แพทย์ศิริราช คาดโควิด-19ระลอกใหม่ใช้เวลา2-3เดือนโรคสงบ

แพทย์ศิริราช คาดโควิด-19ระลอกใหม่ใช้เวลา2-3เดือนโรคสงบ

แพทย์ศิริราช ระบุทั่วโลกทุก 2 วัน มีผู้ติดเชื้อแตะหลักล้าน ส่วนเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ผู้ป่วยลดลง ขณะที่ไทย น่าห่วงระลอกใหม่หนักกว่าระลอกแรก คาดระลอกใหม่ใช้เวลา 2-3 เดือนโรคสงบ

ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัจจุบัน ณ รพ.ศิริราช โดยระบุว่า จากข้อมูลล่าสุดวานนี้ (28ธ.ค.) พบทั่วโลก ทุกๆ 2 วัน จะมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นแตะหลัก 1 ล้านคน โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา แม้จะเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นผล

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่ก่อนหน้านี้น่าเป็นห่วง เช่น เมียนมา  พบมีอัตราผู้ป่วยในประเทศเริ่มลดลงแล้ว ขณะที่ในไทยตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา พบมีการแพร่ระบาดในประเทศ จากคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยสิ่งที่น่ากังวลสำหรับการระบาดในระลอดใหม่นี้ เกิดจากบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย ทำให้การสอบสวนโรคและควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ยาก จึงห่วงการระบาดระลอกใหม่มากกว่ารอบแรก เพราะเมื่อเทียบจากตัวเลขผู้ป่วยช่วงเดือนมีนาคม ที่มีตัวเลขคนติดเชื้อวันละ 2 หลักต้นๆ ค่อยๆ ไต่เป็นหลักร้อย ในเวลา 3 วัน

"การแพร่ระบาดตอนนี้ในประเทศ พบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ต่อ 1 วัน จากคลัสเตอร์ 2 จุด ทั้งที่ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร ที่พบแพร่ระบาดในตลาด ก่อนจะกระจายเมื่อมีการส่งอาหารทะเลไปในหลายจังหวัดทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่ว และอีกจุดคือบ่อนที่จังหวัดระยอง ที่สอบสวน และหาตัวบุคคลยากมากที่สุด จึงขอให้บุคคลที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงติดเชื้อให้เข้ารับการตรวจ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อหากพบมีการติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ"ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

โควิด-19 กลายพันธุ์ แพร่เร็ว แต่ไม่รุนแรง

สำหรับการกลายพันธุ์ที่สำคัญของเชื้อโควิด-19 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุพบว่า สายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่พบที่อู่ฮั่น เรียกสายพันธุ์ D614 ขณะที่ สายพันธุ์ G614 เริ่มในสัดส่วนประมาณ 26% ของเชื้อที่พบนอกประเทศจีนในเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มปริมาณสัดส่วนขึ้นเร็วมากในเดือนเมษายน ซึ่งพบมากถึง 65% และในเดือนพฤษภาคม พบมากถึง 70% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์ตั้งเดิมมาก

หลังจากนั้น ในเดือนกันยายน เริ่มพบสายพันธุ์ B1.1.7 ในสหราชอาณาจักร กลางเดือนพฤศจิกายน โดยสายพันธุ์นี้พบเป็น 20-30% ของโควิด-19 ที่ระบาดในสหราชอาณาจักร และพบมากพบเพิ่มมากเป็น 60% ในต้นเดือนธันวาคม ทั้งนี้ พบว่าสายพันธุ์ B1.1.7 แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G614 ไม่มีหลักฐานกว่ารุนแรงกว่า และอยู่ในศักยภาพที่วัคซีนที่ผลิตอยู่ป้องกันได้

"อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 คือ ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นและอาจสูงพอที่จะยับยั้งเชื้อได้ประมาณ 8 วันหลังการติดเชื้อ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค (รุนแรงน้อย ระดับภูมิคุ้มกันน้อย) โดยระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น จะขึ้นเร็วใน 3 สัปดาห์แรกหลังการติดเชื้อ แล้วค่อยๆ ลดลง โดยจะคงอยู่ได้นาน 40 วันจนถึง 7 เดือน จากการที่ภูมิคุ้มกันไม่ได้อยู่นาน การติดเชื้อซ้ำจึงเกิดขึ้นได้" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

