ก้าวแรก'กัญชา'ทางการแพทย์ : ต้องเร่งศึกษาทางวิชาการ หาหลักฐานยืนยันประสิทธิผล

ก้าวแรก'กัญชา'ทางการแพทย์  : ต้องเร่งศึกษาทางวิชาการ หาหลักฐานยืนยันประสิทธิผล

การใช้กัญชาทางการแพทย์ ยังไม่ค่อยมีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิง เรื่องนี้จึงเป็นข้อจำกัดในการพัฒนา และถ้าประเทศเราจะทำเรื่องนี้ก็ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และการศึกษาวิจัยมากกว่านี้ เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์

นับตั้งแต่การออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นำไปสู่การนิรโทษกรรมการครอบครองกัญชาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จนถึงการนำร่องเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ใน โรงพยาบาล คลินิกบริการกัญชาการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนไทย เป็นจำนวนมากก็ตาม

จนถึงวันนี้ ยังมีผู้ครอบครองกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อีกจำนวนมากที่ไม่ได้จดแจ้งการขอครอบครอง หรือไม่สามารถเข้าถึงกัญชาสำหรับการรักษาโรคจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้ นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า ขณะนี้ “ปริมาณกัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตได้” กับ “ความต้องการใช้” นั้น มีความสอดคล้องกันเพียงใด

161130649410

แล้วใครบ้างที่ใช้กัญชา? …

นี่จึงกลายเป็นคำถามแรก ที่จะอธิบายสถานการณ์กัญชาทางการแพทย์ ในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด 

จากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพใน โครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และคณะ ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า ภาพรวมของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ของไทยนั้น เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ45-65 ปีมากถึง ร้อยละ 61

1 ใน 3 ของจำนวนผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ“เจ้าของกิจการ” รองลงมาคือ “รับราชการ” โดยมีระยะเวลาในการใช้เฉลี่ย 10 เดือน

สำหรับกลุ่มอาการป่วยที่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์มากที่สุด คือกลุ่มโรคมะเร็ง รองลงมา คือโรคของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม ออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน ไปจนถึง กระดูกทับเส้นประสาท นอกจากนี้ ยังมีการใช้กัญชาใน กลุ่มโรคทางจิตประสาท และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพิ่มเติมอีกด้วย

ผู้ใช้กัญชากัญชาทางการแพทย์ส่วนใหญ่นั้น มักใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบน้ำมันสกัดสำหรับกิน หรือหยดใต้ลิ้น แต่มีบางส่วนที่ใช้ดอก ใบ ต้น รากกัญชาสด หรือแห้ง โดยไม่ผ่านการสกัดและแปรรูป รวมทั้งใช้ในรูปแบบขนม หรือชากัญชาร่วมอีกทางหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะเป็นการใช้กับลักษณะโรคกลุ่มใดก็ตาม ทุกคนต่างยอมรับว่า กัญชาช่วยให้อาการเจ็บป่วยของโรคดีขึ้น หรือดีขึ้นมากเสมอ

ส่วนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชานั้นมีหลากหลายตามแต่ภูมิภาค ตั้งแต่การได้กัญชามาจากผู้ค้า จากตลาดมืดในภาคกลางและภาคใต้ ได้จากแพทย์พื้นบ้านนอกระบบสาธารณสุข ได้ฟรีจากเพื่อน หรือญาติพี่น้องให้มาในภาคเหนือ

หรือในพื้นที่อีสาน มักได้จากแพทย์แผนปัจจุบันที่เปิดคลินิกส่วนตัวและให้บริการรักษาด้วยกัญชา  ซึ่งข้อสังเกตสำคัญสำหรับเรื่องนี้ก็คือ สัดส่วนของการได้รับกัญชาทางการแพทย์ จากโรงพยาบาล หรือหน่วยงานในระบบสาธารณสุขอยู่ในระดับ “ต่ำมาก”

ทั้งนี้ ประมาณการจำนวนผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ จากฐานตัวเลขของผู้ลงทะเบียนขอนิรโทษกรรม พบว่า จำนวนผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์มีจำนวนกว่า 442,756 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 864 คน ต่อแสนประชากร

โดยภาคกลางเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์มากที่สุด จำนวน 255,547 คน ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 106,863 คน ภาคเหนือ 46,077 คน และภาคใต้ 34,267 คน

