หุ้นแบงก์ใหญ่กลับมาวิตกหนี้ หวั่นกระทบกำไรฟื้นครึ่งปีหลัง

 หุ้นแบงก์ใหญ่กลับมาวิตกหนี้  หวั่นกระทบกำไรฟื้นครึ่งปีหลัง

โจทย์ใหญ่ของภาคธุรกิจธนาคารของไทยวันนี้คือการบริหารจัดการไม่ให้เกิดหนี้เสียมากที่สุด และหากเกิดหนี้เสียแล้วต้องมีการตั้งเป็นทุนสำรองรองรับเอาไว้ตั้งแต่ต้นทาง กลายเป็นทั้งจุดดีและจุดเสียในการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงนี้ไปด้วย

จากที่ผ่านมาปี2563 จะเห็นได้ว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นในระบบจากการขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้ ผ่านทั้งแบงก์รัฐและเอกชนสูงมากในช่วงก.ค. 2563 ที่ 7.2 ล้านล้านบาท พร้อมกับมาตรการช่วยประคับประคองลูกค้าของแต่ละแบงก์ให้รอดภาวะวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้

จนกระทั่งตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ย. จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานมูลหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือลดลงเดือนพ.ย.ที่ 5.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเป็น 11 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย ที่มีวงเงินขอรับความช่วยเหลือประมาณ 3.22 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวน 10 ล้านราย

เฉพาะตัวเลขดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้นายแบงก์ต่างเร่งกั้นสำรองหนี้สียที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปี 2563 จนทำให้ทั้งปี 2563 ตัวเลขดังกล่าวกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งจากในช่วงปี 2561 ที่หลายแบงก์รีบตุนกระสุนตั้งสำรองกันถ้วนหน้า

ตามการประเมินผลประกอบการปี 2563 ของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ทั้ง 7 แห่ง กำไรจากธุรกิจอยู่ที่ 111,025 ล้านบาท และกลับมาเติบโตปี 2564 คาดกำไรดังกล่าว 138,549 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 4 คาดกำไรปรับตัวลง 21.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลกระทบของรายได้ดอกเบี้ยรับที่ลงตามทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงกว่า 5 ครั้ง นับตั้งแต่ ไตรมาส 3 ปี 2562 บวกกับระดับการตั้งสำรองที่เร่งตัวขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามเทียบกับไตรมาสก่อนคาดกำไรบวก 19.6% ตามรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคาดขยับขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมบัตร เครดิต ค่าธรรมเนียมนายหน้าประกันภัย และค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซัน บวกบางแบงก์จะมีการบันทึกกำไรจากการตีมูลค่าเงินลงทุนผ่านงบกำไรขาดทุนในส่วนของตราสารทุนและตราสารหนี้ที่ได้แรงหนุนจากกระแสเงินต่างๆ ชาติที่ ไหลเข้าในช่วงที่ผ่านมาทำ ให้มูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนพอร์ตสินเชื่อขยายตัวแม้ลูกหนี้ภายใต้โครงการพักชำระหนี้เริ่มครบกำหนดมาตรการและเริ่มกลับมาทยอยชำระคืนเงินตามปกติ สะท้อนถึง กิจกรรมการให้สินเชื่อใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ และ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง

และคาดค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองในภาพรวมเริ่มปรับตัวลง เนื่องจากทั้ง 7 แบงก์ผ่านการตั้งสำรองก้อนใหญ่ไปแล้ว ขณะที่ทิศทางของ NPL ใน ไตรมาส 4 ปี 2563 คาดเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คาดจะเห็นการชะลอตัวของต้นทุนการเงิน ( Credit Cost) ลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

การวิเคราะห์ดังกล่าวของโบรเกอร์ยังไม่รวมในช่วงเดือน ม.ค. 2564 การระบาดโควิด -19 จะกลับมารุนแรงอีกครั้ง จนทำให้ต้องใช้มาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัด ปิดให้บริการในร้านหลัง 21.00 น. ตามมาด้วยการเร่งออกมาตรการดูแลลูกค้าของกลุ่มธนาคารซึ่งรอบนี้กินระยะเวลาสูงสุด 1 ปี กลายเป็นปัจจัยลบใหม่เข้ามากดดันกลุ่มแบงก์

โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากของเดิมที่หมดอายุลงในช่วงสิ้นปี 2563 ทั้งบัตรเคดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบ้าน สินเชื่อจำนวนทะเบียนรถ สินค้าหมุนเวียนกิจการ มีพัก – ยื้ด –ลดดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างเปลี่ยนหนี้สั้นเป็นหนี้ยาว และยิ่งกลุ่มเสี่ยงภาคท่องเที่ยวจะมีการประเมินมากขึ้นในการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องไปถึงสิ้นปี 2564

ด้วยมาตรการดังกล่าวทำให้อาจะกลับมาเห็นแบงก์ตั้งการ์ดสูงเตรียมกลับกลับมาตั้งสำรองอย่างพร้อมเพียงกันอีกครั้ง จะกลายเป็นปัจจัยลบต่อกำไรที่ควรฟื้นตัวปี 2564 ในทางกลับกันหากวัคซีนที่นำมาใช้ได้ผลสถานการณ์กลับมาดีเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว หุ้นกลุ่มแบงก์จะขานรับเป็นกลุ่มแรกในการปรับตัวขึ้นมาเหมือนในช่วงท้ายปี 2563 ที่ดัชนีกลุ่มขึ้นมาราว 30 % จึงทำให้จังหวะลงทุนในหุ้นแบงก์ต้องอิงรายตัวมากขึ้น