'ทีดีอาร์ไอ'แนะรัฐเลิกหว่านแหช่วย 'โควิด' เน้นจ่ายตรงกลุ่มผู้เดือดร้อน - เพิ่มเงินเยียวยา

'ทีดีอาร์ไอ'แนะรัฐเลิกหว่านแหช่วย 'โควิด' เน้นจ่ายตรงกลุ่มผู้เดือดร้อน - เพิ่มเงินเยียวยา

กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โครงการ "เราชนะ" เดือนละ 3500 บาท/2 เดือน เบื้องต้นคาดว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์ 30 ล้านคน ในมุมมองของนักวิชาการทีดีอาร์ไอมองว่าควรลดจำนวนผู้ได้รับเงินลงแล้วเพิ่มเงินให้คนที่เดือดร้อนจริง

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาในโครงการ "เราชนะ" ที่รัฐบาลจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก2 ยังมีลักษณะเป็นการจ่ายเงินในลักษณะหว่านแห แม้รัฐบาลจะบอกว่ามีการใช้มาตรการคัดกรองในรูปแบบ “Exclusion list” ซึ่งจะมีการคัดกรองผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิ์ในระดับหนึ่งแต่เมื่อใช้วิธีการคัดกรองในระดับนี้ก็จะยังมีผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นผู้เดือดร้อนจริงแล้วสมควรได้รับเงินเยียวยา หรืออาจจะไม่ใช่ผู้ที่สมควรได้รับเงินเยียวยาก็ได้

โดยการแจกเงินแบบนี้มีข้อดีคือสามารถจัดสรรเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็ว แต่ข้อเสียก็คือจะมีคนที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวนมากทำให้เป็นภาระต่องบปะมาณมาก และงบประมาณที่ใช้จ่ายลงไปมากก็ไม่สามารถที่จะจ่ายให้กับคนที่มีความเดือดร้อนจริงๆได้ทั้งหมดอาจมีคนที่ไม่สมควรได้เงินเยียวยา เนื่องจากมีรายได้ดีแต่ได้รับประโยชน์จากการเยียวยาไปด้วย ขณะที่ผู้สมควรได้รับเงินบางคนไม่ได้ หรือได้น้อยเกินไปกว่าที่จะเพียงพอในการดำรงชีพในชีวิตประจำวันได้  

นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งจำนวนเงินเยียวยาที่ให้ในครั้งนี้เดือนละ 3,500 บาท ถือว่าเป็นเงินที่น้อยหากเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆก็ถือว่าไม่เพียงพอที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเวลาในการเยียวยา 2 เดือนก็ถือว่าสั้นเกินไปเพราะการระบาดในครั้งนี้กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติอาจจะต้องใช้เวลาถึงกลางเดือน เม.ย.ซึ่งในทางปฏิบัติรัฐควรจะจ่ายเยียวยาอย่างน้อย 3 เดือน

“การเยียวยาในครั้งนี้รัฐบาลยังใช้วิธีแบบหว่านแห ซึ่งหากรัฐบาลสามารถที่จะเจาะจงคนที่มีความเดือดร้อนสมควรได้รับเงินเยียวยาจริงๆก็สามารถที่จะเพิ่มจำนวนเงินให้กับคนกลุ่มนั้น และเพิ่มระยะเวลาในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สมควรได้รับเงินเพิ่มมากขึ้นได้” นายนณริฏ กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่าในส่วนข้อเสนอจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และฝ่ายค้านที่ระบุว่าให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้มากกว่า 3 เดือนนั้นนายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การเยียวยาครั้งนี้จะช่วยเหลือ 2 เดือนก่อนเพราะขณะนี้สถานการณ์การควบคุมโรคระบาดทำได้ดีขึ้น มีจำนวนผู้หายป่วยต่อวันมากกว่าผู้ป่วยใหม่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าในครั้งนี้เราสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นและมั่นใจว่าจะใช้เวลาไม่เกินเดือน ก.พ. - กลางเดือน มี.ค.2564 นี้ซึ่งเป็นผลมาจากความรู้ และความพร้อมทางการแพทย์และการร่วมมือกับประชาชนทำให้สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีมากกว่าเดิม 

ในส่วนของการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยใช้โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 - 4 เพิ่มเติมตามข้อเสนอนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานบอกว่าต้องมีการประเมินความจำเป็นอีกครั้ง เพราะขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูงในหลายเรื่อง ตอนนี้ต้องขอประเมินสถานการณ์ในช่วงสั้นๆ และออกมาตรการเป็นช่วงเวลาสั้นๆแล้วปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เหมาะสม หากมีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลานั้นก็จะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง