นักไวรัสวิทยา ยืนยัน วัคซีน‘โควิด’ไทย 'มาช้า แต่ชัวร์ ' 

นักไวรัสวิทยา ยืนยัน  วัคซีน‘โควิด’ไทย 'มาช้า แต่ชัวร์ ' 

การฉีดวัคซีนมีรายละเอียดที่หลายคนควรรู้ นักไวรัสวิทยาแถวหน้าคนนี้อยากให้คนไทยรู้ว่า วัคซีนที่ทีมนักวิจัยสวทช.ผลิตทำอย่างไร และวัคซีนแต่ละบริษัทในต่างประเทศมีประสิทธิผลอย่างไร  

"ช่วงแรกที่ไวรัส Covid-19 ระบาด ปลายปีพ.ศ.2562 ที่ประเทศจีน ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอมีผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อจากคนจีนในประเทศไทย เราก็เริ่มคิดแล้วว่ามันต้องมาแน่ๆ เนื่องจากแล็ปของเรา ทำเรื่องไวรัสโคโรน่าหาสาเหตุที่ทำให้หมูท้องเสียและเป็นปัญหาในฟาร์มสุกรไทยมากว่า 10 ปีแล้ว เราทำวัคซีนตัวนี้อยู่ 

160999957524

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา

เขาก็เห็นว่าเรารู้จักไวรัสโคโรน่าดี ก็เลยอยากจะให้เราทำวัคซีน แต่การเอาไวรัสตัวนี้มาทำ จะต้องอยู่ในห้องปฏิบัติการที่ควบคุมพิเศษป้องกันการหลุดรอดออกมาสู่ภายนอก ซึ่งหน่วยงานเรายังไม่มี เราได้ของบไปช่วงเกิดไข้หวัดนก ก็ไม่ได้ จนเกิดโรคซาร์ส, ไข้หวัดใหญ่ 2009, โควิด-19 มา ก็ยังไม่ได้ ทีมวิจัยจึงนำสิ่งที่เรามีอยู่มาคุยกัน แล้วพบว่าเราจะทำวัคซีน 3-5 ประเภท" ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย นวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงที่มาของการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19 ในไทย

 

  •  จุดเริ่มต้นวัคซีน Covid-19 ในไทย

"เราพบว่าในประเทศไทยมีหลายกลุ่มที่ทำวัคซีนตัวนี้อยู่ มีตัวไหนที่จะทำเหมือนกัน เราก็ให้เขาทำไป เราไม่ทำ จากวัคซีนโควิด 5 ประเภทเหลือ 3  ประเภทที่ สวทช.จะทำ ประเภทแรกคือ วัคซีน Two In One เป็นการโคลนยีน เราสร้างไวรัสไข้หวัดใหญ่แล้วปรับเปลี่ยนพันธุกรรมให้มียีนของไวรัส Covid-19 อยู่ในนั้นด้วย เป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิด เพราะสองตัวนี้ติดจากทางเดินหายใจเหมือนกัน เมื่อเราเอาวัคซีนตัวนี้มาใช้ ก็จะสร้างภูมิ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทั้งไข้หวัดใหญ่และ ไวรัส Covid-19

ประเภทที่สอง เป็น Adenovirus ที่เราฝากโปรตีนของเราใส่เข้าไปในไวรัสอีกตัวหนึ่ง เหมือนของ AstraZenaca แต่ของเขาใช้ไวรัสของลิงชิมแปนซี เราไม่มีลิงชิมแปนซีในประเทศไทย ก็ใช้อะดีโนไวรัส(Adenovirus) ของคน

หน้าตาวัคซีนของเราจะเหมือนวัคซีน Sputnik ของรัสเซีย เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสามารถเพิ่มปริมาณได้และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี สามารถนำไปใช้ร่วมกับวัคซีนของ Astra Zenaca ได้ กรณีที่ฉีดเข็มแรกของเขาไปแล้ว ก็ใช้เข็มที่สองของเรา เพื่อจะเพิ่มปริมาณวัคซีนให้มีใช้อย่างทั่วถึงในประเทศ"

วัคซีน 2 ประเภทแรก มีการใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ การส่งต่อไปให้โรงงานวัคซีนในประเทศไทยผลิตออกมายังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ไม่ทันสมัยเพียงพอ

"วัคซีน 2 ตัวแรก เราทำต้นแบบออกมาแล้ว ส่งไม้ต่อไปให้โรงงานในประเทศไทยรับไปผลิต แต่โรงงานวัคซีนที่เรามีอยู่ ไม่รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราต้องมาตั้งโจทย์ใหม่ ดูว่าโรงงานที่ไม่พร้อม เขามีถังเลี้ยงเซลล์ มีระบบเลี้ยงเซลล์ได้ เราก็สร้างเซลล์ขึ้นมาหนึ่งเซลล์ใส่ยีนไวรัส Covid-19 เข้าไป แล้วก็ใส่ยีนไวรัสอีกตัวหนึ่งเข้าไป เซลล์นี้จะสร้างอนุภาคออกมาได้ตลอดเวลา เป็นไวรัสเสมือน ที่ข้างในไม่มีอนุภาคไวรัส สามารถเพิ่มผลผลิต นำไปใช้จริงได้ และผลิตจากโรงงานวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย กลายเป็นวัคซีนประเภทที่สาม

