กรมอนามัยแนะข้อปฏิบัติทานอาหารช่วงโควิด-19

กรมอนามัยแนะข้อปฏิบัติทานอาหารช่วงโควิด-19

กรมอนามัยแนะข้อปฏิบัติ ผู้บริโภคนั่งทานร้านอาหาร-สั่งเดลิเวอรี่-ตุนอาหาร

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร ว่า กรณีที่กทม. ออกประกาศห้ามนั่งทานที่ร้านตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00-06.00 น. คาดว่าน่าจะเป็นการลดการสัมผัสกัน เพราะพฤติกรรมของคนมักจะทานมื้อเย็นค่อนข้างหนักและนั่งนาน ดังนั้นจากนี้ประชาชนต้องเข้าใจ โดยในช่วงเวลาที่รับประทานอาหารที่ร้านต้องสังเกตว่าร้านนั้นมีการคัดกรองไข้ มีจุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่ และการเว้นระยะห่าง มีจุดเช็คอินไทยชนะ

เมื่อเข้าไปรับประทานอาหารในร้านต้องสังเกตผู้สัมผัสอาหารทั้งคนปรุงอาหาร คนเสิร์ฟอาหาร ต้องมีการสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ มีการแยกภาชนะส่วนบุคคล การทำความสะอาดโต๊ะ ผนัง เพดาน หลังลูกค้ารับประทานเสร็จ และจุดที่คนมักหลงลืมกันคือช่วงการชำระเงิน หากเป็นไปได้ควรชำระด้วยระบบออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อลดการสัมผัส หากจำเป็นต้องชำระด้วยเงินสดเมื่อรับมาแล้วควรแยกเงินนั้น และล้างมือหลังสัมผัสเงิน

“เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะออกมากับสารคัดหลั่ง ซึ่งปริมาณก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ การรับประทานอาหารอาจจะไม่ได้ออกมามากเหมือนกับการไอ จาม ตะโกนเชียร์ หรือร้องเพลง อย่างไรก็ตามถ้าเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ร้าน แล้วซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้ก็ดี แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ขอให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุด รีบรับประทานและรีบกลับ ไม่ควรใช้เวลานานโดยเฉพาะในห้องแอร์ หรือพื้นที่อับ อย่างที่รู้กันว่าโควิด-19 นั้น กว่า 80% อาการน้อย หรือไม่มีอาการ การคัดกรองไข้อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติต้องถือเสมอว่าทุกคนมีความเสี่ยง ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

160974758042

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงนี้ทำให้คนหันมาใช้บริการเดลิเวอรีมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีคนเกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม 1.ร้านอาหารจะต้องจัดระบบคัดกรองพนักงานเดลิเวอรี เว้นระยะห่างระหว่างการรอคอย ไม่ให้แออัด ซึ่งการระบาดรอบแรกเราพบว่าพนักงานเดลิเวอรีไปรอรับอาหารค่อนข้างแออัดก็ต้องปรับปรุงตรงนี้ นอกจากนี้อาหารต้องปรุงสุก สะอาด ไม่ทำค้างนาน และร้านต้องคัดกรองพนักงานของตนด้วยใครป่วยให้หยุดงาน 2.พนักงานเดลิเวอรีต้องรักษาความสะอาดส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย 100% ทำความสะอาดภาชนะส่งอาหาร ไม่เปิดอาหารก่อนถึงมือลูกค้า ไม่สัมผัสลูกค้าโดยตรงทั้งการส่งอาหาร และรับชำระค่าอาหาร ล้างมือบ่อยๆ ถ้าไม่สบายต้องหยุดปฏิบัติงาน และ3.ผู้บริโภค ที่สั่งอาหารเดลิเวอรี ขอให้ลดการสัมผัสโดยตรงกับผู้ส่งอาหาร เมื่อรับอาหารมาแล้วควรเปลี่ยนภาชนะและอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน

"อยากจะฝากกับประชาชนที่พบว่าช่วงนี้หันมากกักตุนอาหารอีกครั้ง ซึ่งจะมี 2 ประเด็นตั้งแต่การเลือกซื้อ และการจัดเก็บรักษา ส่วนใหญ่ซื้อมาตุนไว้เป็นเวลานาน ดังนั้นต้องอ่านฉลาก เลือกให้ดี เก็บให้ดี เพราะถ้าเก็บไม่ดีจะทำให้อาหารเสียและเกิดอันตรายกับสุขภาพได้"นพ.สุวรรณชัยกล่าว