LPP ผุด12มาตรการ รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่

LPP ผุด12มาตรการ รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่

ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ ประกาศมาตรการยกระดับการดูแลและการบริหารชุมชนในเครือแอล.พี.เอ็น. กว่า 200 ชุมชน รับมือการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท  ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัทบริหารจัดการชุมชนในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวว่า หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ไปทั่วประเทศ บริษัท ได้ประกาศ 12 มาตรการเพื่อยกระดับการดูแลชุมชนภายใต้การบริหารงานของ LPP ที่มีอยู่ทั้งหมดมากกว่า 200 ชุมชน จำนวนผู้อยู่อาศัยประมาณ 300,000 คน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน และมีส่วนในการตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โควิด-19 ในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้แนวคิด “ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” 


โดยนำเอาแนวทาง “D-M-H-T-T: Distancing, Mask Wearing , Hand Washing, Testing, Thai Chana” ของกระทรวงสาธารณสุข มาใช้ในการกำหนดมาตรการเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับสมาชิกในชุมชน โดย 12 มาตรการ ประกอบด้วย 

1. การแบ่งทีมงานบริหารจัดการให้ดูแลชุมชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง 2. การบริหารจัดการพัสดุ โดยมีการคัดแยก ตรวจสอบ และส่งมอบ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ 3. การคัดกรองผู้เข้าโครงการ 4. ควบคุมหรืองดให้บริการในพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาด 5. การลดการสัมผัสในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยการเปิด application LPN Bill Payment เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเงินสด

6. การรับ-ส่งอาหารและสิ่งของ มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับรับ-ส่งอาหารในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและเว้นระยะห่างระหว่างผู้ส่งอาหารและผู้พักอาศัย 7. การคัดแยกขยะปนเปื้อน โดยเพิ่มถังขยะติดเชื้อ เพื่อใช้สำหรับการทิ้งขยะปนเปื้อน อาทิ หน้ากากอนามัย 8. การเว้นระยะห่าง (Social Distancing) จัดพื้นที่การให้บริการในสำนักงานนิติบุคคลโดยเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า  1 เมตร และทุกพื้นที่ในชุมชน9. มาตรการด้านความสะอาดและความปลอดภัย ลิฟท์โดยสารและจุดสัมผัสต่าง ๆ 10. การฉีดพ่นเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส ในพื้นที่ส่วนกลาง 11. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ LPN Connect 12. เข้มงวดทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิ และการดูแลพื้นที่ส่วนกลางอย่างเข้มงวดเพื่อลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ของชุมชน 


 นางสาวสมศรี กล่าวว่า LPP ได้ออกแบบการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีระบบสั่งการแบบ Call Tree เพื่อให้การสั่งการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมี “ทีมฉุกเฉิน” เป็นทีมที่เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่กรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลแจ้งมายังทีมบริหารว่า พบผู้ติดเชื้อในชุมชนทันทีที่ได้รับแจ้ง “ทีมฉุกเฉิน” จะดำเนินการควบคุมจัดการพื้นที่เสี่ยงในโครงการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในพื้นที่ เข้มงวดในการตรวจสอบผู้ที่เข้าในอาคารทุกคน และกำหนดแนวปฏิบัติของแต่ละชุมชนตามผลการตรวจสอบเส้นทาง (Time Line) ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางในชุมชนตลอด 7-14 วัน ด้วยการตรวจสอบผ่านทาง CCTV และแจ้งเจ้าของร่วมรับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงการ ซึ่งแผนดังกล่าวจะมีการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทั้งในชุมชนและตามที่หน่วยงานต่างๆ จะมีประกาศหรือมีคำสั่งออกมาในอนาคต


“ถึงแม้การระบาดในรอบนี้จะกระจายไปในวงกว้าง แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเรียนรู้และออกมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับชุมชนไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด (Super Spreader) ” นางสาวสมศรี กล่าว