ไทยชนะ - หมอชนะ รวม 2 แอพฯ สู้โควิด-19

ไทยชนะ - หมอชนะ รวม 2 แอพฯ สู้โควิด-19

ในช่วงต้นของการระบาดโควิด-19 ประเทศไทยมีการใช้แอพฯ “ไทยชนะ” เพื่อประชาชนสแกน QR Code ก่อนเข้าพื้นที่ ขณะเดียวกัน เมื่อพบการระบาดเกิดขึ้น การสอบไทม์ไลน์กลับใช้เวลานานเนื่องจากผู้ป่วยจำไม่ได้ หรือในบางพื้นที่ไม่มีให้สแกนไทยชนะ

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มใช้งาน แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” เมื่อราวเดือนพฤษภาคม 2563 โดยเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนเพื่อรับ QR Code สำหรับสแกน เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยของร้านค้าที่มีการลงทะเบียนและปฎิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข สร้างมาตรฐานสุขอนามัยและความน่าเชื่อถือให้กับกิจการ/กิจกรรมนั้น ๆ

ขณะเดียวกัน ด้านของผู้ใช้บริการหรือประชาชนทั่วไป ก็ยังถือเป็นการเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานพื้นที่ชุมชน เพื่อใช้ระบบวิเคราะห์ผลจัดการข้อมูลผู้ใช้บริการ โดยสแกนผ่าน QR Code เพื่อเช็กอิน เช็กเอาท์ ลงทะเบียนผ่านเบอร์โทรศัพท์ และแจ้งเตือนผ่านทาง SMS หากมีผู้ป่วยโควิด-19 เคยอยู่ในพื้นที่ที่เช็กอิน ข้อดีคือสามารถบันทึกสถานที่ ระยะเวลาอยู่ในสถานที่ที่ใช้บริการ ช่วยสอบสวนไทม์ไลน์ของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ในการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ส่งผลให้ผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งปัจจุบัน แตะอยู่ที่หลักหมื่นราย ขณะเดียวกันการสอบสวนไทม์ไลน์ที่ผ่านมา พบว่า ใช้เวลานานเนื่องจากบางคนจำไม่ได้ หรือไปในที่ๆ ไม่มีให้เช็กอินไทยชนะ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำประชาชนโหลดแอพฯ “หมอชนะ” ซึ่งเป็นระบบบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง และหากเปิด GPS ให้เข้าถึงตลอดเวลา การทำงานของแอปฯ จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ แอพฯ “หมอชนะ” ถือเป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ”  โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้นโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก

161037269650

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ระบุว่า แอพฯ หมอชนะ เป็นเทคโนโลยีเหมือนในหลายประเทศทั่วโลกที่นำมาใช้ควบคุมการระบาด โดยช่วงต้นของการระบาดโควิด-19 ประเทศไทยมีการใช้งาน “ไทยชนะ” เพื่อสแกนก่อนเข้าพื้นที่ ข้อดี คือ เมื่อเกิดผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเข้าไปในพื้นที่ ก็สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร และมีการแจ้งเตือนให้ผู้ที่อยู่รอบข้างมาตรวจหาเชื้อได้

สำหรับ การประเมินความเสี่ยง โดย “หมอชนะ” มีการใช้งานมาตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดเมื่อปีที่แล้ว โดยขณะนั้น เน้นให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงของตนเอง แต่เวอร์ชั่นล่าสุดไม่ได้เน้นตรงจุดนั้น เนื่องจากทำให้ระบบซับซ้อนเกินไปและประโยชน์ค่อนข้างน้อย จึงปรับไปเน้นเรื่องของการติดตาม เมื่อพบผู้ติดเชื้อก็สามารถหาไทม์ไลน์และค้นหาผู้สัมผัสให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่าเราเดินทางไปจุดใดบ้างและสัมผัสกับใครบ้าง

“หมอชนะ” มีความแตกต่างจาก “ไทยชนะ” คือ สามารถบอกได้ว่าเราเดินทางไปจุดใดบ้าง เมื่อเกิดโรคระบาดหรือมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาจะตรวจสอบได้ว่าผู้ติดเชื้อคนนั้นไปสัมผัสกับใคร ไปพบใครบ้างและจะมีข้อความไปเตือนให้มารายงานตัว ทำให้ทราบไทม์ไลน์ได้แม่นยำมากขึ้นระดับนาที จากเดิมที่แพทย์ใช้การสัมภาษณ์ผู้ป่วย แม้จะไม่ปิดบังข้อมูลแต่อาจจำไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหา

“หากมีการปกปิดข้อมูลก็จะใช้เวลาสอบไทม์ไลน์นานมาก ดังนั้น หากมีแอพพลิเคชันนี้ ที่ระบุข้อมูลได้แม่นยำ ระบบจะประมวลผลเองว่ามีการสัมผัสกับใครในช่วงไหน ทำให้ระบบควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดี คร. กล่าว

161037269514

ทั้งนี้ การทำงานของ “หมอชนะ” จะคอยส่งบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ระบุตำแหน่งของผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถตรวจพบความเสี่ยง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และ แจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดโควิด-19 โดยการใช้งานเริ่มจากให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพ “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน และตอบคำถามประเมินอาการของตัวเอง โดยจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ “สีเขียว” สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

“สีเหลือง” สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา “สีส้ม” สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที และ “สีแดง” สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

แอพฯ ถูกออกแบบไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพของผู้ใช้งานและระมัดระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากจะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่เกี่ยวข้อง จำเป็น เกี่ยวข้อง และพอเพียงต่อขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับคำแนะนำวิธีการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง โดยการเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังโทรศัพท์มือถือและบันทึกการเดินทางของผู้ใช้งาน ให้สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนและคำแนะนำในการปฏิบัติตนในกรณีที่ผู้ใช้งานมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย ดังนั้น การลงทะเบียนใช้แอพฯ จึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous)

ยิ่งกว่านั้น คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูล ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที อีกทั้งการโค้ดแอปยังมีลักษณะเป็น ‘โอเพ่นซอร์ส (Open Source)’ เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่นๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย

และหากมีการใช้ร่วมกับการสแกน QR Code “ไทยชนะ” เพื่อเช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรค และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อให้การสอบสวนโรคง่ายขึ้น

161038175414