‘หุ้นโรงพยาบาล’พ้นโคม่า ยอดตรวจโควิดพุ่ง-เร่งจองซื้อวัคซีน

‘หุ้นโรงพยาบาล’พ้นโคม่า ยอดตรวจโควิดพุ่ง-เร่งจองซื้อวัคซีน

“ตลาดหุ้นไทย” เริ่มต้นออกสตาร์ทปีใหม่ได้อย่างสวยงาม โดยยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง จนยืนทะลุแนวต้านสำคัญ 1,500 จุด ได้สำเร็จ แม้ว่าจะยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรก

แถมยังกระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนต้องมีการประกาศยกระดับ 28 จังหวัด ขึ้นเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พร้อมใช้มาตรการเข้มในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาด ตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แ่ต่อีกมุมความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ ที่เวลานี้รายละเอียดต่างๆ ออกมาแล้ว ช่วยจุดประกายความหวังว่าในไม่ช้าเราน่าจะควบคุมโรคระบาดได้ สถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลาย

โดยวัคซีนที่จะนำเข้ามาชุดแรกเป็นวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จากจีน โดยในเดือน ก.พ. จะเข้ามา 2 แสนโดส ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขด่านหน้า รวมถึงอสม.และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด จำนวน 2 หมื่นคน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 1.8 แสนคน

ปลายเดือน มี.ค. เข้ามาอีก 8 แสนโดส โดยจะฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มแรกจำนวน 2 แสนโดส อีก 6 แสนโดสฉีดในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุดและชายแดนภาคตะวันตกและภาคใต้ แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า รวมทั้งเจ้าหน้าที่อสม. จำนวน 6 หมื่นคน และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 5.4 แสนคน

และในเดือน เม.ย. จะเข้ามาอีก 1 ล้านโดส โดยฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มสอง 6 แสนคน และอีก 4 แสนโดส สำรองไว้กรณีที่มีการระบาด ส่วนในเดือน พ.ค. จะมีวัคซีนของบริษัทแอสตราเซนเนก้าที่เราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำมาผลิตในประเทศเริ่มทยอยออกมา

นอกจากนี้ นายกฯ สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้คนไทยฟรี 70 ล้านโดส หรือ ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญช่วยหนุนตลาดสินทรัพย์เสี่ยงคึกคักตั้งแต่ต้นปี

“หุ้นโรงพยาบาล” ช่วงนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นรับ “ธีมโควิด” เพราะหลังมีการระบาดรอบใหม่ ทำให้มีการตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักๆ แล้วก็มีทั้งที่เข้ามารับการตรวจด้วยตนเอง โดยมีค่าใช้จ่ายราวๆ 4,000 บาท และที่โรงพยาบาลออกไปตรวจในพื้นที่ต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากทางการ

รวมทั้ง ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่รัฐกำหนดให้เข้ามาตรวจหาเชื้อ ซึ่งในส่วนนี้รัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลราวๆ 2,000 บาทต่อราย เรียกว่าเวลานี้การตรวจโควิดกลายเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของโรงพยาบาลต่างๆ ไปแล้ว

นอกจากนี้ หลายโรงพยาบาลยังเปิดให้บริการเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine - AHQ) รวมทั้งส่งบุคลากรเข้าไปช่วยงานตามโรงแรมที่เข้าร่วมเป็นสถานกักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine – ASQ)

อีกช่องทางสร้างรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาล คือการจับเตรียมวัคซีนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับประชาชน โดยมีข่าวว่าขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแหล่งติดต่อจองซื้อวัคซีนเข้ามาจำหน่าย เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไฟเขียวเมื่อไหร่ก็พร้อมนำเข้ามาทันทีเพื่อฉีดให้กับประชาชนที่สนใจ

ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า การล็อกดาวน์บางส่วนในหลายพื้นที่หลังโควิดกลับมาระบาดรอบใหม่ จะส่งผลกระทบแค่ชั่วคราวจต่อกลุ่มโรงพยาบาล เพราะเมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมา คนไข้ทั้งชาวไทยและต่างชาติจะกลับเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

มองว่าธุรกิจโรงพยาบาลในระยะยาวยังแข็งแกร่งจากสังคมสูงวัยที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จำนวนคนไข้ประกันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยจะเพิ่มจาก 4.15 แสนล้านบาทในปี 2561 เป็น 1.407-1.825 ล้านล้านบาทในปี 2573