รับมือ'โควิด-19' ระลอกใหม่ ต้องหยุดตีตรา'แรงงานข้ามชาติ'

รับมือ'โควิด-19' ระลอกใหม่ ต้องหยุดตีตรา'แรงงานข้ามชาติ'

ไม่ว่าแรงงานต่างด้าวจะติดไวรัสโควิดหรือไม่ การรักษาให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะตรวจนับได้ว่า พวกเขาอยู่ที่ไหนบ้าง และไม่ควรกล่าวโทษแบบเหมารวมนำไปสู่ความเกลียดชัง สร้างปัญหาให้สังคม

ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ปรากฏว่าคนในสังคมได้ตีตราแรงงานข้ามชาติว่า เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค จนนำไปสู่การต่อต้านและความรู้สึกเกลียดชังคนกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงส่วนหนึงคือ แรงงานข้ามชาติเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และในแรงงานข้ามชาติก็มีทั้งผู้ที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวดและผู้ที่หละหลวมการ์ดตกเช่นกัน

เราต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เหมารวม โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่รวดเร็วและรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจัดทำมาตรการเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคต นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในการประชุมปรึกษาหารือแนวทางความร่วมมือในการป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านระบบ ZOOM ปลายปีที่แล้ว

160949456550

  

"สิ่งที่ภาคีเครือข่ายและคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะดำเนินการร่วมกันคือ การสื่อสาร เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของหน่วยงานและการจัดทำนโยบาย

หลักการสำคัญคือ นโยบายที่แข็งกร้าวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรค เช่น หากไม่ส่งข้าวส่งน้ำหรือ ส่งให้ไม่เพียงพอ ที่สุดแล้วแรงงานข้ามชาติก็จะต้องเอาตัวรอดด้วยการหนีออกมาจากพื้นที่ควบคุม นั่นยิ่งทำให้รัฐบาลควบคุมโรคได้ยากขึ้น ฉะนั้นตั้งแต่นโยบายระดับบนลงมาสู่ระดับปฏิบัติ ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญด้วย" คุณหมอประทีป กล่าว

นพ. ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มว่า หัวใจของการจัดทำมาตรการป้องกันโรคคือ การใช้ชุมชนเป็นฐาน ทั้งชุมชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มแรงงาน และชุมชนของแรงงานข้ามชาติ โดยภาคีเครือข่ายจำเป็นต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจและความร่วมมือเพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยกกีดกันการตีตรา ขณะเดียวกันต้องทำงานกับตัวของแรงงานข้ามชาติด้วย เพื่อไม่ให้เขาวิตกกังวล หวาดกลัว และรู้สึกด้อยค่า ด้อยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

"มาตรการเบื้องต้น อาจเป็นการสานพลังและบูรณาการทรัพยากร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตรวจคัดกรอง การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก การวางแนวทางส่งตัวผู้ติดเชื้อไปรักษาต่อ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ในมิติต่างๆ อาทิ  ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรค ขณะเดียวกันต้องทำความเข้าใจชุมชนที่ต่อต้านและจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ โดยตัวอย่างจากการระบาดในระลอกแรกคือ การดึงศาสนสถาน โรงเรียน เข้ามาสนับสนุน"

 

“ขณะนี้แรงงานข้ามชาติยังมีความต้องการด้านอาหารในระหว่างกักตัว โดยความต้องการ 5 อันดับแรก คือ ข้าวสาร อาหารกล่อง เนื้อสัตว์ น้ำดื่ม และน้ำตาล ส่วนความต้องการส่วนตัว อาทิ เครื่องนอน เครื่องใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า อุปกรณ์สื่อสาร” วสุรัตน์ หอมสุด มูลนิธิรักษ์ไทยที่ทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายใน จ.สมุทรสาคร กล่าวและว่า

"คนทำงานมูลนิธิรักษ์ไทยยังได้วิเคราะห์ความท้าทายในการทำงาน โดยพบตั้งแต่การแยกกักผู้ป่วยระหว่างผู้ที่ถูกแยกกักตัวกับผู้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจในหอพัก การจัดการความเครียดของผู้ที่พักในหอพัก การส่งเสริมการป้องกันแบบ 100% การสนับสนุนสิ่งของที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง และสนับสนุนเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ที่อยู่ในที่กักตัว"

สำหรับปัญหาการหลบหนีของแรงงานต่างด้าว จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่มาจากเหตุผลกลัวว่า เจ้าหน้าที่จะเข้ามาจับผู้ที่ไม่มีเอกสาร ฉะนั้นจำเป็นต้องร่วมกันผ่อนคลายความตึงเครียดลง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนรั้วลวดหนามเป็นสแตนเลส การนำรถทหาร หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ออกไปให้ห่างจากบริเวณกักตัว

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ บอกว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้ผล ต้องดำเนินการใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ต้องรักษาให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบ โดยหลังจากนี้จะมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต้องหลุดจากระบบ เนื่องจากเอกสารหมดอายุ คาดว่าภายในเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 จะมีราว 4 แสนราย แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่มีมาตรการใดๆ รองรับ 2. ต้องดึงคนเข้าสู่ระบบให้ได้มากขึ้น

“ช่วงเดือนมกราคมจะมีแรงงานข้ามชาติรวมตัวกันเยอะ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะต้องตรวจสุขภาพและทำวีซ่า โดยทั่วประเทศมีกว่า 1 แสนคน เฉพาะใน จ.สมุทรสาคร มีประมาณ 4 หมื่นคน และก่อนเดือนมีนาคม 2564 แรงงานข้ามชาติกว่า 1 ล้านคน จะต้องยื่นเรื่องต่อวีซ่ารอบสอง ฉะนั้นจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและวางมาตรการสำหรับรับมือด้วย”

ทั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นจากการประชุม ได้แก่ 1. เตรียมความพร้อมของคน ชุมชน สังคม โดยอาศัยเครือข่ายภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญ 2. เปิดเวทีสื่อสารระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐ 3. เปลี่ยนแนวคิดและมาตรการของรัฐเรื่องการควบคุมโรค โดยดึงการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและสังคม เพื่อทำงานในระยะกลางและระยะยาว ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้ วิชาการ และประสบการณ์การขับเคลื่อน