การจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับ

การจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับ

โลจิสติกส์ย้อนกลับ จึงเป็นกระบวนการในการดึงผลิตภัณฑ์กลับจากผู้บริโภคปลายน้ำเพื่อนำกลับมาสร้างมูลค่าใหม่หรือการกำจัดทิ้ง !

Reverse Logistics Executive Council (2007) ได้ให้คำนิยามโลจิสติกส์ย้อนกลับไว้ดังนี้

'กระบวนการวางแผน ดำเนินการ และควบคุมการไหลเวียนของวัตถุดิบ สินค้าคงคลังระหว่างกระบวนการ สินค้าสำเร็จรูป และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มทุน จากจุดบริโภคไปยังจุดกำเนิดสินค้า เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียกคืนมูลค่าหรือการกำจัดอย่างเหมาะสม'

โลจิสติกส์ย้อนกลับ จึงเป็นกระบวนการในการดึงผลิตภัณฑ์กลับจากผู้บริโภคปลายน้ำเพื่อนำกลับมาสร้างมูลค่าใหม่หรือการกำจัดทิ้ง ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการเรียกคืนสินค้า การตรวจสอบ การคัดเลือก การคัดแยก การปรับสภาพใหม่และการกระจายสินค้า ไปจนถึงการกำจัดอย่างถูกวิธี

ธุรกิจค้าปลีก ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่ก่อให้เกิดของเสียปริมาณมากทั้งในรูปของบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงสินค้าชำรุดหรือหมดอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ของเสียเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดทิ้ง โดยในอดีต จะใช้วิธีการนำไปฝังกลบ (Landfill) ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทนที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือมิฉะนั้นก็จะนำไปเผาในเตาเผา ซึ่งจะทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศเช่นกัน โดยในปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้โดยการใช้มาตรการ 3Rs คือ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการรีไซเคิล (Recycle) ที่สามารถช่วยลดปริมาณของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบลงได้อย่างมาก ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยกระบวนการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ

การถอดแยกชิ้นส่วน เป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการโลจิสติกส์ย้อนกลับที่สามารถช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยการนำสินค้าที่หมดอายุกลับมาเพื่อถอดแยกเป็นส่วนประกอบและอะไหล่ย่อยๆ แล้วจึงทำการปรับสภาพ (Reconditioning) เพื่อสร้างคุณค่ากลับไปใหม่ (Recapture value) โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) การผลิตใหม่ (Remanufacturing) และการรีไซเคิล (Recycle) โดยหากไม่สามารถสร้างคุณค่ากลับไปในตัวสินค้าได้ สินค้าเหล่านั้นจะถูกนำไปกำจัดทิ้ง (Disposal) ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าการถอดแยกชิ้นส่วนมีส่วนสำคัญในการลดของเสียที่จะต้องถูกนำไปฝังกลบ รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรใหม่ การปล่อยก๊าซพิษ และการสิ้นเปลืองพลังงานในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่

ความท้าทายของกระบวนการถอดแยกชิ้นส่วนในการจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับ คือความไม่แน่นอนของปริมาณ คุณภาพ และลักษณะการออกแบบของสินค้าที่ส่งผลต่อความยากง่ายในการถอดแยกและการนำกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตแล้ว กิจกรรมการถอดแยกชิ้นส่วนมีบทบาทต่อการทำโลจิสติกส์ย้อนกลับในระดับต่ำ เนื่องจากสินค้าที่รับคืนส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าที่ยังไม่ถูกแกะออกจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสามารถนำกลับมาขายบนชั้นวางต่อได้ทันที หรือหากเป็นสินค้ามีปัญหาก็จะถูกนำส่งคืนไปยังซัพพลายเออร์โดยไม่มีการถอดแยกแต่อย่างใด ดังนั้น โลจิสติกส์ย้อนกลับเพื่อลดปริมาณขยะของไฮเปอร์มาร์เก็ตจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบสำหรับการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาสร้างคุณค่าใหม่ อาทิ การสร้างระบบปิดในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลของ เทสโก้ โลตัส โดยจัดตั้งเครื่องรับขวดพลาสติกแบบอัตโนมัติ (Reverse Vending Machine) เพื่อให้ลูกค้านำขวดและกระป๋องที่ไม่ใช้แล้วมาแลกกับคะแนนบัตรคลับการ์ด และปัจจุบัน ได้เพิ่มแคมเปญเป็นการแลกกับไข่ไก่ โดยขวดพลาสติกที่เก็บกลับมาจากสาขาเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส จะถูกส่งต่อไปให้บริษัท เอสซีจี นำไปรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นถุงผ้าสำหรับให้ลูกค้านำกลับมาใช้ช้อปปิ้งอีกครั้งเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อันเป็นการลดปริมาณขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว โดยแปลสภาพกลับมาใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป

หรือการที่ Sainsbury ซูเปอร์มาร์เก็ตของสหราชอาณาจักรลงทุนจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลบริเวณสโตร์ โดยมีการให้ผลตอบแทนคืนเป็นคูปองส่วนลด 5p ต่อชิ้น สำหรับการนำสินค้ากลับมารีไซเคิล ณ จุดที่กำหนดไว้ภายในห้างค้าปลีก ทำให้สามารถรีไซเคิลพลาสติกได้ประมาณปีละ 300 ตัน โดยจะเพิ่มเติมในส่วนของการรีไซเคิลกระป๋องเหล็ก แก้ว กระดาษ เสื้อผ้า และวัสดุประเภทอื่น ๆ และวางแผนที่จะสร้างเพิ่มศูนย์รีไซเคิลในบริเวณเดียวกับสโตร์ 274 สาขา

การทำโลจิสติกส์ย้อนกลับยังมีความท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการโลจิสติกส์สีเขียว ซึ่งคราวหน้าเรามาคุยกันต่อครับ