ดราม่า'โซลาร์เซลล์'แม่เกิบ ลามตรวจสอบ กอ.รมน.

ดราม่า'โซลาร์เซลล์'แม่เกิบ  ลามตรวจสอบ กอ.รมน.

โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารของกอ.รมน.กำลังถูกตั้งคำถามถึงการใช้งบที่สูงถึง45ล้านบาทว่า ดูสูงเกินจริงหรือไม่?

กลายเป็นเผือกร้อนขึ้นมาทันที หลังจากที่ยูทูบเบอร์สาวชื่อดัง “พิมรี่พาย” ที่เดินทางไปบริจาคสิ่งของให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งทุ่มทุนกว่า 5 แสนบาท ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับหมู่บ้านได้มีไฟฟ้าใช้ แต่กลับเกิดดราม่าบนโลกออนไลน์ มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับราคาของอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ จนลุกลามไปถึงการเปิดเอกสาร สรุปราคากลางงานก่อสร้างอาคาร โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.

ดราม่าร้อนๆ จากโลกออนไลน์ของ “พิมรี่พาย” หรือ นางสาวพิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ ยูทูบเบอร์ชื่อดัง หลังจากควักเงินส่วนตัวกว่า 5 แสนบาทติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับชาวบ้าน หมู่บ้านแม่เกิบ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีคนออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับราคาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมระบุราคาว่า ตัววัสดุที่เป็นแผงโซลาร์เซลล์ 18 ชิ้นของพิมรี่พาย ราคาขายตามท้องตลาดทั่วไปอยู่ที่ 5,200 บาทต่อชิ้น หากรวมมูลค่าทั้งหมดจะอยู่ที่ 93,600 บาท แต่คลิปของพิมรี่พายระบุว่า ใช้เงินไป 350,000 บาท ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์

นั่นหมายความว่า อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไม่ว่าจะเป็น ขาตั้ง หม้อแบตเตอรี่ สายไฟ และแผงควบคุม จะมีราคาสูงถึง 256,400 บาท จึงน่าสงสัยว่า ราคาที่มีตัวเลขสูงขนาดนี้ เป็นราคาที่มีขายตามท้องตลาดจริงหรือ

แม้ว่าภายหลังจากที่มีคนออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับราคาแผงโซลาร์เซลล์ จะมีบริษัทที่จัดจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ให้กับพิมรี่พาย ออกมาชี้แจงพร้อมยืนยันว่าราคาดังกล่าวเป็น “ปกติ” ในท้องตลาด เนื่องจากยังไม่รวมค่าโครงสร้างสแตนเลส และค่าแรง ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง รวมถึงค่าขนส่ง จึงขอให้ผู้โพสต์ข้อความสอบถามถึงราคาไปศึกษาข้อมูลดูใหม่อีกครั้ง

สำหรับรายละเอียดที่บริษัทที่จัดจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ให้กับพิมรี่พาย ระบุถึงราคาติดตั้งอย่างละเอียดว่าได้ติดตั้งระบบออฟกริด 7.2 กิโลวัตต์ ราคา 350,000 บาท ซึ่งอุปกรณ์ประกอบไปด้วย แบตเตอรี่ 7.2 กิโลวัตต์ ราคา 70,000 - 120,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวอุปกรณ์ ซึ่งอาจใช้ความจุมากกว่านี้

ต่อมาคือ ตัวอินเวอเตอร์ Hybrid off grid ราคา 50,000 - 70,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ รวมถึงตู้ไฟคอมไบเนอร์ สายไฟ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป

แต่ประเด็นดราม่าจากกรณีของยูทูบเบอร์สาวชื่อดังยังไม่จบแค่นั้น เพราะลุกลามไปถึงการร้องขอให้มีการตรวจสอบโครงการของภาครัฐอย่าง กอ.รมน.ด้วย

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้างอาคาร โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของ กอ.รมน.ภาค 3 โดยระบุว่า มีการเบิกงบค่าก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 210 กิโลวัตต์ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 45 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าวของ กอ.รมน.ได้ดำเนินการ 5 พื้นที่ใน อ.อมก๋อย ซึ่งมีระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ลิเทียม จำนวน 998.40 กิโลวัตต์ และได้จัดทำโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โดยมีการลากสายไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านและติดตั้งเสาไฟฟ้า

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์ของพิมรี่พาย ราคาจะเฉลี่ยอยู่ที่กิโลวัตต์ละ 57,692 บาท ส่วนโครงการของ กอ.รมน. มีค่าติดตั้งเฉลี่ยกิโลวัตต์ละ 215,262 บาท ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ที่สำคัญพบว่า หลายรายการมีราคาแพงกว่าปกติ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียม ขนาด 200 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ราคาสูงถึงชุดละ 5 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นขนาด 120 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ราคาอยู่ที่ 3 ล้านบาท ส่วนเครื่องควบคุมประจุแบตเตอรี่และเครื่องแปลงกระแส ขนาด 30 กิโลวัตต์ มีราคา 6 แสนบาทต่อชุด ส่วนค่าประตูสำเร็จรูป ราคา 15,000 บาทต่อบาน

นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ ยังตั้งข้อสงสัยถึงกรณีบริษัทคู่แข่งที่มีการเสนอราคาแข่งกัน ปรากฏว่า บริษัทที่เสนอราคาต่ำกว่า คือ ราคา 44 ล้านบาท แต่กลับไม่เป็นผู้ชนะการประมูล จึงสงสัยว่าเป็นการประมูลที่โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบหรือไม่

ด้านนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส สมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาฯ ก็ออกมาบอกว่า ได้นำสเปคงานดังกล่าวให้บริษัทติดตั้งแผงโซลาร์ชั้นนำทำการเทียบราคา พบว่าได้ราคาถูกกว่าที่ กอ.รมน.ภาค 3 ประมูลถึงเกือบเท่าตัว เมื่อเข้าไปสืบบริษัทที่เป็นคู่เทียบในใบเสนอราคาของ กอ.รมน.พบว่า บางบริษัทเพิ่งจดทะเบียนเมื่อปี 2562 และไม่ได้เป็นผู้รับจ้างผลิตพลังงานโซลาร์ด้วยซ้ำ จึงไม่แน่ใจว่างานนี้โปร่งใสหรือมีการฮั้วประมูลหรือไม่

นายตรีรัตน์ บอกอีกว่า ราคาต่อเมกกะวัตต์ อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทต่อ 1 เมกกะวัตต์ รวมราคาค่าติดตั้ง แต่โครงการของ กอ.รมน. ภาค 3 ซึ่งติดตั้งเพียงแค่ 210 กิโลวัตต์ โดยมีราคาจริงอยู่แค่ประมาณ 20-25 ล้านบาทเท่านั้น จึงตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมราคาถึงทะลักขึ้นไปถึง 45 ล้านบาท

ล่าสุด เนชั่นทีวี โทรศัพท์สอบถามไปยังผู้ประกอบการธุรกิจโซลาร์เซลล์รายหนึ่ง ซึ่งเคยอยู่ในบริษัทที่จัดจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ในโครงการของ กอ.รมน.ได้รับคำตอบว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตนเองเคยทำงานในบริษัทแห่งนี้ โดยโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีทั้งสิ้น 5 พื้นที่ คือ บ้านพะอัน ต.สบโขง บ้านจกปก และ บ้านห้วยไก่ป่า ต.แม่ตื่น บ้านมูเซอร์หลังเมือง ต.ม่อนจอง และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคง อ.อมก๋อย

ส่วนราคางบประมาณที่กอ.รมน.ภาค 3 ระบุว่า มีมูลค่ากว่า 45 ล้านบาท ต้องชี้แจงว่า หากพิจารณาแค่ราคาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ราคา 45 ล้านบาท อาจจะดูสูงเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้ว ยังมีค่าก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ขึ้น เพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงการกระจายไฟฟ้าไปให้กับชาวบ้านทุกหลังคาเรือน จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างที่มีคนตั้งข้อสงสัย ซึ่งตนในฐานะที่เคยเป็นพนักงานที่เข้าไปดำเนินโครงการทั้ง 5 พื้นที่นี้ มองว่า ไม่ใช่ราคาที่สูงจนเกินไป เพราะมีค่าก่อสร้างอย่างอื่นรวมอยู่ด้วย

ผู้ประกอบการธุรกิจโซลาร์เซลล์รายนี้ ยังบอกอีกว่า สำหรับราคาอุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จะต้องมีการประเมินออกมาเป็นแต่ละโครงการ แต่ถ้าหากคิดเฉพาะราคาอุปกรณ์ก็มีตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงแพง เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีหลายขนาดด้วยกัน หากคิดเป็นกิโลวัตต์ จะอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อกิโลวัตต์

ถัดมา เป็นโครงเหล็กก็มีตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป แต่การติดตั้งกับพื้นก็จะแพงกว่าปกติ ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถติดตั้งบนพื้นได้แล้ว ต้องขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ว่าจะยกเว้นเป็นกรณีพิเศษหรือไม่

ต่อมาเป็นราคาของตัวอินเวอเตอร์ จะอยู่ที่ 50,000 - 70,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ยี่ห้อ และความสามารถเทคโนโลยีของตัวอินเวอเตอร์นั้น จากนั้นก็จะเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ชาร์ตเจอร์” มีตั้งแต่ราคาหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดและยี่ห้อเช่นกัน

ส่วนแบตเตอรี่ลิเทียม จะสนนราคาที่ 6 แสนบาทต่อ 30 กิโลวัตต์ รวมถึงราคาของอุปกรณ์อื่นๆอย่าง สายไฟ ก็มีตั้งแต่ 30 บาทไปจนถึง 500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและยี่ห้อของสายไฟ