เปิดร่างมาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุด ย้ำไม่ล็อกดาวน์

เปิดร่างมาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุด ย้ำไม่ล็อกดาวน์

ร่างมาตรการที่ใช้ประกอบการประกาศ “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” ใน 28 จังหวัด เตรียมเสนอนายกฯลงนามประกาศเร็วๆ นี้ เบื้องต้นปรับ 8 ข้อ ย้ำประชาชน ผู้ประกอบการ ปฎิบัติตาม ยืนยันไม่ล็อกดาวน์ เหตุส่งผลกระทบหลายด้าน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการที่ใช้ประกอบการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 28 จังหวัด ว่าขณะนี้ในศบค.ชุดเล็กได้มีการประชุมทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อปรับผ่อนเกณฑ์ให้เหมาะสม โดยจะเสนอศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและลงนามในประกาศดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น โดยมีประมาณ 8 ข้อ

ดังนี้ 1.การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือ ห้ามใช้อาคารและสถานที่ของโรงเรียน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เน้นย้ำว่าขอใช้ในพื้นที่สีแดงหรือใน 28 จังหวัด ที่มีการติดเชื้อสูงสุดหรือพื้นที่ใกล้เคียง

2.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เช่น การประชุมสัมนา จัดเลี้ยง  การแต่งงาน เว้นแต่เป็นการดำเนินงานจากเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในจังหวัด โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตามความรับผิดชอบ

3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อสั่งปิดสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

4.ในส่วนของร้านอาหารนั้น ได้มีการปรับผ่อนเกณฑ์ จากเดิมอนุญาตให้ขายเฉพาะนำกลับบ้านเท่านั้น เป็นให้สามารถจำหน่ายอาหารได้ตามปกติ แต่ต้องมีการจัดระเบียบ จำนวนคนในร้าน โดยอาจให้เป็นลักษณะนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในแต่ละจังหวัดพิจารณา

5.คำสั่งปิดหรือเปิดสถานที่ต่างๆมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถดำเนินการได้

6.เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ยังไม่ข้ามแต่ต้องมกีารตรวจและคัดกรองการเดินทาง โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมต้องดำเนินการตามมาตรกรศบค.กำหนด พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และไม่ก่อความเดือนร้อนแก่ประชาชน ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่

7.การทำงานที่บ้าน หรือสลับเวลาการทำงาน

8.ให้ดำเนินการเฉพาะกิจ พิจารณาผ่อนคลายเสนอนายกรัฐมนตรี ให้ผ่อนคลาย หรือยับยั่งในพื้นที่ควบคุม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับมาตรการต่างๆ นั้น  การใช้ยาแรงอาจทำให้สูญเสียด้านอื่นๆ และนี่เป็นเหตุผลที่ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ทางศบค.ประกาศล็อกดาวน์ หมายถึงคำสั่งที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ หารายได้ของประชาชน แต่ทั้งนี้ ศบค.ได้มีมาตรการเยียวยาประชาชน ซึ่งการใช้มาตรการต่างๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายต้องเสีย ต้องเป็นภาพที่ทำให้ทุกคนต้องลำบากกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกคนล้วนอยากทำมาหากิน จึงขอความร่วมมือให้ทำมาหากินแบบวิถีชีวิตใหม่ ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข

“การให้งดเที่ยวบินไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ลดโรคได้ งดการขายอาหารแล้วจะลดโรคได้ก็ไม่ใช่ เพราะการแพร่ระบาดของโรคมาจากหลายปัจจัย หากจังหวัดที่ควบคุมโรคได้ดี ยกตัวอย่าง นครปฐม เมื่อพบระบาดก็มีการสอบสวนโรควงแรก มีคนติดหลักสิบคนและรีบสอบสวนโรค ทำให้พบผู้สัมผัสวงที่สอง และนำไปสู่วงที่สาม ภายในเวลาไม่เท่าไหร่ก็ลดการติดต่อโรคไปหลายขั้นได้ ดังนั้น แต่ละจังหวัดมีภาพแตกต่างกัน การที่ศบค.ไม่ใช้ยาแรงอย่างเดียวในการจัดการประเทศ เพราะคนที่เจ็บปวดและเดือนร้อนที่สุด คือประชาชนปกติที่ต้องจำกัดเวลา จำกัดพื้นที่ ไม่อยากให้คนปกติ สุจริตชนทั้งหลายต้องเดือดร้อนมากกว่านี้นพ.ทวีศิลป์กล่าว