"โรม" จี้ "ชวน" ปรับลำดับพิจารณา "ร่างกฎหมาย" ตามความสำคัญ แทนให้ "ครม." แซงคิว

"โรม" จี้ "ชวน" ปรับลำดับพิจารณา "ร่างกฎหมาย" ตามความสำคัญ  แทนให้ "ครม." แซงคิว

ส.ส.ก้าวไกล จี้ "ประธานสภาฯ" ทบทวนลำดับพิจารณาร่างกฎหมาย ตามความสำคัญ แทนให้ ร่างกฎหมายรัฐบาล แซงคิว ชี้ ควรพิจารณา พ.ร.บ.กันอุ้มหาย หลังนักเคลื่อนไหว ถูกอุ้ม 16มกราคม

      นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ เพื่อเรียกร้องไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตามความจำเป็นแทนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งเข้าสู่สภาฯ​หลังจากที่พบกรณีประชาชนถูกอุ้มหาย ซึ่งล่าสุดเป็นกรณีของนายมงคล สันติเมธากุล อายุ 25 ปี การ์ดปลดแอก ที่ถูกอุ้มหายเมื่อวันที่ 16 มกราคม

         ทั้งนี้ข้อความที่นายรังสิมันต์ ระบุมีความสำคัญ ตอนหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ครม. ส่งมาให้เป็นเรื่องด่วนลัดคิวร่างพ.ร.บ.ของส.ส. และภาคประชาชน เช่น ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายที่ส.ส.หลายพรรคจัดทำซึ่งบรรจุในระเบียบวาระ ลำดับที่ 18 -20 ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้พิจารณาเมื่อใด และไม่รู้ว่าใครจะโดนอุ้มไปอีกกี่คน การทำงานแบบนี้เป็นปัญหาในสภามานานแล้ว ผมขอให้ประธานสภาฯ พิจารณาอีกครั้งให้เหมาะสม”​

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาณและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ... ที่บรรจุอยู่ในระเบียบวาระเรื่องค้างพิจารณา มีจำนวน 3 ฉบับ โดยมีส.ส.ฝ่ายค้านและส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เสนอ ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และคณะ เป็นผู้เสนอ ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564 , นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.​พรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ​ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้การเสนอร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว มีมูลเหตุมาจากกรณีที่ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ อายุ 37 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563.