ปี2564:หวังอะไรได้ใหม่ในพื้นที่ EEC

ปี2564:หวังอะไรได้ใหม่ในพื้นที่ EEC

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor: EEC) ในปีที่ผ่านมาหลายโครงการอาจสะดุดหรือชะลอ ล่าช้าลงไปบ้าง เหตุผลใหญ่ที่ได้ยินก็เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor: EEC) ในปีที่ผ่านมาหลายโครงการอาจสะดุดหรือชะลอ ล่าช้าลงไปบ้าง เหตุผลใหญ่ที่ได้ยินก็เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน การส่งออกและการลงทุนลดลง การผลิตและบริการชะงัก จะเห็นได้จากตัวเลขของการลงทุนในพื้นที่ EEC ลดลงไปกว่า15%  ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่หลาย ๆ คนคาด แต่หากมองไปในรายละเอียดก็จะพบว่าการลงทุนส่วนมากที่ดำเนินไปยังคงเป็นการลงทุนด้านสาธารณูปโภคที่รัฐเป็นเจ้าภาพ แต่การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงกว่ามาก อาจเป็นเพราะการเดินทางที่ไม่สะดวก สถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งโลก 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าเรามีการปรับตัวได้ดี ดูจาก GDP ที่คาดไว้ตอนต้นปีที่เกิดปัญหาไวรัสว่า GDP จะติดลบ 10%  กว่า ๆ แต่พอกลางปีก็ลดเหลือติดลบ8%  กว่า จนล่าสุดทุกสำนักเศรษฐกิจคาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะติดลบ 6%  กว่า ๆ ซึ่งไม่แย่กว่าที่คิด และมากไปกว่านั้น ปีหน้ายังคาดว่า GDP ของเราจะเป็นบวกกว่า4% อีกต่างหาก เรียกว่ายังพอเห็นแสงสว่างในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่ายังไม่กลับมาเท่าเดิมเหมือนตอนก่อนโควิด

แม้ว่าโลกเรายังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโควิด และความรุนแรงของการแพร่กระจายดูไม่หยุดหย่อน แต่ผมว่าการขยับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเราในปีใหม่จะมีมากขึ้น อาจเป็นเพราะความเคยชินของผู้คนที่มีต่อโควิด ดู ๆ แล้วก็ไม่น่ากลัว หรือการปรับตัวในวิถีชีวิตใหม่ที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับไวรัสนี้ดีขึ้น ผู้คนรู้เรื่องการจัดการกับตัวเองในการป้องกันดีขึ้น เลยทำให้ผู้คนเริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบจะเป็นปกติ ทั้งการทำงานออนไลน์ หรือการติดต่อระยะไกล นักลงทุนสามารถติดต่อธุรกิจผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ได้ไม่ต้องเดินทาง รวมทั้งความรู้ที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับไวรัสนี้ทำให้ไม่ตื่นตระหนกจนเกิดเหตุ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่ชะลอตัว การลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติในปีก่อนนี้ก็จะเริ่มลงมือทำ การก่อสร้างโครงการที่ค้างเติ่งอยู่ในปีที่แล้วน่าจะกลับการดำเนินการต่อในปีใหม่นี้

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่ตกลงกันเต็มรูปแบบในปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวเร่งให้นักลงทุนเร่งลงทุนอย่างจริงจัง เพราะปัญหาโควิดที่ผ่านมาทำให้การมองชัพพลายเซนในระดับภูมิภาคใกล้ ๆ กันน่าจะมีความมั่นคงและปลอดภัยในความต่อเนื่องทางการผลิตมากกว่ามองแบบ Global Chain เหมือนที่ผ่านมา และความตกลง RCEP นี้น่าจะให้การรวมตัวของภูมิภาคนี้มีความน่าสนใจมากกว่าแต่ก่อน และ EEC น่าจะเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดที่มีโอกาส

