'เออาร์-โฮโลแกรมส์'ตัวช่วยธุรกิจไมซ์เอเชีย

'เออาร์-โฮโลแกรมส์'ตัวช่วยธุรกิจไมซ์เอเชีย

'เออาร์-โฮโลแกรมส์'ตัวช่วยธุรกิจไมซ์เอเชีย โดยการใช้เทคโนโลยีเออาร์จะทำให้ไร้ขีดจำกัด มูลค่าทางการตลาดจะเปลี่ยนไปและการใช้แพลตฟอร์มสื่อสารสองทางจำเป็นในการทำธุรกิจนี้

ขณะที่การระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ยังคงทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศไม่ฟื้นตัวเต็มที่ บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติแคนาดารายหนึ่งดสนอแพลตฟอร์มแก่บริษัทต่างๆให้ใช้ Augmented Reality(เออาร์)และโฮโลแกรม ที่จะช่วยสนับสนุนประสบการณ์การพบปะหรือการประชุมเสมือนจริง

เน็กซ์เท็ค เออาร์ โซลูชัน จับมือเป็นหุ้นส่วนกับโคเอ็กซ์ บริษัทให้บริการด้านการจัดประชุมและจัดนิทรรศการรายใหญ่สุดในเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ถือเป็นการเริ่มเปิดตัวแพลต์ฟอร์มในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งธุรกิจจัดการประชุมขององค์กร (Meeting),การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) การจัดการประชุมนานาชาติ( Conventions) และการจัดการแสดงสินค้าและนิทรรศการ(Exhibitions)ซึ่งเรียกรวมกันว่าธุรกิจไมซ์เติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่าในอเมริกาเหนือและยุโรป ประกอบกับได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล
“ถ้าคุณใช้เทคโนโลยีเออาร์ การทำธุรกิจของคุณจะไร้ขีดจำกัด มูลค่าทางการตลาดของคุณจะเปลี่ยนไป การใช้แพลตฟอร์มอินเตอร์แอคทีฟเป็นเรื่องจำเป็นในการทำธุรกิจไมซ์ ระบบดิจิทัลไม่ได้แค่ช่วยสนับสนุนให้เกิดอีเวนท์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่หลอมรวมข้อดีของทั้งหมดเข้าด้วยกัน” หยู บูน ลิ้ม ประธานและกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเน็กซ์เทค ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าว

เน็กซ์เทค ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แคนาดาเป็นที่รู้จักอย่างดีในตลาดอเมริกาเหนือและตลาดยุโรปแต่การจับมือเป็นพันธมิตรกับโคเอ็กซ์ ถือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจครั้งแรกของบริษัทในภูมิภาคนี้

ลิ้ม เชื่อว่าผู้บริโภคในตอนเหนือของเอเชีย สิงคโปร์ และออสเตรเลียปรับตัวรับเทคโนโลยีได้ดีกว่าและเร็วกว่าผู้บริโภคในยุโรปและอเมริกา โดยที่ผ่านมา เน็กซ์เทค ได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจใหม่ๆกับมาเลเซีย ฟิลิปินส์ และสิงคโปร์ อีกทั้งเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ว่าจ้างผู้คร่ำหวอดในวงการไมซ์ในจีนมาเป็นผู้อำนวยการระดับอาวุโสด้วย
ลิ้ม เล่าว่าเทคโนโลยีของบริษัทจะได้รับการติดตั้งไว้ตามงานประชุม และห้องโถงจัดนิทรรศการเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์“ไฮบริด” ตัวอย่างเช่น แทนที่จะใช้พนักงานประจำการประชุมที่จัดขึ้นในแต่ละครั้ง บริษัทที่เป็นลูกค้าสามารถใช้แพลตฟอร์มของเน็กซ์เทคสร้างโฮโลแกรม ทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาถึงงานได้ที่บูธ

ผู้ใช้เพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ดและโฮโลแกรมจะปรากฏขึ้นมา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าลดจำนวนพนักงานในการประชุมนั้นๆได้อย่างดี แถมยังเป็นการปฏิบัติตามกฏการสร้างระยะห่างทางสังคมด้วย อีกทั้งในการประชุมแต่ละครั้ง แพลตฟอร์มของเน็กซ์เทคยังจัดทำบรรยายใต้ภาพและแปลเป็นภาษาต่างๆ 64 ภาษา รวมทั้ง ภาษาจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี

