สธ. ขอ 9 จังหวัด ปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง-ร้านอาหารขายกลับบ้าน

สธ. ขอ 9 จังหวัด ปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง-ร้านอาหารขายกลับบ้าน

ศปค.สธ.ขอให้ 9 จังหวัดเพิ่มมาตรการเข้มสกัดโควิด-19 ปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง-ร้านอาหารขายกลับบ้าน ขณะที่ทุกจังหวัด ต้องเฝ้าระวังเชิงรุกผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาด-ค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง

เมื่อเวลา 11.30น. วันที 1 ม.ค.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 279 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 273 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค(Quarantine) 6 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 7,163 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,142 ราย กลุ่มแรงงานต่างด้าว 1,408 ราย รักษาหายแล้ว 4,273 ราย ยังอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) 2,827 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย สะสม 63 ราย

จำแนกผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ ดังนี้  1.กลุ่มผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 257 ราย ได้แก่ เชื่อมโยงจ.สมุทรสาคร 3 ราย พบใน กทม. 2 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย เชื่อมโยงจ.ระยอง 2 ราย พบใน กทม.และลำพูน เชื่อมโยงจ.ชลบุรี 1 ราย พบในสุรินทร์ เป็นชายอายุ 60 ปี มีประวัติสถานบันเทิง ชุมชน อาชีพเสี่ยง 16 ราย พบใน กทม. 11 ราย ปทุมธานี 2 ราย นครปฐม สมุทรสาครและอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวน 235 ราย พบใน กทม.6 ราย สมุทรสาคร 89 ราย ชลบุรี 51 ราย ระยอง 37 ราย จันทบุรี 29 ราย สมุทรปราการ 13 ราย ตราด 7 ราย ฉะเชิงเทรา 1 รายและสระแก้ว 2 ราย และ2.กลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุก 16 ราย

สำหรับ ผู้เสียชีวิตรายใหม่รายแรก เป็นชายไทย อายุ 44 ปี มีภาวะอ้วน มีประวัติว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 เดินทางไปร้านอาหารกึ่งบาร์ในกทม. หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม มีไข้ เหนื่อยหอบ และวันที่ 30 ธันวาคม รู้สึกเหนื่อยมากขึ้นจึงไปตรวจที่คลินิกโรคไข้หวัด(ARI Clinic) ที่ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ด้วยอาการหายใจเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือร้อยละ 80 แพทย์ส่งต่อไปห้องไอซียู(ICU) เพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ แต่เนื่องด้วยน้ำหนักร่างกายมากจึงต้องใช้เวลานาน ต่อมาในเวลา 22.00 น. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม อาการไม่ดีขึ้น ระบบหายใจล้มเหลว จึงส่งต่อไปยัง รพ.จุฬาลงกรณ์ และเมื่อเวลา 15.00 น. ผู้ป่วยเสียชีวิตลง ทั้งนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นคนในครอบครัว 7 รายและเจ้าหน้าที่พยาบาล 6 ราย

และรายที่2 เป็น ชายไทย อายุ 70 ปี อยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเคยรายงานมาก่อนหน้านี้ ประวัติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ลักลอบเดินทางเข้าประเทศมาตามช่องทางธรรมชาติ มีอาการป่วยคล้ายหวัด มาพักอาศัยอยู่กับลูกเขย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม อาการเหนื่อยหอบ เรียกรถ รพ.เอกชน ไปรับตัวที่บ้าน เมื่ออาการไม่ดีขึ้นจึงนำส่ง รพ.ของรัฐ และพบตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาโควิดอาการดีขึ้น ไม่พบเชื้อแล้ว แต่ด้วยสูงอายุ มีโรคประจำตัวหลอดเลือดสมอง ติดเตียง จึงทำให้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม เวลา 22.00 น. ด้วยอาการปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แผนที่ประเทศไทยจำแนกตามที่พบผู้ติดเชื้อ รวม 53 ราย มีจังหวัดใหม่ 2 จังหวัด คือ ลำพูนและสระแก้ว เนื่องจากเป็นโรคระบาด จะเห็นได้ว่าภายในครึ่งเดือนกระจายไปเร็วมาก จาก 6 เป็น 53 จังหวัด ทั้งนี้ผู้ป่วยสะสมในระลอกใหม่ตั้งแต่ 50 รายขึ้นไป มี 7 จังหวัด คือ สมุทรสาคร 1,739 ราย ระยอง 316 ราย ชลบุรี 207 ราย กทม. 180 ราย นครปฐม 60 ราย สมุทรปราการ 57 รายและ นนทบุรี 50 ราย โดยตัวเลขต่าง ๆ ยืนยันเป็นทางการแต่อาจไม่เป็นปัจจุบัน และต้องขอขอบคุณจังหวัดที่ยังเป็นศูนย์ เป็นความร่วมมือที่ดีของประชาชน อย่างไรก็ตาม จะมีการอัพเดตข้อมูลเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตัดสินใจมาตรการควบคุมโรค และขอให้ประชาชนแต่ละจังหวัดสอบถามไปตามช่องทางต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างและกระชับเวลา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19(ศปค.สธ.)ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นประธานเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ได้มีมติขอความร่วมมือกับ 9 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี และระยอง ในการดำเนินการมาตรการเข้ม ด้วยการปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง ส่วนร้านอาหารให้จำหน่ายเฉพาะในรูปแบบนำกลับไปรับประทานที่บ้าน เนื่องจากเป็นแหล่งพบปะของคนจำนวนมาก จะทำให้แพร่และติดเชื้อได้ โดยมอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุข(นพ.สสจ.)ในจังหวัดนั้นๆไปสื่อสารกับจังหวัดให้เข้มมาตรการขึ้น
นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มผู้ที่เดินทางจากพื้นที่โควิด-19ระบาด เช่น สมุทรสาคร กรุงเทพ ปริมณฑล ระยอง และชลบุรี รวมถึง ให้มีการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงต่างๆด้วย โดยเฉพาะจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ และให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวดูแลและกำชับให้งดเคลื่อนย้าย และให้อยู่กับที่ในที่พักให้มากที่สุด


"แนวโน้มของสถานการณ์ อย่าคิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงเร็ว หรือดีขึ้นในวันสองวัน อย่างนเอยตัวเลขจะเพิ่มขึ้นไปอีกใน 1-2 สัปดาห์ แต่จะเพิ่มขึ้นแบบตั้งชัน เอียงลาด หรือต่ำเตี้ยที่คนไทยเคยทำได้ในการระบาดรอบแรก ซึ่งถ้าทุกคนร่วมมมือช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบ100% ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง ไม่ไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากแออัด เข้าใช้บริการให้สแกนไทยชนะ ก็จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อที่กำลังพุ่งขึ้นลดลงมา ซึ่งมาตรการต่างๆที่ทำร่วมกันตอนนี้จะส่งผลในช่วงกลางเดือนม.ค."นพ.ทวีศิลป์กล่าว