ถ้ายังจำได้ในปีที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งที่ทำให้การลงทุนด้านสาธารณูปโภคคือ “การฟ้องร้อง” ซึ่งทำให้หลายโครงการทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง โดนหมด เสียเวลาไปบ้างกว่าหกเดือน แต่ทั้งหมดก็ได้รับการแก้ปัญหาไปแล้ว ปีใหม่นี้คงน่าจะลงมือในระยะแรกได้ซึ่งอาจร่วม ๆ กว่าแสนล้านบาท การลงทุนตัวนี้ รวมทั้งของภาคเอกชนบางส่วนที่เริ่มกลับมาทำต่อ ดร. คณิต แสงสุพรรณ ประมาณการว่าส่วนนี้ของ EEC น่าจะเป็น 1% ในการขยายตัวของ GDP 4% ในปีใหม่ ซึ่งถือว่าดีขึ้น แต่น่าจะดีกว่านี้ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจของเราได้รับการปรับให้ดีกว่านี้

สำหรับผมแล้วมองว่า EEC คือพื้นที่ที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะใช้เป็นฐานในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ เพราะพื้นที่นี้ทุกอย่างพร้อม มีทั้งกฎระเบียบใหม่ มีสาธารณูปโภคสำหรับโลกยุคใหม่มากกว่าที่อื่น เช่น การวางกำหนดโครงการทดลอง 5G ในพื้นสนามบินใหม่ บ้านฉาง ไปมาบตาพุด เพื่อทดลองดูว่าเมื่อมี 5G แล้ว เราสามารถพัฒนาการบริการสาธารณะให้ดีขึ้นได้บ้าง เข้าชุมชนแล้วชุมชนดีขึ้นอย่างไรบ้าง และเข้าภาคอุตสาหกรรมแล้วทำให้อุตสาหกรรมได้ประโยชน์มากขึ้นอย่างไร ซึ่งในส่วนอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นทุกวันนี้ก็มีการปรับตัวเป็น Connected industries มากขึ้นทั้งเชื่อมกิจกรรมในตัวโรงงานเองและตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งน่าจะทำให้มีการเร่งการลงทุนเพื่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมและธุรกิจในพื้นที่เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้มากขึ้น รวมทั้งธุรกิจบริการอื่น ๆ ก็เร่งการปรับตัวทางด้าน e-service และ e-commerce รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเกษตรกรรมโดยนวัตกรรมด้านดิจิลทัลมากขึ้น

ผมว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การปรับทัศนคติของหน่วยงานรัฐและระเบียบกฎหมายต่าง ๆ ที่ทุกวันนี้นักลงทุนยังเจอปัญหา อุปสรรค ความล่าช้าในการให้บริการ จึงไม่แปลกใจ เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อ BOI จัดงานนายกรัฐมนตรีพบนักลงทุน ก็จะเห็นว่าปัญหาเดิม ๆ ไม่ว่า วีซ่า work permit หรือขบวนการศุลกากร ก็ยังยกขึ้นมาคุย เรื่องนี้ยังเห็นการขออนุญาตเข้ามาทำงานของผู้เชี่ยวชาญที่ยุ่งยากและช้า หรือบริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัทถูกฟ้องร้องในการนำเข้าสินค้าผิดระเบียบและถูกเรียกค่าปรับมหาศาล และไม่ใช่รายเดียว กลายเป็นเรื่องที่ถูกมองในแง่ลบทั้งระบบจากนักลงทุนเป้าหมาย

แม้ว่า EEC จะมี พรบ. ของตัวเองก็ตาม แต่อำนาจที่มีตาม พรบ. นั้น มีการประนีประนอมกับอำนาจใน พรบ. อื่น ๆ มาก เพราะตอนออก พรบ. ใหม่นั้นหน่วยงานต่าง ๆ ก็พยายามรักษาอำนาจเดิมของตนเองไว้ให้มากที่สุด ทำให้ทุกอย่างไม่จบเบ็ดเสร็จในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.)

วันนี้อำนาจสำคัญ ๆ ยังขึ้นกับหน่วยงานเดิม ดังนั้น การที่จะทำให้ EEC เป็นพื้นที่เริ่มต้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เหมาะสมนั้น อาจต้องออกแรงอย่างหนักในการทำให้การทำงานแบบบรูณาการกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ง่าย ใคร ๆ ก็รู้ว่า “บูรณาการ” เป็นของแสลงของหน่วยงานรัฐบ้านเรา

หวังว่าในปีใหม่นี้เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เหมาะกับสภาพการแข่งขันของโลกในพื้นที่นี้ หาก EEC ทำเรื่องนี้ไม่ได้ ผมก็ว่าไม่มีที่ไหนในประเทศไทยจะทำได้ละครับ