161130689913

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่า กัญชาเป็นสารเสพติด ซึ่งถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ทำให้การติดต่อสื่อสารของเครือข่ายการใช้กัญชาใต้ดินนั้น มักไม่เปิดเผยตัวตน แต่ก็มีการถ่ายทอดความรู้หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ผ่านตำรา การบอกต่อ รวมไปถึงการฝึกอบรม  โดยใช้อุปกรณ์สื่อสารอย่างวิทยุ หรือกลุ่มไลน์

ขณะที่กัญชาที่ซื้อขายทั่วไปนั้น มักมาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือในตลาดทั่วไป แต่ก็มีการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช ปัจจุบันมีการลักลอบปลูกกัญชาไว้ใช้เองเป็นจำนวนมาก

ถัดมาเป็นกลุ่มที่ครอบครอง ผลิต หรือแปรรูปกัญชา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจหรือ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ดังนั้นกัญชาใต้ดินจึงเป็นการซื้อขายกันในเชิงพาณิชย์ มากกว่านำไปใช้เพื่อรักษาอาการ ป่วยเพียงอย่างเดียว

แต่ถึงอย่างนั้น การเริ่มต้นของการเข้าไปใช้บริการกัญชาก็มักมีสาเหตุมาจากการ เจ็บป่วยของตนเองเป็นหลัก

สำหรับโอกาสและความท้าทายที่รออยู่ของกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่ากัญชาอยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ผ่านการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยตำรับยาดั้งเดิมที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมมีกว่า 60 ตำรับ

เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม โดยคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ทางเลือก และสภาการแพทย์แผนไทย จนได้เป็นตำรับยาอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับ อนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งสิ้น 16 ตำรับ โดยส่วนใหญ่ใช้รักษาเรื่องลม การนอนหลับ แก้ปวด รับประทานอาหารได้ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

เมื่อผนวกกับประเด็น “กัญชาการแพทย์เสรี” ทำให้ปัจจุบันมีคลินิกกัญชาการแพทย์ให้บริการทั้งสิ้น 255 แห่ง ทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกันในจำนวนนี้ มีคลินิกกัญชาที่ให้บริการ แต่ไม่มีผู้ป่วยเข้ามารับยาทั้งใน รูปแบบยากัญชาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน หรือกัญชาแบบแพทย์แผนไทยมากถึง 134 แห่ง

ถึงแม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย แต่การเสพกัญชาก็ทำให้เกิดอันตรายหลายอย่าง โดยเฉพาะความเสี่ยงในการติดสารเสพติดชนิดอื่น และสัมพันธ์กับการเกิดโรคทางจิตเวชได้หลายชนิด

จากการสำรวจครัวเรือนระดับชาติเพื่อประมาณการจำนวนผู้ใช้สารเสพติดในปี พ.ศ. 2562 พบว่า มีผู้ใช้สารเสพติดสะสมมีจำนวน 3,749,618 คน โดยสารเสพติดที่เคยใช้สูงสุด 5 ลำดับแรก คือ กัญชา ยาบ้า พืชกระท่อม ไอซ์ และน้ำต้มกระท่อม

ข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กัญชาได้ขยับอันดับขึ้นมาจากสารเสพติดอันดับ 2 รองจากใบกระท่อม ที่มีการสำรวจในปี 2559 อย่างมีนัยยะสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบกับกฎหมายการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ที่อาจเป็นได้ทั้งผลกระทบด้านบวก และด้านลบ

อย่างไรก็ตาม ภาพสะท้อนเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยในช่วงปีแรกของการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์แบบถูกกฎหมาย จากโครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่ ก็ยังได้รับผลิตภัณฑ์กัญชาจากแหล่งนอกระบบสาธารณสุข และใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยหลายชนิดที่อยู่นอกเหนือข้อแนะนำของ กระทรวงสาธารณสุข หรือไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิผล

161130709729

นอกจากนี้ ผู้ใช้ส่วนใหญ่กลับมองเห็นเฉพาะด้านบวกของกัญชา และผลของการใช้กัญชา เพื่อรักษาโรค เนื่องจากประชาชนจำนวนมากใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคอยู่แล้ว

ดังนั้น การช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ การเพิ่มการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจากคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข

และการทบทวนข้อบ่งชี้ของการสั่งใช้ยากัญชาให้ทันสมัยตามหลักฐานวิชาการ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ป่วย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน รวมทั้งยังผูกโยงไปถึงความท้าทายทางนโยบายอันต่อเนื่องของประเทศไทย ในเรื่องกัญชา ทางการแพทย์อีกด้วย.

......................

หมายเหตุ : ข้อมูลจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)