เปิดโมเดล 'สถานกักกันต่างด้าว' ปิด'จุดเสี่ยง'โควิดชายแดน

เปิดโมเดล 'สถานกักกันต่างด้าว' ปิด'จุดเสี่ยง'โควิดชายแดน

รัฐบาลเล็งใช้พื้นที่ ตชด.ตั้งศูนย์กักกัน รูปแบบ OQ เป็นมาตรการเชิงรุกในการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดแนวชายแดน

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ ยังไม่มีทีท่าจะลดลง แต่กลับขยายวงกว้างแพร่ไปยังหลายจังหวัด ทำให้รัฐบาลต้องจัดเตรียมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลสนาม เอาไว้รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19

แต่อีกทางหนึ่งก็ต้องจัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับ “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก โดยรัฐบาลกำลังพูดถึง “โมเดล OQ” หรือ Organization Quarantine ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกในการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดตามแนวชายแดน

โดยมีรายงานว่า อาจจะใช้พื้นที่ของกองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีหน่วยงานครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นสถานที่ในการจัดตั้งศูนย์กักกันแรงงานตามแนวชายแดน

นายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จะมีการนำมาตรการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนแรงงานเมียนมา หรือสมุทรสาครโมเดล ซึ่งจะทำการปิดพื้นที่ เพื่อทำสถานกักกันเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยง แต่ไม่ได้เป็นการปิดทั้งจังหวัด

ทั้งนี้รัฐบาลได้วางโมเดลสถานกักกันไว้ 7 รูปแบบ ดังนี้ 1.สถานที่กักกันที่รัฐกำหนด (State Quarantine) 2.สถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine ตัวย่อ ASQ) 3.สถานที่กักกันที่รัฐกำหนดในพื้นที่ (Local Quarantine ตัวย่อ LQ)

4.สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ (Alternative Local Quarantine ตัวย่อ ALQ 5.สถานที่กักกันโดยองค์กร (Organizational Quarantine ตัวย่อ OQ) 6.สถานที่กักกันในสถานพยาบาลที่รัฐกำหนด (Hospital Quarantine ตัวย่อ HQ) 7.สถานที่กักกันทางเลือกในสถานพยาบาล (Alternative Hospital Quarantine ตัวย่อ AHQ)

ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหาแนวทางเพื่อหาสถานกักกันให้แก่แรงงานต่างด้าวในช่วงการแพร่ระบาดโควิด โดยอาจใช้พื้นที่ของกองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่หลายจังหวัดตามแนวเขตชายแดน

สำหรับ กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน โครงสร้างหน่วยงานในสังกัดมีด้วยกัน 4 ภาค คือ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 มีหน่วยงานย่อยอยู่ในจังหวัดจันทบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 มีหน่วยงานย่อยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี สกลนคร และ อุดรธานี

ส่วนกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 มีหน่วยงานย่อยอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก พะเยา เชียงใหม่ และ ตาก และกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 มีหน่วยงานย่อยอยู่ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และ ยะลา

ขณะที่กองบังคับฝึกพิเศษ ซึ่งจะอยู่ตามจังหวัดต่างๆ คือ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี เชียงใหม่ อุดรธานี สุโขทัย เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา ก็อาจจะอยู่ในข่ายที่ต้องใช้เป็นสถานกักกันแรงงานต่างด้าวด้วย

นอกจากการเตรียมความพร้อมตามมาตรการต่างๆ “รัฐบาล” เริ่มขยับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และโรคติดต่ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อเป็นการป้องปราม ไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ

โดยหลัง ครม.อนุมัติหลักการ จะส่งเรื่องด่วนไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป

โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่า นอกราชอาณาจักร ที่พบผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ หรือโรคระบาดไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร

2.ให้รัฐมนตรีสาธารณสุข มีอำนาจประกาศหลักเกณฑ์ การได้มา เข้าถึง กำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่า เป็นโรคติดต่ออันตราย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค สถานที่กักกันโรค

3.ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และแพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง

4.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค

5.กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

6.ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น กำหนดให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

7.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโรค รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใดๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค

8.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือกรณีที่โรคได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการ หรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

และ 9.กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่ง หรือข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามถึงการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ รัฐบาลดำเนินการช้าไปหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าสาเหตุหลักที่ต้องบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่บังคับใช้อยู่ ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บูรณาการการทำงานได้อย่างคล่องตัว

ทว่าประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยรายใหม่มาตั้งแต่เดือน พ.ค. จนกระทั่งต้นเดือน ธ.ค. จึงพบการแพร่ระบาดรอบใหม่ แต่ในห้วงเวลาดังกล่าว “รัฐบาล” ไม่ได้เดินหน้าปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย จึงเกิดคำถามว่าจงใจบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์บางอย่างหรือไม่

หลังจากนี้ “พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาล” ต้องพิสูจน์ฝีมือการทำงานว่า จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีมากน้อยเพียง โดยมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นโจทย์ใหญ่ในการคิดมาตรการแก้ไขปัญหาครั้งนี้