พาณิชย์ ชี้ปี63“ เงินเฟ้อ” -0.85% ปีนี้ฟื้น1.2-1.7 %แต่ยังหวั่นโควิดกดดัน

พาณิชย์ ชี้ปี63“ เงินเฟ้อ” -0.85% ปีนี้ฟื้น1.2-1.7 %แต่ยังหวั่นโควิดกดดัน

พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อเดือนธ.ค.ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ผลจากราคากลุ่มอาหารสดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ ติดลบ 0.85 % คาดปี 64 เงินเฟ้อพลิกกลับเป็นบวก จับตาโควิด-19 รอบใหม่กดดัน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 2563 ติดลบ 0.27 % ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 เป็นผลมาจากราคาในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ จากความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศประกอบกับสินค้าเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ และสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าผ่านทางพิเศษ ปรับลดลงตามมาตรการของภาครัฐ อีกทั้งข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.19 %

  160984608514

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงในอัตราที่ดีขึ้น มาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.38% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น คือ สินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ 2.93% โดยเฉพาะเนื้อสุกร เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออก ผักและผลไม้ สูงขึ้น 6.43% โดยผัก สูงขึ้น 12.88% จากการสูงขึ้นของผักเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะพริกสด หัวหอมแดง และถั่วฝักยาว ผลไม้สด สูงขึ้น 0.83% ทั้งกล้วยน้ำว้า ทุเรียน องุ่น เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 3.28% เช่น น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 0.35 % รวมทั้งอาหารบริโภค-ในบ้าน 0.38% และอาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นเล็กน้อย 0.68% แต่สินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับราคาลดลง3.88% เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกลดลง ส่งผลให้สต็อกข้าวมีปริมาณมาก

ขณะที่ที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.24 % ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 3.07% ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลง 0.26 % เช่น ค่าทัศนาจร ค่าห้องพักโรงแรม หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.17% หมวดเคหสถาน ลดลง 0.12% ทั้งก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำยาล้างจาน และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลง 0.06% ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.11% ทั้งนี้ ในเดือนธ.ค..2563 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 216รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง67 รายการและ ลดลง139 รายการ

 

“เงินเฟ้อเดือนธ.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้นนอกเหนือจากราคากลุ่มอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังมีผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการได้ผลดีและได้รับความนิยมจากรัฐบาล รวมทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นดูจากการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อเดือนธ.ค.ยังไม่สะท้อนความกังวลกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งน่าจะมีผลในเดือนม.ค. “

 

สำหรับเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 0.85 % และเงินเฟ้อพื้นฐาน หักอาหารสดและพลังงาน สูงขึ้น 0.29 % โดยปี 63 เงินเฟ้อติดลบมาตั้งแต่เดือน มี.ค. มีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การหายไปของจำนวนนักท่องเที่ยว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม สนค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 64 จะเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-1.7 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7 % ภายใต้สมมติฐาน จีดีพีอยู่ที่ 3.5-4.5 % ราคาน้ำมันอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหว 30-32 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน การส่งออกที่ดีขึ้น ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้องจับตาการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ แม้ว่าจะมีข่าวดีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งในเดือนม.ค.คาดว่าเงินเฟ้อน่าจะติดลบอยู่ไม่เกิน 0.5 % จากผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ที่ทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายเพราะไม่มั่นใจว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด