คนไทยได้อะไร? จากการพัฒนา 'เทคโนโลยีอวกาศ'

คนไทยได้อะไร? จากการพัฒนา 'เทคโนโลยีอวกาศ'

สรุปสาระสำคัญของเสวนาออนไลน์เรื่อง ถอดรหัสไทยจะไปดวงจันทร์ เพื่อตอบคำถามว่า คนไทยได้อะไรการไปดวงจันทร์ และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ

คนไทยได้อะไรจากการไปดวงจันทร์ คำถามจากประชาชนหลังจากที่ ศ. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความคืบหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศว่า คนไทยจะไปดวงจันทร์ในอีก 7 ปีข้างหน้า

เรื่องนอกโลก และยานอวกาศเป็นหัวข้อไกลตัวสำหรับประชาชนคนทั่วไป สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จึงจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง "ถอดรหัสไทยจะไปดวงจันทร์" กรุงเทพธุรกิจออนไลน์สรุปสาระสำคัญ ของเสวนาออนไลน์ตอนที่ 2 เพื่อตอบคำถามว่า คนไทยได้อะไรจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ

  • เส้นทางต่อยอดนวัตกรรมสู่ Start Up และการสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เราคุยกันวันนี้ คีย์เวิร์ดสำคัญคือคำว่า Deep Tect และ Start up ที่พอจะทำธุรกิจอวกาศได้ เนื่องจากรัฐผ่อนคลายข้อจำกัดทางธุรกิจลง จะเห็นได้ว่า Start up มันด้านอวกาศมันขยายใหญ่ขึ้น ตัวอย่างเช่น Space Tect ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็น Start up เก็บขยะอวกาศ บริการมีอยู่ 3 อย่าง คือดาวเทียมที่หมดอายุแล้วต้องออกแบบให้ที่ระบบกลับโลก เก็บดาวเทียมที่หมดอายุแล้ว และบริการต่ออายุดาวเทียมให้มีอายุนานขึ้น ซึ่งธุรกิจนี้ทำให้เห็นสิ่งที่ตามมาคือหน่วยลงทุน มีSupply chain และมันจะส่งออกไปในธุรกิจอื่นๆ

“ซึ่งการพัฒนาระบบเทคโนโลยีอวกาศผลลัพธ์มันมีอยู่ 2 ส่วน คือจับต้องไม่ได้ เราไม่รับรู้ได้ว่าเกิดอะไร และ จับต้องได้ คือระบบดาวเทียม ระบบอินเทอร์เน็ต นับตั้งแต่การสั่งการขีปนาวุธ การสื่อสารด้วยโทรศัพท์ ตลอดไปจนถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายหรือไวไฟที่เราใช้งานกัน และเทคโนโลยีทางอวกาศยังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานวิจัยได้อีกหลายๆ ด้าน”

ไม่ใช่แค่นี้ Deep Tech Startup ถือเป็น Startup ที่ก้าวไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นของใหม่ ซับซ้อน คู่แข่งน้อย มีความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว ในไทยเองก็มีการสนับสนุน Deep Tech Startup เช่นกัน เห็นได้จากโครงการ U.REKA ที่มีเป้าหมายในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ให้เกิดขึ้นจริง โดยโครงการจะสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการปล่อยออกสู่ตลาดให้กับ Startup ที่สนใจและต้องการใช้ Deep Tech คิดค้นนวัตกรรม

  • โอกาสในการพัฒนาคน อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ

รศ. ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีอวกาศ จะทำให้เกิดการพัฒนา Basic Science เราจะต้องสร้างและให้โอกาสนักฟิสิกส์เก่งๆ ได้พัฒนาตนเองในการคำนวณวงโคจร โดยร่วมมือกับนักคณิตศาสตร์ การบูรณาการข้ามศาสตร์กับนักเคมีที่จะต้องสร้างแหล่งพลังงาน ร่วมกับทีมวิศวกรที่จะต้องสร้างทั้งจรวดขนส่ง และยานที่จะใช้ในการโคจร เรามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยจำนวนมากที่จบด้าน Basic Science มาจากมหาวิทยาลัยระดับ World Class แต่ปัจจุบันไม่มีงานให้พวกเขาทำเพราะไม่มีใครสนับสนุนงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยระดับสูงอย่าง Space Programme อาจารย์เหล่านี้บางท่านน่าสงสารมาก เพราะท่านต้องทำอาชีพเสริมเป็นอาจารย์สอนกวดวิชาตามโต๊ะม้าหินในมหาวิทยาลัย ทั้งที่ควรทำงานระดับนานาชาติ

เทคโนโลยีอวกาศ จะทำให้เกิดการพัฒนา Basic Science เราจะต้องสร้างและให้โอกาสนักฟิสิกส์เก่งๆ ได้พัฒนาตนเองในการคำนวณวงโคจร โดยร่วมมือกับนักคณิตศาสตร์ การบูรณาการข้ามศาสตร์กับนักเคมีที่จะต้องสร้างแหล่งพลังงาน ร่วมกับทีมวิศวกรที่จะต้องสร้างทั้งจรวดขนส่ง และยานที่จะใช้ในการโคจร