วัคซีนไวรัสเสมือน (Virus-like particle :VLP) จะมีหน้าตาภายนอกเหมือนไวรัสเลย ดูในกล้องแยกไม่ออกว่า ตัวไหนคือไวรัสตัวจริง ต้องผ่าออกมาดู ข้างในตัวจริงจะเป็นสารพันธุกรรมเต็มไปหมด เมื่อติดในคนแล้วสารพันธุกรรมเหล่านี้จะเติบโตต่อไป แต่ไวรัสเสมือน ผ่าออกมาแล้วข้างในว่างเปล่า เป็นแค่เปลือกของไวรัส เมื่อฉีดวัคซีนตัวนี้เข้าไป ร่างกายจะแยกไม่ออกว่านี่ไวรัสเสมือนหรือไวรัสตัวจริง" ดร.อนันต์ เล่า

 

  • สถานการณ์วัคซีนในปัจจุบัน

"ในระยะสั้น เราก็อาศัยวัคซีนของ AstraZenaca ที่เรานำเข้า แต่ใช้ได้แค่ครั้งเดียว เพราะร่างกายเราจะเริ่มมีภูมิต่อ adenovirus แล้ว ถ้าโควิด 19 ระบาดในระยะที่ 4-5-6 ต่อไป เราต้องฉีดวัคซีนตัวอื่น เพราะคนที่รับวัคซีนตัวนี้ไปแล้ว จะไม่สามารถฉีดซ้ำอีก เพราะภูมิคุ้มกันเข็มแรกจะไปยับยั้งวัคซีนเข็มที่ 2-3-4 ให้ทำงานลดลงไปเรื่อยๆ จำเป็นจะต้องมีวัคซีนตัวอื่น มารองรับ เพื่อป้องกันการระบาดโควิด 19 ในระยะยาวที่ยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาแค่ปีนี้ปีเดียว”

      อาจารย์อนันต์ บอกว่า เป็นข่าวดีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณมาช่วยเหลือการผลิตวัคซีนของไทยแล้ว  

"เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ครม.อนุมัติเงินกู้มาให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เอามาบริหารจัดการเรื่องทำวัคซีน เราได้งบประมาณก้อนนี้ มาทำให้การผลิตวัคซีนเร็วขึ้นเยอะมาก เราได้ทดลองในสัตว์ทดลองไปบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่เคยเอาวัคซีนทดลองในหนูแฮมสเตอร์ที่มีการปรับพันธุกรรมให้เป็นโควิดแล้ว

161000004029

ห้องปฏิบัติการ

เราจะต้องฉีดวัคซีนของเรา แล้วก็ใส่ตัวไวรัส Covid-19 เข้าไป เพื่อดูว่าจะต้านได้ไหม ซึ่งใช้งบประมาณสูง เนื่องจากหนูทดลองราคาแพง ต้องสั่งหนูแฮมสเตอร์จากเมืองจีนหรืออเมริกามา แล้วต้องมีห้องทดลองเลี้ยงหนูที่สามารถฉีดไวรัสโควิดลงไปได้ ซึ่งตอนนี้มีแค่ 2 ที่ในประเทศไทยเท่านั้น คือที่มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันทหารของอเมริกาในประเทศไทย ทำให้คิวการตรวจสอบยาว ผลการทดลองก็จะออกมาช้า แต่เราจะเร่งให้เร็วที่สุด เพื่อเอาผลการทดลองไปให้ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ตรวจสอบ

จากนั้นก็ต้องเอาผลนี้ ไปทดสอบกับหนู กระต่าย หรือในสัตว์ทดลองอื่นๆ ต่ออีก เพื่อดูว่า ถ้าใส่เข้าไปในปริมาณเยอะๆ จะมีอาการเป็นพิษ อาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะทาง อย.จะไม่ยอมให้เอาวัคซีนนี้ไปฉีดในคนเด็ดขาด ถ้าผลในสัตว์ทดลองไม่มีการยืนยันว่าปลอดภัยจริงๆ 

และเมื่อทางอย. ยืนยันว่าปลอดภัย เราก็สามารถทดลองในมนุษย์ โดยการหาอาสาสมัคร แล้วดูผลว่ามีความปลอดภัย มีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในคนได้ดี เราก็เอาข้อมูลนี้ไปอ้างอิง เปรียบเทียบกับข้อมูลของต่างชาติได้"

 

  • อนาคตของวัคซีนไทย

"ในเรื่องของการกลายพันธุ์ที่หลายคนเป็นห่วง ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง หนึ่ง.คนที่ได้รับวัคซีนต้องฉีด 2 เข็ม ไม่ใช่ฉีดเข็มแรกแล้วไม่ฉีดต่อ เพราะภูมิคุ้มกันจากเข็มแรก จะเข้าไปจับไวรัสแบบอ่อนๆ หลวมๆ ทำให้ไวรัสเปลี่ยนตัวเองได้ และการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ถ้าไม่มีการฉีดเข็มที่สอง

เราต้องการวัคซีนที่แข็งแรงจับไวรัสได้ ทำลายให้ตายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ให้เวลามันปรับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่างสายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไวรัสอยู่ในร่างกายมานาน จนมันเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ และกลายพันธุ์ในที่สุด" อาจารย์อนันต์ เล่าและให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่ต่างประเทศผลิตจะมีความแตกต่างกัน

"ตัวที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดตอนนี้ คือ Pfizer/BioNTech และ Moderna สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ต้องฉีด 2 เข็มในระยะเวลา 3 อาทิตย์ ถ้านานกว่านั้น ภูมิจะตก ทำให้ไวรัสเริ่มไปต่อได้ แต่ข้อเสียคือ ในการเก็บรักษาต้องใช้อุณหภูมิต่ำมาก คือ -70 องศา

อันดับสองคือ วัคซีนจากจีน นวัตกรรม‘ไวรัสเชื้อตาย’ ของ Sinovac และ Sinofarm เขาเอาเชื้อไวรัสโควิดจากคนจีนมาเพาะเชื้อในถังใหญ่ๆ แล้วเอาสารเคมีชนิดหนึ่งใส่เข้าไปให้ไวรัสพวกนี้ตาย กลายเป็นเปลือกไวรัส แล้วเอามาบรรจุขวดฉีดได้เลย Sinofarm เอาไปทดสอบที่ UAE ที่ดูไบ ได้ผล 80 % ส่วน Sinovac ทดสอบที่ตุรกี ได้ผล 90 % ซึ่งประเทศไทยจะรับวัคซีนตัวนี้เข้ามา ข้อดีคือไม่ต้องแช่เย็น เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน

อันดับสามคือ  AstraZenaca ฉีดได้แค่ครั้งเดียว ถ้าไวรัสมีการกลายพันธุ์ หรือเปลี่ยนแปลงมาจากที่อื่น วัคซีนตัวนี้จะใช้ไม่ได้แล้ว จะต้องมีวัคซีนตัวอื่น อาจจะมีของจีน, ของ mRNA, ของ สวทช. ที่จะมารับไม้ต่อ"

ที่สำคัญ การผลิตวัคซีนแต่ละตัว ต้องมีการทดสอบแล้วว่า ปลอดภัยจริงๆ

"ความรู้ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ ทำให้เรามีความพร้อมกับการระบาดของไวรัสตัวใหม่ สามารถทำได้เร็วขึ้น แต่ถ้ารีบใช้วัคซีนเร็วเกินไป จะทำให้เกิดผลไม่ดีในระยะยาว ต้องทดลองให้ได้ผลดีจริงๆ ได้มาตรฐานถึงจะนำออกมาใช้ อย่างที่อเมริกามีฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 5 วัน มีอาการไม่สบายติดไวรัสโควิด เพราะเข้าใจผิดว่า ฉีดปุ้บ ป้องกันปั้บ ก็เอาตัวเองไปเจอเชื้อ ซึ่งฉีดวัคซีนแล้วจะต้องให้เวลาร่างกายพัก 1-2 อาทิตย์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาก่อน"

ดร.อนันต์ ยังบอกอีกว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศ ไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด

"นักท่องเที่ยวที่ฉีดแล้วจะไม่ป่วย เพราะเขาปล่อยไวรัสออกมาแพร่กระจายน้อยกว่าปกติหลายสิบเท่า แล้วถ้าเขาได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็มก็ไม่ต้องกลัวว่า จะกลายพันธุ์ เพราะภูมิคุ้มกันจะกดไว้ไม่ให้ไวรัสเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีคนฉีดเยอะ โอกาสแพร่ก็ยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ฉีด เพราะเราอยู่ท่ามกลางภูมิคุ้มกันหมู่ โอกาสป่วยก็จะน้อยลง

ที่สำคัญที่สุด อยากฝากคนไทยให้มีความเข้าใจว่า ข้อแรก...การมีวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าไวรัส Covid -19 จะหายไปในเวลาอันใกล้ เราต้องมีการป้องกันเหมือนเดิม ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ส่วนข้อที่สอง...คนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว ต้องไปรับวัคซีนเข็มที่สองให้ครบโดส อย่าปล่อยให้ไม่ครบจะทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องทำวัคซีนกันใหม่อีก

ข้อที่สาม... อยากให้กำลังใจนักวิจัยทีมไทยแลนด์ เราทำงานกันหนักมาก ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ พวกเราพยายามทำวัคซีนออกมาให้ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ไม่ให้มีผลเสีย มันอาจจะช้า แต่ก็ไม่ทำให้เราได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์"