โควิดกระทบ“งดประชุมรัฐสภา” กระเทือน“กฎหมาย-แก้รธน.”

โควิดกระทบ“งดประชุมรัฐสภา” กระเทือน“กฎหมาย-แก้รธน.”

เมื่อ มติให้งดประชุมสภาฯ 2 สัปดาห์ ซึ่งขอความร่วมมืองดประชุมกรรมาธิการ ด้วย ทำให้หลายคนมองว่านี่คือ อุปสรรค สำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายที่สำคัญ

     มติร่วมกันของตัวแทนฝ่ายต่างๆ จากรัฐสภา ที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา นัดหารือเพื่อพิจารณาถึง “การเลื่อน” ประชุม ซึ่งหมายถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมวุฒิสภา รวมถึงการประชุมร่วมรัฐสภา

     ผลที่ได้คือ เลื่อนการประชุมออกไป 2 สัปดาห์

     จากเดิมที่ตัวแทนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงมาตรการวัดผลการควบคุมโรคที่ได้ผล คือ ระยะ 1 เดือน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ายาวนานเกินไป และอาจถูกมองว่า “สมาชิกรัฐสภา” กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนไปฟรีๆ โดยไม่ทำงาน

     สำหรับข้อกังวลต่อสถานการณ์ระบาด ตัวแทนของกรมควบคุมโรค มีความเห็นด้วยว่า เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้ทบทวนดูอีกครั้ง ว่าจะนัดประชุมได้ หรือควรเลื่อนออกไปอีก โดยกำหนดตัวชี้วัด “สถานการณ์โควิด-19” ที่ระบาดระลอกสองนี้เป็นสำคัญ

     ก่อนที่มตินี้จะออกมา ตัวแทนจากพรรคการเมือง รวมถึงผู้ประสานงานฝ่ายต่างๆ ได้แสดงความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เห็นควรให้ “เลื่อน” เพื่อไม่ให้ “รัฐสภา” กลายเป็น “ซูเปอร์ สเปรดเดอร์” เพราะสมาชิกรวมถึงคณะทำงาน ต้องลงสัมผัสกับประชาชนในหลายพื้นที่

     แต่มีตัวแทนของ “พรรคฝ่ายค้าน" ที่เข้าร่วม อภิปรายคัดค้าน และเห็นว่าการประชุมควรดำเนินต่อไป และใช้มาตรการเว้นระยะห่าง รวมถึงมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มข้นเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยในพื้นที่

160977510956

     โดย “ตัวแทนพรรคก้าวไกล” ให้เหตุผลประกอบไว้ คือ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงาน โดยเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ว่าด้วยกรณีทำแท้ง

     ที่ต้องเร่งพิจารณาให้ทันต่อการประกาศใช้ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ​ขีดเส้นตายไว้

     ในประเด็นข้อกังวลที่ว่านั้น นำมาสู่ทางออก ที่ “ประธานรัฐสภา” สรุปคือ อนุญาตให้ประชุมกรรมาธิการ และการประชุมคณะย่อยๆ ได้ แต่งดคนนอกเข้าร่วมประชุม

     โดยมีรายงานด้วยว่า มีการร้องขอให้การประชุมกรรมาธิการจำกัดบุคคลเข้าห้องประชุมไม่เกิน 30 คน เฉพาะคนที่เกี่ยวข้องร่วม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับและแพร่เชื้อไวรัส

     ทั้งนี้ รัฐสภาก็ถูกตั้งคำถามในประเด็นนี้ว่า แล้วเหตุใดจึงไม่ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือทางออนไลน์ ทั้งที่มีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ปัญหาจากการระบาดรอบแรกก่อนหน้านี้

     คำตอบที่ได้ คือ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังไม่สามารถออกระเบียบรองรับการประชุมได้ทัน ซึ่งจะมีเนื้อหาว่าสำคัญว่าด้วย “การเบิกจ่ายเบี้ยประชุม” แต่ในที่ประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับปากว่า ภายในสัปดาห์หน้าระเบียบจะเสร็จ และประกาศใช้ได้ ดังนั้น “กรรมาธิการ" จึงสามารถทำงานได้

     อีกทั้ง การประชุมกรรมาธิการที่พิจารณากฎหมายนั้นยังอยู่นอกเหนือระเบียบที่ว่า เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กำหนดเป็นบทยกเว้นที่ "กรรมาธิการพิจารณากฎหมายทำไม่ได้" เพราะมีเนื้องานที่ระบบออนไลน์ไม่สามารถใช้ได้ คือการลงมติ

     ดังนั้น กรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจึงไม่สามารถใช้การประชุมออนไลน์ได้

     อย่างไรก็ดี ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น “นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ... ของรัฐสภา บอกว่า ประธานกรรมาธิการฯ สั่งงดประชุมใน วันที่ 7-8 มกราคมนี้ไปก่อน ส่วนสัปดาห์หน้าจะนัดประชุมได้หรือไม่ ต้องหารือผ่านไลน์อีกครั้ง ส่วนที่มติที่ประชุมฝ่ายต่างๆ ยังให้กรรมาธิการประชุมได้ แต่มีปัญหาสำคัญคือ กรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญเป็นคณะใหญ่ มีกรรมาธิการถึง 45 คน และเมื่อรวมกับเจ้าหน้าที่ทำงานอีก จะมีคนที่ร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 60 คนดังนั้นอาจมีปัญหาขึ้นได้

     ส่วนข้อกังวลว่าจะทำงานทันหรือไม่นั้น “นิกร” บอกว่า ต้องจัดวันชดเชยให้กับวันที่หายไป เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปตามห้วงเวลาที่กำหนดไว้ โดยจะไม่รวบรัดอย่างที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกต

160977534423

     ไทม์ไลน์ของกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐสภา เดิมจะพิจารณาให้เสร็จในเดือนมกราคมนี้ ก่อนส่งรัฐสภาพิจารณาพิจารณาวาระสอง ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะเว้นระยะ 15 วัน ก่อนลงมติวาระสาม ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก่อนปิดสมัยประชุม วันที่ 28 กุมภาพันธ์

     ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากประชุมรัฐสภาถูกงดไป การทำงานภายในกรรมาธิการย่อมมีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     สำหรับทางออกของเรื่องนี้ ที่พอจะทำให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขกติกาสำคัญของบ้านเมือง คือ 1.ขยายเวลาการปิดสมัยประชุม เพื่อชดเชยการประชุมที่ถูกงดเพราะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งวิธีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ประจำปี ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงกันยายน 2563 หรือ 2.ขอเปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ซึ่งทำได้ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงก่อนเปิดสมัยประชุมสภา ปีที่ 3 สมัยสามัญ วันที่ 22 พฤษภาคม

     ไม่ว่าวิธีการใดจะถูกเลือกใช้ เพื่อความสมเหตุสมผล คงปฏิเสธได้ยากว่า การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญนั้นต้องถูกยืดเวลาออกไปอย่างเลี่ยงไม่ได้.