แตกต่างอย่างไม่แตกแยก 'สังคมไทย' สังคมหลายรุ่น

แตกต่างอย่างไม่แตกแยก 'สังคมไทย' สังคมหลายรุ่น

การที่ประเทศไทยจะเป็น “สังคมหลายรุ่น” ที่ประชากรในรุ่นวัยต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป จะไม่มีรุ่นไหนที่จะเป็น “รุ่นใหญ่” หรือมีสัดส่วนที่ใหญ่และเป็นสัดส่วนหลักอย่างที่เคยเป็นมา เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไรให้ไม่แตกแยก?

สังคมสูงวัย เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ การบริหารจัดการทางสังคม การวางแผนทางธุรกิจและการทำการตลาด กระนั้นก็ตาม อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการที่ประเทศไทยจะเป็น “สังคมหลายรุ่น” ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป และจะไม่มีรุ่นไหนที่จะเป็น “รุ่นใหญ่” หรือมีสัดส่วนที่ใหญ่และเป็นสัดส่วนหลักอย่างที่เคยเป็นมา 

ในบทความนี้ คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอประชากรในรุ่นวัยต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป ซึ่งการตระหนักในประเด็นนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมที่แตกต่าง “แต่ไม่แตกแยก”

สังคมไทย ประกอบด้วยประชากร 7 รุ่น ได้แก่ 1.ประชากรรุ่นสงครามโลก (GI) 2.ประชากรรุ่นเงียบ (Silent) หรือรุ่นหัวโบราณ (Traditionalists) 3.ประชากรรุ่น Gen-B หรือรุ่นเบบี้บูม 4.ประชากรรุ่น Gen-X 5.ประชากรรุ่น Millennials ซึ่งบางท่านเรียกว่ารุ่น Gen-Y หรือ Gen ME 6.ประชากรรุ่น Gen-Z หรือที่บางท่านเรียกว่ารุ่น Nexters และ 7.ประชากรรุ่น Gen Alpha

160900308517

เป็นที่คาดว่าเมื่อถึงปี 2583 ประชากรรุ่นสงครามโลก (GI) จะจากพวกเราไปหมดแล้ว เหลือเพียงประชากร 6 รุ่น โดยจะมีเพียงประชากรรุ่นเจนอัลฟ่ารุ่นเดียวเท่านั้นที่เพิ่มจำนวนขึ้น (หากยังไม่มีการเริ่มกลุ่มประชากรใหม่ ที่มีลักษณะแตกต่างจากเจนอัลฟ่า) ซึ่งอาจจะเพิ่มมากขึ้นถึง 160% จากเพียง 7.3 ล้านในปัจจุบัน กลายเป็นประชากรุ่นที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 (19.02 ล้านคน) รองจากประชากรรุ่นมิลเลนเนียล (19.15 ล้านคน) ซึ่งแสดงว่าประเทศไทยจะเป็น “สังคมหลายรุ่น” ที่จะไม่มีรุ่นไหนที่จะเป็น “รุ่นใหญ่” หรือมีสัดส่วนที่ใหญ่และเป็นสัดส่วนหลักอย่างที่เคยเป็นมา

  • เปลี่ยนยุค เปลี่ยนคน เปลี่ยนโอกาส

วิถีแห่งเศรษฐกิจไทยและโอกาสทางธุรกิจในปัจจุบันตลอดถึงในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า ย่อมไม่เหมือนกับช่วง 2-3 ทศวรรษก่อน หรือยุคที่ประชากรรุ่นเบบี้บูมเคยเป็นกำลังหลักทางเศรษฐกิจ ที่เคยทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตถึงร้อยละ 10 ต่อปี ก้าวพ้นจากการเป็นประเทศรายได้น้อย (low income country) มาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (middle income country) จากความมานะบากบั่น ความอดทน ความเชื่อมั่นในตัวเองสูง การให้ความสำคัญกับการมีระเบียบในการดำเนินชีวิต ทุ่มเทชีวิตให้กับหน้าที่การงาน และองค์กรบริษัทที่ตนทำงานอยู่ และปฏิบัติตามกรอบระเบียบกติกาอย่างเคร่งครัด

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจของประเทศเป็นพลังของประชากร 3 รุ่น คือ 1.ประชากรรุ่นมิลเลนเนียล (19.9 ล้านคน) 2.ประชากรรุ่นเจน-เอ็กซ์ (14.6 ล้านคน) และประชากรรุ่นเจน-บี หรือรุ่นเบบี้บูม (13.3 ล้านคน) ตามลำดับ ซึ่งเมื่อถึงปี 2583 ประชากรรุ่นมิลเลนเนียลจะยังเป็นพลังหลักทางเศรษฐกิจต่อไป เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ ด้วยขนาดของประชากรที่จะมากถึง 19.2 ล้านคน รองลงมาคือรุ่นเจน-เอ็กซ์ (12.5 ล้านคน) ในขณะที่ประชากรรุ่นเจน-บี ซึ่งเคยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อหลายทศวรรษก่อน จะลดจำนวนลงถึงเกือบเท่าตัว เหลือประมาณ 6 ล้านคน

ถ้าจะกล่าวถึงลักษณะเด่นของเจน-เอ็กซ์ จะพบว่าประชากรรุ่นนี้ทุ่มเทชีวิตให้กับหน้าที่การงานในระดับหนึ่ง สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ประชากรรุ่นนี้เห็นประชากรรุ่นเบบี้บูม (รุ่นพ่อแม่ของตน) เคยประสบความสำเร็จจากการทุ่มเทชีวิตให้กับหน้าที่การงาน ความมานะบากบั่น ความอดทน แต่ก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง 

อย่างไรก็ดี ประชากรรุ่นเจน-เอ็กซ์ก็มีความยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ปิดกั้นตนเองจนเกินไป รวมถึงมีความคิดว่าการเปลี่ยนงานย้ายงานเป็นเรื่องปกติ เป็นการให้โอกาสกับชีวิต และเป็นการปรับตัวเข้ากับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการที่รุ่นเจน-เอ็กซ์เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยี อาทิ คอมพิวเตอร์เริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันและการทำงาน

สำหรับรุ่นมิลเลนเนียลไม่เพียงเป็นประชากรกลุ่มใหญ่สุดของประเทศในปัจจุบัน หากแต่ยังเป็นรุ่นที่มีศักยภาพ สอดรับกับสังคมฐานความรู้แบบมืออาชีพแห่งศตวรรษที่ 21 ประชากรรุ่นนี้มีศักยภาพสูงในการเรียนรู้ รอบรู้ มีศักยภาพในการคิดและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มีศักยภาพที่จะจัดการกับเวลาว่างให้เป็นประโยชน์และพัฒนาต่อยอดแบบมืออาชีพได้ ให้ความสำคัญกับเครือข่ายทางสังคมซึ่งแทรกอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของการทำงาน ชอบการประกวดแข่งขัน ให้ความสำคัญกับรางวัลเชิดชูความสำเร็จ และคาดหวังที่จะมีวิถีชีวิตการทำงานในรูปแบบที่หลากหลายกว่าเดิม

  • คลื่นลูกใหญ่ คลื่นลูกใหม่

สำหรับประชากรรุ่นเจน-แซด หรือที่เรียกกันเก๋ๆ อีกอย่างว่ารุ่น Nexters จัดว่าเป็นชาวดิจิทัลโดยแท้ โดยประชากรรุ่น Nexters มีส่วนที่คล้ายกับประชากรรุ่นมิลเลนเนียลในระดับหนึ่ง คือเมื่อได้แสดงฝีมือไปแล้วจะคาดหวังว่าจะได้รับคำติชม หรือได้รางวัลตอบแทน ในขณะเดียวกันก็เป็นรุ่นที่ใส่ใจปัญหาสังคม และไม่ปิดกั้นตัวเองในการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสียงของตน 

ประชากรรุ่น Nexters ชอบและเหมาะกับการทำงานเป็นทีมขนาดเล็ก เก่งในการค้นข้อมูลนอกตำราจากอินเทอร์เน็ต ชอบการสื่อสารที่ชัดและรวดเร็ว ชอบและคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆ การพูดคุยทางออนไลน์ และชอบที่มีโค้ชหรือ ติวเตอร์ส่วนตัวแบบที่สามารถติดต่อได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะไกลกันเพียงใด

ประชากรรุ่นเจนอัลฟ่าเป็นรุ่นที่มีความเข้าใจ ฉลาดและเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนๆ มีความสามารถสูงในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดจนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ประชากรรุ่นนี้เติบโตมาในช่วงที่พรั่งพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากที่สุด และใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี อาจมีความอดทนไม่สูงนักและสมาธิในการทำอะไรๆ อาจไม่ยาวนัก

ในอนาคต ประชากรรุ่นเจนอัลฟ่าและประชากรรุ่นมิลเลนเนียล จะมีบทบาทที่สำคัญทั้งในภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจต่อประเทศ โดยประชากรรุ่นมิลเลนเนียลจะมี 19.15 ล้านคน และประชากรรุ่นเจนอัลฟ่าจะมี 19.02 ล้านคน 

ดังนั้น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการมี empathy จะมีส่วนสำคัญมากในการสร้างความเข้าใจกันระหว่างกลุ่มประชากรในอนาคต ที่จะมีขนาด “ไม่น้อย” นอกจากนี้เทคโนโลยีการสื่อสารจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้าง “ความเข้าใจ” หรือสร้าง “ความไม่เข้าใจ” ระหว่างประชากรในกลุ่มต่างๆ ดังนั้น หากมีการปลูกฝังให้ประชากรรุ่นเจนอัลฟ่าและประชากรรุ่นมิลเลนเนียลเรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้ความแตกต่าง ไม่กลายเป็นความแตกแยก