‘ศีลธรรม’ ไทย อยู่อันดับไหนในเวทีโลก?

‘ศีลธรรม’ ไทย อยู่อันดับไหนในเวทีโลก?

ส่องอันดับคะแนนดัชนีศีลธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และชีวิตที่ดี ปี 2563 ที่สะท้อนให้เห็นว่ามิติด้านจิตใจกับการกินดีอยู่ดีเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพัฒนาควบคู่กัน แต่ก็มีข้อสังเกตว่าประเทศในเอเชียส่วนใหญ่อันดับจะไม่ค่อยสูง แล้วไทยอยู่อันดับไหนในเวที?

ศีลธรรมในฐานะของสินค้าสาธารณะ ศีลธรรมเป็นสิ่งที่ใช้แล้วไม่หมดไป ถึงมีคนให้ความสำคัญกับศีลธรรมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน ไม่ได้ทำให้ศีลธรรมนั้นขาดแคลน ไม่ได้ลดทอนคุณค่าหรือลดความสำคัญลงไปเลย ในทางตรงกันข้าม ยิ่งมีคนมีศีลธรรมมาก ก็จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อสังคมมากขึ้นเพราะช่วยให้เกิดความสงบสุขของสังคม

อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมทำหน้าที่นี้ได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับวิธีการในการกล่อมเกลาทางสังคม หากกระบวนการกล่อมเกลามีเหตุมีผลช่วยให้สมาชิกในสังคมมีความเข้าใจหลักคำสอนอย่างถ่องแท้ ไม่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ส่วนตัวแล้ว ศีลธรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นเนื้อแท้ของสังคมที่กลายเป็นเสาหลักอันหนึ่งในการค้ำจุนสังคมให้มีความสงบมั่นคง

ศีลธรรมในฐานะทุนทางสังคม ศีลธรรมเปิดโอกาสให้คนในสังคมที่มีความเชื่อพื้นฐานคล้ายคลึงกันได้มีโอกาสพบปะพูดคุยทำความรู้จักกัน ก่อให้เกิดชุมชนและเครือข่ายทางสังคมของผู้ที่มีความเชื่อคล้ายคลึงกัน ประโยชน์ที่ได้รับไม่ได้มีแต่ความรู้สึกทางใจเท่านั้น เครือข่ายนี้ยังช่วยให้สมาชิกสามารถรับข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆ ได้มากกว่าที่จะต้องไปหาด้วยตัวของตัวเอง บ่อยครั้งที่กิจกรรมในลักษณะนี้ได้นำไปสู่ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางธุรกิจ

นอกจากนี้แล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นให้ผลสอดคล้องกันว่าการทำตัวอยู่ในกรอบของศีลธรรม (และศาสนา) มีผลในทางบวกต่อระดับการเรียนอีกด้วย โดยพบว่าเยาวชนที่มีระดับศีลธรรมหรือมีส่วนรวมกับกิจกรรมทางศาสนาโดยสมัครใจ มีระดับผลการเรียนโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม เพราะมีโอกาสพัฒนาระดับความคิดในเชิงนามธรรมสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการคิดและวิเคราะห์ขั้นสูง 

ขณะที่ครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกันมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวน้อย สมาชิกในครอบครัวมีความมั่นคงทางจิตใจ จึงมีสมาธิในการทำงานและการเรียนได้ดีกว่าครอบครัวที่มีฐานะใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนี้มากนัก

แม้ว่าตัวเลขการจัดอันดับของประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก นั่นไม่ได้หมายความว่า สังคมของเราเป็นสังคมที่เลวร้าย แต่อย่างน้อยการมีตัวเลขให้ดูก็ทำให้เรามีฐานในการคิดต่อว่าตอนนี้สังคมของเราเป็นอย่างไร ทิศทางข้างหน้าควรเป็นอย่างไร

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ชายผู้พิสูจน์การดำรงอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงที่เป็นปริศนาคาใจให้วงการวิทยาศาสตร์รอการพิสูจน์มากว่าร้อยปีเคยกล่าวไว้ว่า “วิทยาศาสตร์ที่ขาดมิติทางศาสนา (และศีลธรรม) เป็นเรื่องน่าเบื่อ ฉันใดก็ฉันนั้น ความเชื่อทางศาสนาที่ขาดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์รองรับก็คือการปิดหูปิดตาคนดีๆ นี่เอง”