ส่องสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก หลังมีการใช้วัคซีน

ส่องสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก หลังมีการใช้วัคซีน

ศิริราช เผยสถานการณ์หลังมีการใช้วัคซีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ผู้ป่วยยังคงเพิ่มสูง ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการฉีดวัคซีน แม้รัฐมีการรณรงค์และสั่งจองเรียบร้อยแล้ว ด้านผู้ผลิตวัคซีนเตรียมปรับตัวรับมือการกลายพันธุ์ของไวรัส

วันนี้ (19 ม.ค.64) “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หลังเริ่มมีการฉีดวัคซีน พบว่า “สหรัฐอเมริกา” มีการฉีดวัคซีนวันแรกเมื่อ 14 ม.ค.64 ที่ผ่านมา ยังมีการติดเชื้อใหม่ราว 2 แสนกว่ารายต่อวัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 21 ล้านราย มาสู่ 24 ล้านราย ในเวลา 12 วัน ขณะเดียวกัน อัตราการเสียชีวิตยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากหลังจากฉีดวัคซีน

“สหราชอาณาจักร” ซึ่งมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มจำนวนมากในก.ย.63ที่ผ่านมา เป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจนำวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค มาฉีด เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63 ปัจจุบันครบเดือนหลังจากฉีด ผู้ป่วยเฉลี่ยก็ยังคง 5 หมื่นรายต่อวัน ผู้ติดเชื้อรวม 2 ล้านกว่าราย ไปสู่ 3 ล้านกว่าราย ใน 12 วัน อัตราเสียชีวิตราว 1,000 คนต่อวัน การระบาดรอบสองสูงกว่ารอบแรกไม่ว่าจะผู้ป่วยติดเชื้อต่อวันหรือเสียชีวิต

“ฝรั่งเศส” เป็น 1 ใน 2 ของประเทศที่ประชากรไม่เห็นด้วยในการฉีดวัคซีน ถึงแม้รัฐบาลสนับสนุนตั้งแต่เดือนธ.ค. 63 ที่ผ่านมา แต่มีประชากรเพียง 40% ที่เห็นด้วยเท่านั้น ทั้งๆ ที่พบผู้ติดเชื้อเกือบ 2 หมื่นรายต่อวัน และการเสียชีวิตราว 300 รายต่อวัน แม้ฝรั่งเศสตั้งเป้าฉีดวัคซีน 1 ล้านคน ภายใน ม.ค.64 นี้ แต่เนื่องจากความต้องการฉีดยังน้อย ดังนั้น เป้าหมายจึงถูกเลื่อนไปครบ 1 ล้านคน ภายในเดือน ก.พ. 64

“ญี่ปุ่น” มีการระบาดซ้ำๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนในประเทศมีทัศนคติเชิงบวกค่อนข้างน้อยต่อวัคซีนเพียง 30% เท่านั้น รัฐบาลพยายามรณรงค์เพื่อให้ควบคุมการแพร่รบาดได้ โดยกำหนดการฉีดจะเริ่มในเดือน ก.พ. 64 มีการจองวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค 100 ล้านโดส ปัจจุบัน ญี่ปุ่น ต้องปิดประเทศอีกครั้งเพราะพบผู้ป่วย 6,000 รายต่อวัน ยอดรวมทะลุ 2 แสนราย สู่ 3 แสนรายภายในเวลา 12 วัน แม้ก่อนหน้านี้อัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่ตอนนี้สูงขึ้น เพราะมีผู้สูงวัยมาก

“เกาหลีใต้” ยังคุมสถานกาณณ์ได้ไม่ดี มีผู้ป่วยใหม่ 500 -600 รายต่อวัน ยอดรวมกว่า 7 หมื่นราย อัตราการตายสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มยังควบคุมไม่อยู่ ได้มีการวางแผนรณรงค์ฉีดวัคซีนในเดือน ก.พ. 64 และมีการจองเรียบร้อยแล้ว

