มอง 'อีคอมเมิร์ซไทย' ปี 2564

มอง 'อีคอมเมิร์ซไทย' ปี 2564

จับตา "อีคอมเมิร์ซไทย" เมื่อวิกฤติโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และในปี 2564 นี้ก็ยังคงร้อนแรงเช่นกัน เนื่องจากคนไทยกำลังจะเข้าสู่ออนไลน์หนักขึ้นกว่าเดิม

1-2 ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันของวงการอีคอมเมิร์ซ และปีที่ผ่านมายังเป็นการแข่งขันของวงการโลจิสติกส์ด้วยเหมือนกัน เพราะแต่ละเจ้าสาดกันแบบเลือดเดือด หลายเจ้าก็หั่นราคากัน เช่น ช่วง 9 เดือน 9 เขาส่งกันออเดอร์ละ 9 บาท กลายเป็นการแย่งชิงลูกค้ากันเลยทีเดียว

ผมทำบริษัท ชิปป๊อป เราเชื่อมต่อขนส่งทุกเจ้าทั้งหมด จะเห็นได้เลยว่าบางช่วงเวลามีการลดราคากัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ลูกค้าจากที่เคยใช้เจ้านี้ก็เปลี่ยนไปใช้เจ้านั้น พอหมดโปรโมชั่นก็จะกลับมาดูว่าใครให้ราคาที่ถูกกว่า คือเขาวิ่งตามโปรโมชั่น ต้องบอกว่าโปรโมชั่นยังเวิร์คในการดึงลูกค้าอยู่ แต่ถามว่าหากใช้วิธีนี้มากๆ มันต้องมีคนเจ็บสักคน ในระยะยาวผมว่าไม่เวิร์คเลย

เห็นจากตลอดปีที่ผ่านมาธุรกิจย่ำแย่กันมาก แต่ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มออนไลน์ e-Commerce, Logistics ยังโต ปี 64 โควิดก็ยังน่าจะมีอยู่ ช่วงปีใหม่ ช่วงเทศกาล ไม่ต้องพูดถึงยุโรป อเมริกา ผมกำลังทำเทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 64 ที่จะมาแน่ๆ เอามาให้คร่าวๆ กันก่อนนะครับ

ปี 2564 คนไทยกำลังจะเข้าสู่ออนไลน์หนักขึ้นกว่าเดิมเยอะ ด้วยความที่ปีนี้ภาครัฐเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้คนไทยเข้าสู่ออนไลน์ได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง นี่คือโครงการปลุกคนไทยทั้งประเทศเข้าสู่ออนไลน์

ประกอบกับยักษ์ใหญ่ทั้ง Lazada, Shopee, JD ถมเงินมาประมาณเกือบ 2 หมื่นกว่าล้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และผมเชื่อว่าปี 64 เขาจะถมเงินเข้าไปอีก ฉะนั้น ภาครัฐอัดเงินเข้าไป ภาครัฐกระตุ้น ในขณะเดียวกันเอกชนก็อัดเงินเข้าไปต่อรวมไปถึงขนส่งต่าง ๆ และจะเห็นได้ชัดอีกว่าบริการชำระเงินก็จะมาแข่งขันกั[ฟู้ดดิลิเวอรี่ก็อีกด้วย ฉะนั้นทุกอย่างมันจะโตขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว

ปีหน้าจะเป็นปีหนึ่งที่แนวโน้มของธุรกิจที่เป็นโรงงานหรือเจ้าของแบรนด์สินค้าจะเริ่มบุกเข้ามาในออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จะเกิดเทรนด์ D2C ก็คือ Direct to consumer ขึ้นมา นั่นคือแบรนด์ต่าง ๆ จะขายตรงสู่ผู้บริโภค หรืออีกคำหนึ่งที่คล้ายกันผมเรียกว่า M2C หรือ Manufacturing to Consumer คือโรงงานต่างๆ ผลิตสินค้าขายเข้าออนไลน์ตรงสู่ผู้บริโภคเลย

โดยปีหน้าจะเป็นเทรนด์ที่โรงงานต่างๆ หรือบรรดาแบรนด์ต่างๆ เริ่มสร้างทีมดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา มีแผนกใหม่ขึ้นมาในองค์กรคือทีมด้านออนไลน์ ฉะนั้น โรงงานจะมีทีมที่คอยนำสินค้าจากโรงงานขายตรงไปยังมาร์เก็ตเพลส ขายตรงยังผู้บริโภคผ่าน Social Media มีเว็บไซต์ขายของตัวเอง ท่านใดที่ทำพวกโรงงานอยู่ คุณต้องปรับตัวเป็น M2C หรือ D2C ตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศเริ่มมากันหมดแล้ว

หลายคนถามผมว่าประเทศไทยเราพึ่งแพลตฟอร์มใหญ่ๆ มานานมาก ถ้ามีกฎหมายออกมากีดกันหรือเก็บนี่นั่นมากขึ้น เราจะเห็นเทรนด์ในการสร้างแพลตฟอร์มของไทยที่เติบโตได้หรือไม่

ตรงนี้ผมทรายว่ารัฐกำลังพยายามทำอยู่ การทำนั้นไม่ยากเท่าไหร่ แต่การที่จะทำให้คนเข้ามาใช้ให้ เติบโตในระยะยาวผมว่ามีความท้าทายอยู่

ตอนนี้เมืองไทยเองก็ถือว่ามีแพลตฟอร์มอันหนึ่งที่เติบโตอย่างมาก แพลตฟอร์มที่คนใช้เยอะมากขึ้นอย่าง “เป๋าตัง” ต้องยอมรับว่าเป๋าตังคือแพลตฟอร์มของคนไทยที่คนไทยใช้เยอะที่สุดเป็นอันดับ 1 และรัฐเองก็มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐเริ่มมองเห็นแล้วว่าจะใช้เป๋าตังอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผมว่าต่อไปเราคงจะเริ่มเห็นตรงนี้กันมากขึ้น