เปิด 5 มาตรการค้นหาแหล่งแพร่เชื้อ 'โควิด-19' เข้มทุกพื้นที่

เปิด 5 มาตรการค้นหาแหล่งแพร่เชื้อ 'โควิด-19' เข้มทุกพื้นที่

ศบค. แถลงวันนี้ 7 ม.ค. 2564 เปิดข้อกำหนดและมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิด อันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค "โควิด-19"

วันนี้ (7 มกราคม 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแถลงข่าวของ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา มีการให้รายละเอียดในประเด็น ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ในหมวดหัวข้อ "การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค"

โดยได้ระบุถึงหลักการดำเนินการไว้ว่า 

ให้ดำเนินการปราบปรามและลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศ รวมทั้งการปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่ออำนวยหรือสมรู้ร่วมคิดให้มีการเปิด "บ่อนการพนัน" ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

160999898211

รวมถึงได้ออกมาตรการ 5 ข้อ เพื่อการค้นหา ติดตาม และแก้ไขผู้ที่เป็นต้นต่อการแพร่ระบาด "โควิด-19" เอาไว้ ดังนี้  

1. กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมาย

2. แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการและเสนอมาตรการเบื้องต้นและเสนอมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก

3. ให้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.), หน่วยงานความมั่นคง, เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปฏิบัติการกวดขันสอดส่องและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน

4. สนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของภาคประชาชน หากพบเห็นการกระทำหรือการปล่อยปละละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง

5. แจ้งเบาะแสมาที่นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก กฎหมายน่ารู้ โดยสำนักกฎหมาย ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ "บทลงโทษ" สำหรับผู้ที่กระทำความผิด หรือไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค หรือขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ก็จะมีความผิดทางอาญา 

โดยตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดบทกำหนดโทษแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม ฝ่าฝืน ขัดขวาง ไม่อำนวยความสะดวก หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ ยกตัวอย่างที่สำคัญ ได้ดังนี้

161000018885

1. ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มาให้ถ้อยคำหรือแจ้ง ข้อเท็จจริง หรือไม่ทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือไม่จัดส่งเอกสาร หรือหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 49 ประกอบกับ มาตรา 45 (1))

2. ผู้ใดที่เกี่ยวข้องที่ทราบว่ามีการระบาดของโรคติดต่ออันตรายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าบ้านหรือผู้ควบคุม ดูแลบ้าน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล ผู้ทำการชันสูตรหรือ ผู้รับผิดชอบในสถานที่ที่ได้มีการชันสูตร เจ้าของหรือผู้ควบคุม สถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ที่พบผู้ที่เป็นโรคติดต่อ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อดังกล่าว แล้วไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท (มาตรา 50)

3. ผู้ใดที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ อันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เคยเป็นผู้สัมผัสโรคหรือเป็น พาหะ แต่ไม่มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตร ทางการแพทย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท (มาตรา 51 ประกอบกับมาตรา 34 (1)) เป็นต้น