รับวัคซีนหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของการทดลอง ยังไม่มีใครสำเร็จ แม้ขณะนี้ วัคซีนที่ได้รับ ก็เป็นการฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะการทดลองวัคซีนยังไม่สิ้นสุด จึงเข้าใจถึงความลำบากใจของผู้ตัดสินใจทั้งหมด เพราะเท่ากับจองของไม่มีของ


"ยอมรับสถานการณ์การเมืองที่แสดงความคิดเห็น คัดค้านและโจมตีต่างๆ ครั้งนี้หนักที่สุด แต่ในฐานะหมอโรคติดเชื้อ ขอยืนยันว่า วิทยาศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และไม่เข้าข้างการเมือง ขอให้ใจร่มๆ โดยจะพยายามเอาข้อมูลมาให้เห็นและ เป็นที่ประจักษ์ คณะกรรมการวิชาการ ของสาธารณสุข ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง มีจุดยืน และยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก"รศ.(พิเศษ)นพ.ทวีกล่าว