‘มาเลเซีย-ญี่ปุ่น’ ประกาศภาวะฉุกเฉินสู้โควิด

‘มาเลเซีย-ญี่ปุ่น’ ประกาศภาวะฉุกเฉินสู้โควิด

มาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉินสู้โควิด ญี่ปุ่นพบสายพันธุ์ใหม่จาก 4 นักเดินทางมาจากบราซิล อนามัยโลกเตือน ปีหน้ายังฉีดวัคซีนไม่ได้มากพอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

สำนักพระราชวังมาเลเซียแถลงวานนี้ (12 ม.ค.) สมเด็จพระราชาธิดีสุลต่านอับดุลลาห์ สุลต่านอาหมัดชาห์ ทรงเห็นชอบให้ประกาศภาวะฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 1 ส.ค. ตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน เมื่อวันจันทร์ (11 ม.ค.)

นายกรัฐมนตรีแถลงทางโทรทัศน์ว่า ระหว่างนี้สภาจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีการเลือกตั้ง สมเด็จพระราชาธิบดีอาจทรงออกกฎหมายใหม่ได้ในกรณีที่จำเป็น แต่ยืนยันว่า “รัฐบาลพลเรือนจะทำหน้าที่ต่อไป การประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ใช่การรัฐประหาร ไม่มีเคอร์ฟิว” นายมูห์ยิดดินกล่าวและว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อประเทศคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว และการประกาศภาวะฉุกเฉินจะให้อำนาจรัฐบาลเข้าดูแลโรงพยาบาลเอกชนในช่วงที่โรงพยาบาลรัฐเต็ม รวมทั้งขอความช่วยเหลือพิเศษจากทหารและตำรวจได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจยกเลิกภาวะฉุกเฉินก่อนกำหนดเมื่ออัตราการติดเชื้อลดลง ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของมาเลเซียสะสมที่กว่า 138,000 คน เสียชีวิต 555 คน

ด้านน.ส.มารีนา มหาธีร์ นักเคลื่อนไหว บุตรีอดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ทวีตข้อความว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นการ “ประกาศความล้มเหลว ล้มเหลวในการบริหารจัดการโรคระบาด ล้มเหลวในการปกครอง ล้มเหลวในการดูแลประชาชน”

ทั้งนี้ นายมูห์ยิดดินเคยกราบบังคมทูลขอประกาศภาวะฉุกเฉินมาแล้วเมื่อเดือน ต.ค. แต่สมเด็จพระราชาธิบดีไม่ทรงเห็นชอบ มาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2512 ตอนเกิดการจลาจลนองเลือดระหว่างเชื้อชาติ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในมาเลเซียเกิดขึ้นก่อนที่มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ครอบคลุม “พื้นที่สีแดง” 8 แห่ง ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองปุตราจายา ดินแดนสหพันธ์ลาบวน รัฐปีนัง รัฐสลังงอร์ รัฐซาบาห์ รัฐมะละกา และรัฐยะโฮร์ จะมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 13 ถึง 26 ม.ค. นี้

ที่ญี่ปุ่น สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (10 ม.ค.) พบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากนักเดินทาง 4 คนที่เดินทางมาจากบราซิล มีลักษณะการกลายพันธุ์บางประการคล้ายกับโควิดที่พบในสหราชอาณาจักร (ยูเค) และแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังยากจะบอกว่าโควิดสายพันธุ์นี้ติดต่อกันอย่างไร และวัคซีนจัดการได้หรือไม่

ต่อมา นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แถลงในวันจันทร์ (11 ม.ค.) ว่า ได้รับแจ้งเรื่องพบโควิดกลายพันธุ์ที่ญี่ปุ่นแล้ว หากปล่อยให้แพร่ระบาดจะเป็นปัญหากับระบบสาธารณสุขที่ตึงตัวมากอยู่แล้ว

นอกจากนี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังกังวลว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่อาจบั่นทอนความพยายามฉีดวัคซีนป้องกันโรคด้วย

ส่วนการรับมือสำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ของญี่ปุ่นแถลงในที่ประชุมผู้บริหารรัฐบาลวานนี้ว่า จะประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 จังหวัดภาคตะวันตก ได้แก่ โอซากา เกียวโต และเฮียวโงะ หลังจากสัปดาห์ก่อนประกาศในกรุงโตเกียวและ 3 จ.ทางภาคตะวันออกมาแล้ว แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นทางตะวันตก โดยรัฐบาลจะสรุปแผนในวันนี้ (13 ม.ค.)และอาจครอบคลุมไปถึงจังหวัดทางภาคกลาง ได้แก่ จ.ไอจิ ที่ตั้งของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์คอร์ป และจ.กิฟุด้วย ซึ่งทั้ง 5 จังหวัดมีประชากรราวครึ่งหนึ่งจากทั้งประเทศญี่ปุ่น 126 ล้านคน

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมที่ 286,752 คน เสียชีิวิต 4,044 คน

ขณะที่โลกกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับวัคซีนป้องกันโควิด-19 คณะนักวิทยาศาสตร์ของดับเบิลยูเอชโอเตือนว่า การฉีดวัคซีนกับประชาชนจำนวนมากในปีนี้ยังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้

นางสาวสมญา สวามีนาทาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ดับเบิลยูเอชโอ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า การผลิตและฉีดวัคซีนกว่าจะระงับการกระจายของไวรัสได้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

“ปีนี้เราจะยังไม่ได้ภูมิคุ้มกันหมู่จึงจำเป็นต้องรักษาระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากต่อไป” นางสาวสมญากล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังกังวลเรื่องโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่รวดเร็ว อย่างสายพันธุ์ที่พบในอังกฤษ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นมาก จนอังกฤษต้องเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนใหญ่ 7 ศูนย์เมื่อวันจันทร์ กระนั้น นายคริส วิตตี หัวหน้าแพทย์อังกฤษเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า อีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากที่สุด