“มาเลเซีย” ไทยยังคงต้องเฝ้าระวัง เพราะมาเลเซีย น่าเป็นห่วงกว่าเมียนมา อัตราผู้ป่วยใหม่ต่อวันกว่า 3,000 ราย เมื่อมาเลเซีย มีผู้ป่วยใหม่มากมาย รัฐบาลสั่งปิดประเทศ จะมีแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่ง อยู่ต่อไม่ได้ และเดินทางออกจากมาเลเซีย คนเหล่านี้หากอยากจะออกจากมาเลเซียต้องผ่านไทยทั้งนั้น มีแนวโน้มจะผ่านชายแดนไทย-มาเล เข้าไทย ช่วงนี้มีรายงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องทางเส้นทางธรรมชาติ มาเลเซีย มีอัตราความชุกของการติดเชื้อสูง อัตราการตายเพิ่มขึ้นจากรอบแรก มีการสั่งวัคซีนหลายรูปแบบ ทั้งจีน ยุโรป

“เมียนมา” หากเฝ้าดูตัวเลขหนึ่งเดือนจากเดิม 2,000 – 3,000 รายต่อวัน มาอยู่ที่ 500 -600 รายต่อวัน แต่ก็ยังสูงเมื่อเทียบกับศักยภาพของเมียนมา อัตราการเสียชีวิตอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ความชันยังไม่สูง จะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือน ก.พ. 64 เริ่มส่งมอบให้ ก.พ มี.ค

สำหรับ “ประเทศไทย” โรคสงบมาหลายเดือนกระทั่งเริ่มเกิดคลัสเตอร์ ท่าขี้เหล็ก สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี กทม. อ่างทอง กระจายออกไป ขณะนี้มีผู้ป่วย 200 – 300 รายต่อวัน

“อย่างไรก็ตาม เวลาดูตัวเลข ขออย่าตระหนก ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. จากการตรวจเชิงรุก แรงงานต่างด้าวในโรงงานต่างๆ ยิ่งเจอเยอะยิ่งดี เพราะจะได้รู้ว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่เท่าไหร่ เพื่อให้มีมาตรการในการควบคุม แต่ที่ต้องระวัง คือ 2. การติดเชื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะไม่รู้แหล่งที่มา 3. เดินทางมาจากต่างประเทศในสถานที่กักกัน ซึ่งมาตรการกักตัวทำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เวลาดูตัวเลขต้องดู 3 องค์ประกอบเพราะจะได้รู้ว่า น่ากลัวหรือไม่น่ากลัวอย่างไร” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

  • ผู้ผลิตวัคซีน เตรียมรับมือไวรัสกลายพันธุ์

สำหรับการกลายพันธุ์ที่สำคัญของเชื้อ COVID-19 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า สายพันธุ์ของเชื้อ COVID-19 ที่พบที่อู่ฮั่น เรียกสายพันธุ์ D614 มีการพบน้อยลง เนื่องจากพบสายพันธุ์ใหม่มีการแพร่กระจายเร็วขึ้นอย่าง สายพันธุ์ใหม่ G614 เริ่มในสัดส่วนประมาณ 26% ของเชื้อที่พบนอกประเทศจีน ในเดือนมี.ค. 63 และเพิ่มปริมาณสัดส่วนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเดือนเม.ย.63 ซึ่งพบมากถึง 65% และในเดือน พ.ค. 63 พบมากถึง 70% แสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการแพรระบาดมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก

ในเดือนก.ย.63 เริ่มพบสายพันธุ์ B 1.1.7 ในสหราชอาณาจักร กลางเดือนพ.ย.63 สายพันธุ์นี้พบเป็น 20-30% ของ COVID-19 ที่ระบาดในสหราชอาณาจักร กระทั่งธ.ค.63 พบเพิ่มมากเป็น 60% สายพันธุ์ B 1.1 แพรระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G614 ราว 56 - 70% ไม่มีหลักฐานว่ารุนแรงกว่ากัน และอยู่ในศักยภาพที่วัคซีนที่ผลิตอยู่ป้องกันได้

ขณะนี้ สายพันธ์ B 1.17 พบได้ในหลากหลายประเทศทวีปยุโรป ประเทศในตะวันออกกลาง ในทวีปเอเซีย ทวีปแอฟริกา ประเทศออสเตรเลีย และประเทศแคนาดา

“การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจส่งผลให้การผลิตวัคซีนต่อเชื้อ ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้คงประสิทธิภาพในอนาคต และอาจส่งผลให้ต้องมีการฉีดวัคซีนทุกปี เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น หลายบริษัทที่ผลิตวัคซีน เริ่มมีการปรับวัคซีนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของไวรัส” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิกล่าว