นอกจากนี้ ลิ้ม ยังกล่าวด้วยว่า “แพลตฟอร์มของเน็กซ์ เทคยังถูกนำไปใช้ตามงานอีเวนท์เสมือนจริงอย่างเต็มรูปแบบ อานิสงส์จากเทคโนโลยีเออาร์ ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้สามารถดูรถใหม่ได้บนสมาร์ทโฟน ราวกับว่าผู้ใช้คนนั้นเข้าไปอยู่ในงานออโต้โชว์ เทคโนโลยีนี้ อนุญาตให้ผู้ใช้เห็นรถขนาดเท่าของจริงและอนุญาตให้เข้าไปในรถ รวมทั้งจองการทดสอบรถในสถานที่ต่างๆที่ผู้ใช้อยู่ได้ด้วย ซึ่งเทคโนโลยีสื่อสารสองทางแบบนี้หาไม่ได้ในเว็บการประชุมอย่างซูม แน่นอน”

ลิ้ม บอกว่า ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องอยู่ที่การประชุมตลอดทั้งวันอีกต่อไป และสามารถขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ได้หลายครั้ง เยี่ยมชมบูธต่างๆได้อย่างเต็มที่ และกลับบ้านหรือไปออฟฟิศ หรือกลับมาร่วมการประชุมได้อีก

เน็กซ์เทค ก่อตั้งเมื่อปี 2561 เริ่มต้นด้วยการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่แพลตฟอร์มเออาร์ของบริษัท ซึ่งทำงานแบบบูรณาการกับการการบริการต่างๆ รวมทั้งช็อปปิฟาย ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของแคนาดา อนุญาตให้นักช็อปได้เห็นสินค้าในห้องของตัวเองก่อนซื้อ ถือเป็นการเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับสินค้าให้แก่ลูกค้า

ราคาหุ้นของเน็กซ์เทคทะยานขึ้นมากในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19และราคาหุ้นในปัจจุบันสูงกว่าปีที่แล้วประมาณสี่เท่า ทุกวันนี้ เน็กซ์เทคไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ธุรกิจไมซ์อย่างเดียว แต่ขยายธุรกิจเข้าไปในด้านการศึกษา เสนอประสบการณ์ใช้ห้องสมุดแก่นักเรียนที่ต้องอยู่แต่ในบ้านช่วงล็อกดาวน์ สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้รายได้ในช่วงไตรมาสสามนับจนถึงเดือนก.ย.ของบริษัทขยายตัวเกือบ 200% เป็น 4.7 ล้านดอลาร์

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลกลงทุนในอุตสาหกรรมไมซ์อย่างหนัก ด้วยความหวังว่าอุตสาหกรรมนี้จะช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจ

“อัลไลด์ มาร์เก็ต รีเสิร์ท” บริษัทวิจัยด้านการตลาด มีฐานดำเนินงานอยู่ในสหรัฐ ระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สร้างรายได้ให้แก่ภูมิภาคในปี 2560 คิดเป็นมูลค่า 229,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดเพราะการเข้าถึงเทคโนโลยี การดึงดูดนักลงทุนของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ และการมีอิทธิพลอย่างมากของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง

ตลาดการประชุมและการประชุมนานาชาติ (ไอซีซีเอ)ระบุว่า เมื่อปี2562 มีการประชุมทางธุรกิจทั่วโลกจำนวน 13,254 ครั้งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเพิ่มขึ้น 26% จากปี 2553แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกจะทำให้อุตสาหกรรมการประชุมทั่วโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ลิ้ม ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการทาบทามให้เป็นพันธมิตรจากบริษัทหลายแห่ง แต่มาจบลงที่โคเอ็กซ์ เพราะโคเอ็กซ์มีจุดแข็งทั้งในมิติของความสามารถด้านการผลิตและการเข้าถึงลูกค้า