ปณิธาน 'การเงิน' ในปีใหม่

ปณิธาน 'การเงิน' ในปีใหม่

เริ่มต้นปีใหม่ 2564 เราจะตั้งปณิธานด้านการเงินอย่างไรดี ชวนส่องแนวทางการเงินในด้านต่างๆ ทั้งการออม การใช้จ่าย การลงทุน และการป้องกันและปกป้องชีวิตจากทรัพย์สิน กันว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง?

ปกติเวลาเริ่มต้นปีใหม่ เรามักจะตั้งปณิธานอยากทำสิ่งใหม่ๆ อยากเปลี่ยนแปลงปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งดิฉันคิดว่าจากความยากลำบาก หรืออุปสรรค ที่ท่านได้พบประสบมาในปีที่แล้ว หรือสถานการณ์ต่างๆ ของคนรอบข้าง ย่อมจะทำให้ในปีนี้ หลายๆ ท่านต้องอยากมีปณิธานทางด้านการเงินสำหรับปีใหม่นี้แน่นอน วันนี้จึงอยากมาช่วยท่านคิดว่าจะสามารถตั้งปณิธานอะไรให้ตัวเองได้บ้าง

จากการสำรวจคนอเมริกันโดย Epcot ในปี 1995 และ Gallop ในปี 1985 พบว่า ผู้ตั้งปณิธานเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปในปีใหม่ จะสามารถทำตามปณิธานได้สำเร็จถึง 46% ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ตั้งปณิธานในช่วงอื่นของปีแล้ว จะประสบความสำเร็จมากกว่าถึงสิบเท่าค่ะ เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะตั้งปณิธานการเงินในช่วงนี้ 

เนื่องจากเป็นตัวอย่างสำหรับผู้อ่านในวงกว้าง ปณิธานในบทความนี้จึงอาจจะครอบคลุมไปหลายด้าน ขอเรียนว่า ท่านไม่ควรที่จะตั้งเป็นปณิธานสำหรับตัวเองทุกข้อ เพราะท่านจะทำไม่ได้ แล้วจะยิ่งทำให้มีความทุกข์ มากกว่าจะทำให้มีความสุขค่ะ ขอให้เลือกบางข้อที่เหมาะสมกับตัวท่านไปใช้นะคะ และข้ออื่นๆ ที่อยากทำ ก็ทยอยทำในปีต่อๆ ไปได้ค่ะ

  • ในด้านการออม

1. ตั้งใจจะออมเงินให้มากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเงินออมสามารถทำให้มั่นใจว่าท่านจะมีความมั่นคงในชีวิต และที่เห็นชัดเจนในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน คือสามารถนำเงินออมออกมาใช้แก้ขัดไปได้ในยามตกงาน ในยามที่รายได้ลดลง ในยามเจ็บป่วย ฯลฯ

2. ตั้งนิยามเงินออมใหม่ เพื่อออมเงินให้สม่ำเสมอ โดยกำหนดว่า “เงินออมคือเงินที่กันเอาไว้ก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นงบประมาณสำหรับการใช้จ่าย หรือ รายได้ ลบ เงินออม เท่ากับ เงินที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้”

3. ดูแลจัดการเงินออมด้วยการนำไปลงทุน แทนการเก็บเป็นเงินสด หรือฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ

  • ในด้านการใช้จ่าย

1. ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า

2. ประหยัด ลดทอนในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและประหยัด

3. แยกแยะ “สิ่งจำเป็น” ออกจาก “สิ่งที่อยากได้” เมื่อมีงบประมาณที่จำกัด ให้เลือกเฉพาะ “สิ่งที่จำเป็น”

4. ใช้ของให้สมกับฐานะของตน ไม่เน้นวัตถุนิยม ไม่ต้องแข่งขัน หรืออวดใคร รวยไม่รวยอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุหรือเครื่องประดับ

5. กรณีสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้มีราคาสูง ให้พยายามหาสิ่งของอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาทดแทน กรณีเช่นนี้ ให้ถามผู้รู้ หรือหาข้อมูล ซึ่งสมัยนี้หาได้ไม่ยากค่ะ แค่คลิกเดียว

6. หากมีงบประมาณจำกัด พยายามทำของใช้เอง หรือนำของใช้แล้วมาใช้ซ้ำ หรือนำมาดัดแปลง ไม่จำเป็นต้องซื้อหาใหม่ทุกครั้ง

  • ในด้านการลงทุน

1. แบ่งเงินลงทุนออกเป็นส่วนๆ ตามวัตถุประสงค์ เช่น ระยะสั้นสำหรับดาวน์รถ ระยะปานกลางสำหรับดาวน์บ้าน ระยะยาวสำหรับการเกษียณ

2. จัดการลงทุนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เช่น ระยะสั้นเน้นความเสี่ยงต่ำ ระยะปานกลางรับความเสี่ยงได้ปานกลาง และเงินลงทุนระยะยาวรับความเสี่ยงได้สูง

3. ลงทุนแบบกระจายให้เป็นพอร์ตการลงทุน และจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ของเงินออมแต่ละก้อน

4. ทบทวนการลงทุนเป็นระยะๆ และจัดปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนที่อาจเปลี่ยนแปลงไป หรือ สถานะของตัวผู้ลงทุนที่อาจเปลี่ยนแปลงไป เช่น การตกงาน การมีครอบครัว มีลูก เกษียณอายุงานแล้ว ฯลฯ

5. กรณีไม่มีเวลาดูแลเงินลงทุน หรือไม่มีความรู้หรือประสบการณ์การลงทุนเพียงพอ ควรใช้บริการของมืออาชีพ เช่น กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล

6. ไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ

7. ไม่ตาโต เกิดความโลภ ไม่ตกเป็นเหยื่อให้เขาหลอกว่าการลงทุนโดยได้ผลตอบแทนสูงๆ มีความเสี่ยงต่ำ เป็นเรื่องจริง เพราะมันเป็นเรื่องไม่จริงค่ะ

8. หาโอกาสศึกษาให้เข้าใจการลงทุนพื้นฐานบ้าง หรือหาโอกาสฟังคำแนะนำจากผู้รู้บ้าง เพื่อให้สามารถตัดสินใจจัดพอร์ตได้ดีขึ้น

9. จัดพอร์ตให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงและเป้าหมายผลตอบแทน อย่าอนุรักษนิยมจนเกินไป และก็อย่า aggressive เกินไป

10. จัดสรรแบ่งกำไรจากการลงทุนบางส่วน เพื่อช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น เช่น ช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่า ช่วยทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดนี้ ผู้ลงทุนคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในบรรดาผู้มีรายได้จากการทำงาน การใช้แรงงาน การค้าขาย การทำธุรกิจ ทั่วโลก

  • ในด้านการป้องกัน และปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน

1. ทบทวนดูว่าหากเราจากโลกนี้ไป คนที่อยู่ข้างหลังจะเดือดร้อนหรือไม่ หากมีผู้เดือดร้อน ต้องพยายามจัดให้มีการประกันภัยที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้อยู่เบื้องหลัง อย่างน้อยก็ในช่วงเวลา 3 ถึง 5 ปี พอให้เขาปรับตัวได้

2. สำรวจทรัพย์สินมีค่า เพื่อประเมินว่าหากเกิดความเสียหายขึ้น จะก่อให้เกิดภาระหรือไม่ เช่น บ้านที่ยังติดค้างกู้เงินจากสถาบันการเงิน คือยังผ่อนไม่จบ หากมี ต้องจัดทำประกันให้ครอบคลุมความเสียหายด้วย เช่น ทำประกันอัคคีภัย และภัยอื่นๆ กรณีมีเหตุเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ได้รับเงินชดเชยไปคืนเงินกู้นั้น

3. ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวให้ดี โดยเฉพาะหามีเงินออมไม่มาก เพราะเจ็บป่วยใหญ่ๆเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้หมดตัวได้

4. หากไม่มีสวัสดิการเรื่องการรักษาพยาบาล ควรทำประกันสุขภาพไว้บ้าง ถ้าเบี้ยประกันสูง อาจพิจารณาการทำประกันแบบหมู่ เพื่อเป็นทางเลือก เพราะเบี้ยไม่สูงค่ะ

  • ในด้านการส่งต่อความมั่งคั่ง

1. ทำพินัยกรรมไว้ เพราะหากไม่มีพินัยกรรม ทายาทในระดับเดียวกันจะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน หากทำพินัยกรรม สามารถเพิ่มสัดส่วนในมรดกให้กับบุคคลที่อาจต้องการการดูแลมากกว่าได้

2. หากมีพินัยกรรมอยู่แล้ว ให้ทบทวนว่าเหมาะสมหรือไม่ ในสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถทำใหม่ได้ โดยจะถืออันล่าสุดเป็นหลักค่ะ

3. หากจัดการส่งต่อความมั่งคั่งให้ผู้เกี่ยวข้องมีความสุขสบายตามควรแล้ว ส่วนที่เหลือก็สามารถบริจาคให้หน่วยงานหรือองค์กรการกุศล เพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไปได้ค่ะ

ท้ายที่สุดนี้ หากอยากได้ไอเดียดีๆเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน และชีวิต ก็ขอให้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้ต่อไปนะคะ