เปิดฟลอร์ “สมานฉันท์” โจทย์แรก ต้องดึงคู่ขัดแย้งเข้าร่วม

เปิดฟลอร์ “สมานฉันท์” โจทย์แรก ต้องดึงคู่ขัดแย้งเข้าร่วม

กรรมการสมานฉันท์ ได้ฤกษ์เปิดตัว กลางเดือนมกราคมนี้ โดยก่อนการศึกษา เพื่อหาแนวทางปรองดอง "นักสันติวิธี" ฐานะกรรมการสมานฉันท์ มองโจทย์แรก คือ ดึงขั้วขัดแย้งร่วมวง

     คณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มี “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงระดมพล ใกล้ได้ฤกษ์เปิดตัวแล้ว กลางเดือนมกราคม นี้

     หลังจากใช้ความพยายามระดมฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยคิด รูปแบบของกรรมการสมานฉันท์ ที่มี 21 คน จาก 7 ฝ่าย และหาตัวแทนเข้าร่วม นานเกือบ 3 เดือน นับจากวันตั้งต้นคิด ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563

     สำหรับ ตัวแทนที่ส่งคนเข้าร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ ตัวแทนรัฐบาล คือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม และ เทอดพงษ์ ไชยนันท์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล คือ สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.ภูมิใจไทย และ นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ตัวแทนส.ว. คือ ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ส.ว.สายข้าราชการ และ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.สายสังคม

     ตัวแทนจาก ที่ประชุมคณะกรรมการอธิบการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คือ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้แก่ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, อ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ.สมศักดิ์ รุ่งเรือง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก

     ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ คือ รศ.ดร.นิรุต ถึงนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

     รวมที่ยืนยันตัวตน 11 คน จากกรรมการทั้งสิ้น 21 คน

     ส่วนอีก 10 คนนั้น คือ ตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 คน , ตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุม ผู้เห็นต่างจากรัฐบาล 2 คน ซึ่ง 2 ฝ่ายนี้ ไม่ตอบรับเข้าร่วม

     ตัวแทนจากฝ่ายชุมนุมที่เห็นด้วยกับรัฐบาล จำนวน 2 คน, และ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จำนวน 4 คน

     และหากไม่ผิดพลาดอะไร หลังจากที่ “ชวน” ลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ กรรมการฯ ต้องนัดประชุมกันนัดแรก โดยมีวาระสำคัญ คือ การเลือกประธานกรรมการ รวมถึงรองกรรมการ และตำแหน่งอื่นที่เห็นควร และ การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ซึ่ง “นายชวน” ขอโควต้า 1 ที่ให้สำหรับสื่อมวลชน

161028849491

     นอกจากนั้น คือ การวางกรอบภารกิจ รวมถึงการตั้งโจทย์เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง เพื่อสร้างความสมานฉันท์ และปรองดอง

     ต่อเรื่องนี้ “อาจารย์สุริชัย” ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ เพื่อแสดงความเห็นถึงแนวทางปรองดอง ตามโจทย์ที่หลายฝ่ายต้องการ คือ คลี่คลายปมขัดแย้งทางการเมือง

     ด้วยประสบการณ์ฐานะนักวิชาการด้านสันติวิธี มองว่า โจทย์แรกที่สำคัญ คือการให้เวทีสมานฉันท์ เป็นสะพาน หรือ เป็นตัวเชื่อมที่ให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน โดยหาแนวทางที่ทำให้ “ขั้วตรงข้ามรัฐบาล” เข้าร่วม

     “ต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่ากรรมการสมานฉันท์ไม่ใช่กลไกวิเศษที่ตั้งแล้วจะทำให้ความขัดแย้งหายไป แต่ต้องมีกระบวนการและแนวทางที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน จริงใจ และเชื่อมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ขณะเดียวกันสถาบันหลัก คือ สถาบันนิติบัญญัติ, ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายตุลาการ ต้องตระหนักและยอมรับความจริงว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่กล่าวโทษว่าอีกฝ่ายคือตัวปัญหา เป็นศัตรู หรือ เป็นคนชังชาติ ซึ่งสถานการณ์รวมถึงบริบทตอนนี้ไม่ง่าย”

     อ.สุริชัย มองด้วยว่า กรรมการสมานฉันท์ ต้องช่วยสร้างบรรยากาศ ให้ทุกฝ่ายเดินทางร่วมกันได้ โดย “ประธานรัฐสภา” ต้องช่วยให้กรรมการชุดนี้ ทำงานอย่างอิสระ ไม่มีฝ่ายใดแทรกแซง เพื่อให้เกิดการเชื่อมั่นจากสังคม เกิดความไว้วางใจ และกลายเป็นแนวร่วมที่จะช่วยลดช่องว่าง เช่น ความตื่นตัวทางการเมืองระหว่างคนวัยหนุ่มสาว กับ คนรุ่นเก่า ช่องว่างความเชื่อมั่นไว้วางใจที่กลายเป็นวิกฤตศรัทธา

161028871986

     "นอกจากนั้นกรรมการต้องได้พื้นที่พูดคุย เพื่อนำไปสู่บทสรุป ดังนั้นการพูดคุยต้องให้สิทธิการพูด ไม่ใช่หาเรื่องจับเขาอย่างเดียว หรือทำให้อีกฝ่ายถูกมองว่าเป็นอาชญากร ซึ่งแนวทางสันติวิธีต้องแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยอำนาจ บังคับใช้กฎหมาย แม้การใช้กฎหมายจะแก้ปัญหาได้ แต่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า และทำให้เกิดความเงียบ ซึ่งความเงียบที่เกิดขึ้น คือ การสร้างช่องว่างที่ทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นกรรมการมีหน้าที่อย่างสำคัญ นอกจากสร้างบรรยากาศ คือ การประคับประคองให้เกิดความเข้าใจ เพื่อรวมเป็นพลังแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ให้การเมืองไทยมีสภาพเหมือนสาละวันเตี้ยลง” อ.สุริชัย ระบุ

     เมื่อถามถึงทางที่จะทำให้การทำงานของกรรมการ บรรลุเป้าหมาย “นักวิชาการด้านสันติวิธี” มองว่า กรรมการต้องเด็ดเดี่ยวร่วมกันที่จะหลุดพ้นวงจรความขัดแย้ง นอกจากนั้น สถาบันหลัก ต้องปรับตัว เพื่อสร้างศรัทธา

161028972291

     ขณะที่แนวทางการสร้างบรรยากาศ โดยไม่ใช่กฎหมาย แต่ที่ผ่านมาพบคู่ขัดแย้งระดับแกนนำถูกแจ้งความดำเนินคดี ดังนั้นจุดเริ่มต้น คือ ต้อง Set Zero หรือไม่ “อ.สุริชัย” ตอบว่า “อาจจำเป็น”

     และในบทสรุปของบทสัมภาษณ์นี้ ก่อนที่ “อ.สุริชัย” ​จะเร่ิมต้นทำงานในฐานะกรรมการสมานฉันท์ อีกครั้ง คือ “1.ต้องสร้างบรรยากาศพูดคุย 2.สร้างพื้นที่ความหวัง 3. ทุกฝ่ายต้องมองเป้าหมายเดียวกัน และ4.สถาบันหลักต้องปรับตัว”.