'เลนโซ่ แอโรสเปซ' บนเส้นทางการบินและอวกาศ

'เลนโซ่ แอโรสเปซ' บนเส้นทางการบินและอวกาศ

"ตติย" หัวเรือใหญ่เลนโซ่ แอโรสเปซ ชี้ความท้าทายในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศคือ "ตลาด" จึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในตลาดพร้อมอัพสเกลสู่ One Stop Service

"เลนโซ่ แอโรสเปซ" ที่ถือได้ว่าเป็น Top 3 ของอุตสาหกรรมแอโรสเปซในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนั้นได้รับการรับรองไม่ว่าจะเป็น AS9100 และ NADCAP ทั้งนี้เลนโซ่ แอโรสเปซ ยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(GISTDA) ให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภท Mechanical Parts สำหรับประกอบดาวเทียมธีออส 2 ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนให้แอร์บัส โครงการนี้เป็นโครงการตัวอย่างที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศได้เข้าถึงตลาดใหม่และได้รับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตดาวเทียมในต่างประเทศโดยตรง เพื่อนำมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในบริษัทเพื่อให้เกิดเป็นทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ รวมไปถึงได้เรียนรู้เรื่องข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศของโลก

161001083150

“ที่ผ่านมาความร่วมมือของภาคเอกชนด้วยกันเองในการทำโครงการขนาดใหญ่ และมูลค่าสูงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่เมื่อจิสด้ามีโครงการกับนโยบายที่จะส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการในประเทศไทยให้เข้าสู่ Space Value Chain และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จึงทำให้เรามีแนวทางที่จะร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่กับหลายๆ บริษัทในประเทศเพื่อผลิตดาวเทียมสัญชาติไทยในอนาคต ” ตติย มีเมศกุล ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เลนโซ่แอโรสเปซ จำกัด กล่าว

ส่วนความร่วมมือในการผลักดันอุตสาหกรรมแอโรสเปซกับองค์กรต่างๆ ทางกลุ่มได้มีการตั้งสมาคมอุตสาหกรรมอากาศยานไทย (TAMIA) ตั้งแต่ ต้นปี 2563 ซึ่งร่วมกับบริษัทสัญชาติไทยอีก 5 บริษัท (Lenso, BKF, C.C.S., Sahamit, RVC และ Tozzhin) และกำลังเรียนเชิญหลายฝ่ายเข้ามา สร้างคลัสเตอร์ร่วมกัน โดย ณ ตอนนี้ ได้จับมือทั้งสถาบันยานยนต์และจิสด้า ในการทำ Framework ขึ้นมาเพื่อที่จะพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมแอโรสเปซ เนื่องจากส่วนใหญ่ในเมืองไทยเป็นธุรกิจ automotive ทางทีมจึงพยายามพัฒนาผู้ประกอบการ automotive สู่แอโรสเปซอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนการร่วมมือกับจิสด้าในอนาคต ได้มีการหารือกันไว้ว่าโครงการที่จะพัฒนาตลาดในเมืองไทย และพัฒนาชาติ จะต้องเน้นไปที่การทำ Local content ที่จะกระจายงานมาที่อุตสาหกรรมในเมืองไทย เพื่อให้บริษัทอย่างเรา หรือ บริษัทคู่ค้า ได้เข้าใจความต้องการ เข้าใจสเปคและเปิดตลาดขึ้นมาได้

ทั้งนี้ความยากและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของเลนโซแอโรสเปซ มองว่า คือ “ตลาด” เนื่องจากอุตสาหกรรมแอโรสเปซเป็นตลาดปิด และ OEM กับ Tier-1 มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทำให้เข้าไปตีตลาดได้ยาก อีกทั้งงานส่วนใหญ่จะมาจากยุโรปและอเมริกา ดังนั้นผู้ประกอบการในไทยต้อง “สร้างความเชื่อมั่น” ว่าประเทศไทยสามารถผลิตได้ตรงตามสเปคและมาตรฐานจากต่างประเทศ

161001081937

ขณะเดียวกันในส่วนของภาพรวมการแข่งขัน ตติย บอกว่า ก่อนที่จะมีโควิด และปัญหาของเครื่องบิน 737max แนวโน้มของตลาดมีการเติบโตอยู่ตลอดนับตั้งแต่ปี 2554 แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องเครื่องบิน 737max เมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ภาพรวมตลาดลดลงประมาณ 20% แต่ก็ยังมองว่าในอนาคตตลาดจะไม่ลงไปต่ำกว่าปีที่เกิดโควิด และกลับมาโตอีกครั้ง โดยทิศทางในอนาคต บริษัท ใหญ่ๆจะเริ่ม Merge กันมากขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและรองรับตลาดที่จะกลับมา แต่สิ่งที่จะตามมาจะทำให้ Supplier หน้าใหม่เข้ามาได้ลำบากกว่าเดิม เพราะหากเกิดการ Merge กัน Supply Chain ในระบบก็จะ Merge กันด้วย ดังนั้นคนที่จะเข้ามาใหม่ หรือ Supplier รายใหม่ โอกาสที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างต่ำมาก แต่เจ้าเก่าที่อยู่ในตลาดอยู่แล้วมีโอกาสเติบโตสูงมาก

เดินเกมรองรับดีมานด์อนาคต

ตติย กล่าวต่อไปว่า ได้ตั้งเป้าเพื่อเข้าสู่ระดับ Global มากขึ้น โดยเบื้องต้นจะทำให้ได้รับรองหลายมาตรฐานมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่ Boeing Approval , Airbus Approval และ CAAT Approval เมื่อได้รับการรับรองเหล่านี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และจะเป็นการเปิดประตูทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการวางแผนจะจับมือกับบริษัทในไทยที่มาตรฐานสูง เพราะบางครั้งบริษัทไม่สามารถรับดีมานด์ใหญ่ๆ ได้ จึงต้องพยายามจับมือทั้งบริษัทใหญ่ และคนที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ ที่จะเป็นพันธมิตรและรับงานมาแบ่งกันภายในประเทศ

ภาพรวมอุตสาหกรรมแอโรสเปซในขณะนี้ถึงแม้ว่าหลังจากโควิด Backlog ของแอร์บัส โบอิ้ง ถูกตัดไปจำนวนมาก แต่ก็ยังมีปริมาณที่ต้องต้องผลิตอีกประมาณ 10 ปี ออเดอร์ถึงจะหมด ตติย มองว่าช่วงนี้คือช่วงที่ตลาดแย่ที่สุด และออเดอร์จะไม่ตกไปมากกว่านี้ ซึ่ง ณ ขณะนี้จะมีเครื่องบินที่จะต้องผลิตอีกประมาณ 1 หมื่นกว่าลำ ภายใน 10 ปี (ตอนนี้บางโมเดลผลิตอยู่แค่ 1 ลำต่อเดือน ยกตัวอย่าง A350 ปกติจะผลิตเดือนละ 10 ลำ ตอนนี้เหลือเพียงเดือนละ 1 ลำเท่านั้น)

161001084670

“ถ้ากลับสู่สถานการณ์ปกติตามที่ Forecast จาก Deloitte พบว่าออเดอร์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ดังนั้นสิ่งที่ทำอยู่มีโอกาสที่จะเติบโตไปมากกว่านี้เช่นกัน ตามสภาพตลาดและข้อมูล คาดการณ์ได้ว่าประมาณปี 2565 จะกลับมาเต็มที่ ทั้งนี้ตัวเลข จาก BOI ระบุว่าไทยสามารถ Supply ได้แค่ 35% ของ Demand ทางด้าน OEM ในอนาคต ที่ต้องการมาที่เมืองไทย ส่วน MRO คิดเป็นเพียง 40% ของ Demand ส่วนที่เป็น Ground service นั้นทางไทย ยัง Over Supply อยู่”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ตติย ยังได้ แนะผู้ประกอบการที่อยากจะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ว่า จะต้องเริ่มจาก “ปรับความคิด” และเตรียมใจ เพราะจากการที่บริษัทพยายามพัฒนามา กระบวนการทำงานหรือ Nature ของ Business นั้นค่อนข้างแตกต่างจากตลาดอื่นมาก งานต้องการความเร็วแต่คุณภาพสูง เพื่อความปลอดภัยสูงสุด การมีส่วนร่วมและทำงานเป็นทีมสำคัญมาก เพราะเมื่อ item เยอะปัญหามันก็จะวิ่งเข้ามาตาม item ดังนั้น ผู้บริหารต้องลงสนามมาเล่นเอง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรง Root cause ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด อีกทั้งจะต้องมีความมุ่งมั่น แน่วแน่ เพราะกว่าจะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้นั้นยาก แต่เมื่อเข้าแล้วจะมีโอกาสเติบโตสูงมาก

"เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่หลายๆชาติให้ความสำคัญ เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมนี้สามารถช่วยพัฒนาชาติได้ องค์ความรู้ต่างๆสามารถนำมาต่อยอดในด้านงานเทคโนโลยี และงานวิศวกรรม เพื่อพัฒนาบุคคลากรจากรุ่นสู่รุ่น หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เช่น หากภาครัฐจับมือเอกชน เอกชนรวมกลุ่มสร้างสมาคม ภาคธนาคารสนับสนุนด้านการเงิน ภาคการศึกษาปรับหลักสูตรเข้าหางานจริงของธุรกิจ ด้วยความร่วมมือตามที่กล่าวมา สามารถสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมนี้ ให้เข้มแข็ง เพื่อให้เครือข่ายนี้ร่วมกันพัฒนาชาติผ่านอุตสาหกรรมแอโรสเปซและเป็นตัวอย่างอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับคนในชาติได้จริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการที่สนใจ จะมีเป้าหมายสร้างอุตสาหกรรมนี้เพื่อประสบผลสำเร็จในเชิงการค้า และสร้างชาติไปด้วยกัน" ตติย กล่าวทิ้งท้าย