Space programme ไม่ได้ต้องการแค่นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร เพราะในความเป็นจริง เรายังต้องการนักบริหาร ทำงานร่วมกับนักโลจิสติกส์ เพื่อบริหารจัดการ Supply Chains ขนาดใหญ่ที่จะต้องเกิดขึ้นจากการสร้างโครงการอวกาศ เราต้องการนักการเงินฝีมือดีๆ มาบริหารการเงินให้โครงการที่ต้องการเงินทุนนับหมื่นล้านบาท เราต้องการนักเศรษฐศาสตร์ที่จะมาวางแผน optimise หาทางเลือกทางนโยบายที่ดีที่สุดในการสร้างโครงการภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ของประเทศ เราต้องการนักรัฐศาสตร์ นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการบริหารโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ให้ได้รับการสนับสนุนทั้งจากประชาชนในประเทศ และประชาคมโลกในการถ่ายทอดเทคโนโลยี

  • เทคโนโลยีอวกาศ : โจทย์ยากที่ท้าทายการยกระดับองค์ความรู้ของประเทศ

นอกจากนี้ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังกล่าวถึงเทคโนโลยีอวกาศที่สำคัญกับคนไทย ด้วยเช่นกัน เทคโนโลยีอวกาศคือเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อสถานที่อยู่นอกโลก เราใช้ประโยชน์ในเรื่องอวกาศได้หลายเรื่องมากๆ เช่น ภูมิสารสนเทศเพื่อการสำรวจทรัพยากรหรือการทหาร ในบางประเทศมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นเพื่อไปขุดแร่ธาติที่ดาวเคราะห์น้อย ซึ่งพบว่าอาจจะมีแร่ธาตุหรือทรัพยากรที่มีค่ามากและคุ้มค่าที่จะลงทุนไปทำเหมืองที่นั่น หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ต้องการไปดาวอังคารให้ได้

"เหล่านี้คือเรื่องของเทคโนโลยีทางอวกาศ ซึ่งมีเทคโนโลยีปลีกย่อยเต็มไปหมด ในการที่จะต้องไปอยู่ในอวกาศที่มีสภาพอากาศไม่เหมือนกับโลก ดังนั้นในการพัฒนายานอวกาศ ดาวเทียมหรืออะไรก็ตามที่มันต้องขึ้นไปทำงานอยู่ข้างบนอวกาศได้ ทำให้ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานวิจัยสภาพที่เป็นสุญญากาศ การทำงานภายใต้รังสีเอกซ์ รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีคอสมิค หรือการทำงานภายในสภาพที่มีอุณหภูมิต่างกันเยอะในด้านที่โดนแสงอาทิตย์และในด้านที่ไม่โดนแสงอาทิตย์”

ก่อนจะส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ ต้องเริ่มจากการสร้างดาวเทียมเป็นเฟสแรก ตามมาด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรือระบบกล้องสื่อสารระยะไกลในส่วนของดาวเทียมที่ต้องลงทุนในการโคจรรองดวงจันทร์ คาดว่าไทยจะให้จีนทำดาวเทียม ส่วนเทคโนโลยีจรวด ผลักดันขึ้นไปอวกาศ จะใช้เชื้อเพลิงแบบใดต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยอย่างน้อย 2-3 ปี

และต้องเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน เนื่องจากกิจการอวกาศใช้งบสูง ต้องสร้างคนให้มีความพร้อม และต้องมีเทคโนโลยี AI ที่เข้มแข็งในการเดินทางไประยะไกลให้มากขึ้น เหมือนหลายประเทศที่ดำเนินการไปสำรวจดาวอังคาร

อวกาศเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกๆ มิติ การศึกษา โอกาสทางธุรกิจ เราจะต้องทำการวิเคราะห์ว่าสามารถทำอะไรได้บ้างในเรื่องของอวกาศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ การลงทุน ความคุ้มค่า และต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า รวมไปถึงการเตรียมความพร้อม การวางแผน และการดึงดูดพันธมิตรหน้าใหม่ในวงการอวกาศเพื่อสร้างความร่วมมือกันในอนาคต 

"โอกาสการสร้างคน ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากระดับมัธยมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาบูรณาการและต่อยอดได้ เช่น การเขียนโปรแกรมการสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับบนพื้นโลก หรือความร่วมมือต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอวกาศซึ่งมีหลากหลายด้านที่เราจะต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับอนาคตของประเทศไทย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาก็เริ่มบรรจุความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการสร้างดาวเทียมบ้างแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเน้นย้ำให้เนื้อหาหลักสูตรมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยระยะแรกไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการมากนัก แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างจินตนาการเพื่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจได้ หรือมีแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนให้เด็กๆ สามารถสร้างและประกอบดาวเทียมเองได้ เป็นต้น

ที่มา : คนไทยได้อะไรจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