คาดวัคซีนพร้อมใช้หลังกลางปีหน้า

สำหรับความคืบหน้าในการผลิตและพัฒนาวัคซีน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า วัคซีนที่ผ่าน Preclinical phase คือศึกษาเฉพาะในสัตว์ทดลอง ประสบความสำเร็จเมื่อใช้ในคน เพียง 7% เท่านั้น และวัคซีนที่ผ่านเข้าสู่การศึกษาในคน ประสบความสำเร็จเพียงประมาณ 20% วัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคนระยะที่ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริง
เพียง 50% นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องผลิตวัคซีนในหลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกัน คนจากต่างพื้นที่ ต่างวัย อาจตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกันPost marketing surveillance เป็นการศึกษาติดตามผลของการใช้วัคซีน ทั้งประสิทธิภาพและภาวะข้างเคียง คาดวัคซีนที่จะพร้อมใช้ให้คนทั่วโลก ไม่น่าเร็วไปกว่ากลางปี 2021

แนวทางจัดการการแพร่ระบาดโรค

 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังเสนอแนวทางร่วมกันจัดการกับการแพร่ระบาด กล่าวว่า คนไทยทุกคนมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จุดอ่อนแม้แต่จุดเดียว อาจส่งผลมหาศาลต่อประเทศและส่งผลกระทบเชิงลบให้กับสังคม วัคซีนที่ผลิตยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และผลยังไม่สามารถรับรองได้อย่างเต็มที่ ขอให้ใช้วัคซีนที่ประเทศไทยมี ซึ่งแสดงผลให้เห็นตลอดค่อนปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็น "ผู้ที่เสี่ยงกับการได้รับเชื้อ" จากการเข้าร่วมหรือสัมผัสกับผู้ที่เข้าร่วมในกิจกรรมที่ทำขี้เหล็ก ขอให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 (เพื่อความปลอดภัยของตน ครอบครัว เพื่อนฝูง และสังคม) ก่อนรู้ผลตรวจ ขอให้ป้องกันการแพร่เชื้อด้วยการใส่หน้ากาก (ทั้งนอกอาคารและในอาคารรวมทั้งในบ้าน) รักษาระยะห่างกับบุคคลอื่น ทำความสะอาดมือบ่อยๆ บันทึกสถานที่ไป (ใช้ application ไทยชนะ ทั้ง check-in และ check-out) หากผลตรวจพบการติดเชื้อ ให้เข้าสู่กระบวนการที่หน่วยงานราชการกำหนดไว้อย่างเข้มงวด

"ผู้ประกอบการ" ขอให้ดำเนินการตามข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะมีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อเข้ารับบริการโดยที่
ไม่มีอาการชัดเจน (ตรวจวัดอุณหภูมิกาย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล จัดให้มีแอลกอฮอล์เจล พนักงานใส่หน้ากาก จัดให้มี QR Code เพื่อ check-in,
check-out)

"ผู้เข้ารับบริการ" ขอให้ดำเนินการตามข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะมีโอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ใกล้โดยไม่มี
อาการชัดเจน (ตรวจวัดอุณหภูมิกาย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล จัดให้มีแอลกอฮอล์เจล ใส่หน้ากากและถอดเมื่อมีความจำเป็น check-in, check-out)

"ประชาชนทั่วไป" ขอให้ดำเนินการตามข้อแนะนำที่มีประกาศจากหน่วยงานราชการศบค. อย่างเคร่งครัด (การใส่หน้ากาก - ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา มีการแนะนำให้ใส่หน้ากากขณะอยู่ในอาคารด้วย ยกเว้นที่บ้านที่ไม่มีสมาชิกมีอาการผิดปกติ - การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีคนอยู่ร่วมกันมากๆ เป็นเวลานาน การใช้แอลกอฮอร์เจลหรือล้างมือบ่อยๆ การระบุสถานที่ที่ไปมา ผ่าน application ไทยชนะ หรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้ การแนะนำเพื่อน ผู้ร่วมงานหรือคนรู้จักให้ช่วยกันดำเนินการดังกล่าวใช้ตุลยพินิพิจารณาข้อมูลที่สื่อในสื่อสังคมก่อนดำเนินการหรือส่งต่อ

"ส่วนการคาดการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในระลอกใหม่ คาดว่าต้องใช้เวลานาน 2-3 เดือน โรคถึงจะสงบ ทั้งนี้ก็ต้องไม่มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้อีก 1 สิ่งที่ไทยต้องเฝ้าระวังคือ เชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ในอังกฤษ ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าจึงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณามาตรการปิดช่องโหว่ที่จะทำให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เล็ดลอดเข้ามาในไทยได้"