ศัลยกรรมความงามเกาหลี-ที่พึ่งยุคไร้หน้ากากอนามัย

ศัลยกรรมความงามเกาหลี-ที่พึ่งยุคไร้หน้ากากอนามัย

ศัลยกรรมความงามเกาหลี-ที่พึ่งยุคไร้หน้ากากอนามัย ขณะแพลทฟอร์มผ่าตัดเสริมความงามทางออนไลน์ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่า ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเสริมความงามในเกาหลีใต้มีมูลค่าประมาณ 10,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.2%

เมื่อ"ยู ฮัน-นา นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 20ปี ตัดสินใจศัลยกรรมจมูกช่วงกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เธอมีเหตุผลง่ายๆว่า นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้ตัวเองดูดีขึ้นแบบเงียบๆก่อนที่ผู้คนในสังคมจะพากันไม่สวมหน้ากากอนามัยในปีนี้ เพราะเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19แก่ประชาชนในวงกว้างแล้ว

ยู ซึ่งเรียนมหาวิทยาลัยทางออนไลน์ตลอดทั้งปี 2563 บอกว่า การพักฟื้นอยู่ที่บ้านและการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะโดยไม่ดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจทำศัลยกรรมจมูก

“ฉันอยากทำจมูกมาตลอด และคิดว่าเหมาะที่สุดแล้วที่จะทำจมูกก่อนที่ผู้คนจะเริ่มไม่สวมหน้ากากอนามัยเมื่อทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19กันถ้วนหน้าในปีนี้ หลังผ่าตัดจะมีรอยช้ำและอาการบวมที่หน้า แต่เนื่องจากต้องสวมหน้ากากอนามัยเลยช่วยปิดบังใบหน้าได้อย่างดี” ยู ซึ่งหมดเงินไปกับการผ่าตัดจมูก 4.4 ล้านวอน (4,013 ดอลลาร์) กล่าว

ทัศนะดังกล่าวของยู เป็นหนึ่งในหลายๆเหตุผลที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสทำศัลยกรรมความงามในเกาหลีใต้จนทำให้ธุรกิจผ่าตัดเสริมความงามในประเทศนี้ในปีที่แล้วขยายตัวอย่างมาก จากเดิมที่ธุรกิจผ่าตัดเสริมความงามของเกาหลีใต้เป็นที่ยอมรับของผู้คนที่รักสวยรักงามอยู่แล้ว

กังนัม อุนนิ แพลทฟอร์มผ่าตัดเสริมความงามทางออนไลน์ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่า ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเสริมความงามในเกาหลีใต้มีมูลค่าประมาณ 10,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.2% และคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 11,800 ล้านดอลลาร์

แพทย์ศัลยกรรม บอกว่า ผู้มาใช้บริการผ่าตัดเสริมความงามส่วนใหญ่ต้องการผ่าตัดทุกส่วนของใบหน้า ที่สามารถปกปิดได้อย่างง่ายดายด้วยหน้ากากอนามัยในช่วงที่โรคโควิด-19ระบาด เช่น จมูกและริมฝีปาก รวมทั้งส่วนที่แม้ปิดบังใบหน้าแล้วก็ยังไม่สามารถปิดบังในส่วนนั้นได้ และบางคนมองว่า เป็นบรรทัดฐานความงามในยุคโควิด-19 ระบาด

“การผ่าตัดจมูก ศัลยกรรมดวงตา คิ้วและหน้าผาก ซึ่งเป็นส่วนที่มองเห็นได้ง่ายที่สุดของใบหน้า ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในสังคมเกาหลี”ปาร์ก ชุล-วู หมอศัลยกรรมจากวูอาห์อิน พลาสติก เซอร์เจอรี คลินิก ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดจมูกให้ยู กล่าว

ขณะที่หมอศัลยกรรมอย่าง “ชิน ซัง-โฮ” ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดประจำคริสมาส พลาสติก คลินิก ในย่านศูนย์กลางการค้าของกังนัมบอกว่า มีคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการหลายคนใช้เงินเยียวยาฉุกเฉินที่รัฐบาลจัดให้มาใช้เพื่อทำศัลยกรรมความงามตามโรงพยาบาลและคลีนิก ทำให้รายได้ในส่วนนี้ช่วงไตรมาสที่3และ4ของปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมาก

“ผมรู้สึกว่านี่เป็นการใช้เงินเพื่อแก้แค้น รู้สึกว่าลูกค้าต้องการชดเชยที่ถูกกักตัวเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการใช้จ่ายเงินไปกับการเสริมความงาม”หมอชิน กล่าว

ข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า ในจำนวนเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19จำนวน 14.2 ล้านล้านวอน (12,950 ล้านดอลลาร์)นั้น มีผู้นำไปใช้กับการใช้บริการที่โรงพยาบาลและร้านขายยาในสัดส่วน 10.6% ถือว่ามากที่สุดอันดับสาม รองจากการใช้จ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโรงพยาบาลว่าเป็นโรงพยาบาลประเภทใดก็ตาม

ข้อมูลจากกังนัม อุนนิ ระบุว่า มีผู้ใช้บริการเสริมความงามด้วยการผ่าตัดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 63%เป็นประมาณ 2.6 ล้านคนในปีที่แล้ว และมีผู้ขอรับคำปรึกษาด้านศัลยกรรมความงาม 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสองเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การทำตลาดเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าชาวต่างชาติในธุรกิจเสริมความงามเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นในปีที่แล้ว รายได้ในธุรกิจนี้ทั้งหมดจึงมาจากผู้ใช้บริการในท้องถิ่น

ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี ( เคซีดีซี ) รายงานสถิติโรคโควิด-19 ของเกาหลีใต้ ในรอบ 24 ชั่วโมงวานนี้ (4ม.ค.) ยืนยันผู้ติดเชื้อสะสมอย่างน้อย 64,264 คน เพิ่มขึ้น 1,020 คน จากจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 35 คน และติดเชื้อภายในประเทศ 985 คน

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังห้ามรวมกลุ่มในที่สาธารณะเกิน 4 คน ให้มีผลจนถึงวันที่ 17 ม.ค. นี้เป็นอย่างน้อย เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 ม.ค. นี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง รัฐบาลเกาหลีใต้ยังระบุว่า ชาวต่างชาติทุกคนที่มีความประสงค์เดินทางเข้าประเทศ ต้องแสดงผลตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ที่ยืนยันเป็นลบ ล่วงหน้าไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง