10จ.แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่มาก อย่าซ้ำรอย "โควิดสมุทรสาคร"

10จ.แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่มาก อย่าซ้ำรอย "โควิดสมุทรสาคร"

เป็นที่ชัดเจนว่า “โควิด-19”ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในจ.สมุทรสาคร เกิดขึ้นจากการเดินทางเข้าไทยของ“แรงงานชาวเมียนมาโดยไม่ผ่านระบบกักตัว” เกิดการแพร่ในชุมชนแรงงาน และต่อมาถึงคนไทย แต่ต้องไม่ลืม ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวไม่ได้ทำงานอยู่ในประเทศไทยเพียงจ.เดียว

กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวมากที่สุด ฉะนั้น บทเรียนที่เกิดขึ้นจะต้องนำมาสู่การป้องกันไม่ให้เกิด “ไฟกองโต”ขึ้นซ้ำรอย

ก่อนหน้านี้ ในช่วงราวเดือนพ.ค.2563 หลังการระบาดของโควิด-19รอบแรกในประเทศไทยสงบลง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้สั่งการให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั่วประเทศดำเนินการ “Sentinet Surveillance” ด้วยการสุ่มตรวจในประชากรกลุ่มเสี่ยง รวมถึง แรงงานต่างด้าวด้วย จำนวนกลุ่มเป้าหมายราว 90,000 คน “ไม่พบการติดเชื้อในประชากรกลุ่มเสี่ยง” บวกกับผลการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อที่จ.สมุทรสาครทั้งในชาวไทยและเมียนมา เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก และอ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งมีต้นทางจากประเทศอินเดีย “ไม่ได้มาจากเรือประมงอินโดนีเซีย”เพราะเชื้อคนละตัวกับที่ระบาดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย

 ต้นตอเชื้อมาจากเมียนมา

เท่ากับต้นตอของการระบาดครั้งนี้ต้องมีการ “เข้ามาใหม่ของแรงงานต่างด้าว” ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 2 กรณี คือ 1.แรงงานถูกกฎหมายกลับออกไปและกลับเข้ามาใหม่ แบบแรงงานถูกกฎหมายแต่เข้ามราแบบไม่ได้กักตัว 14 วัน และ2.ลักลอบนำแรงงานปิดกฎหมายเข้ามาทำงาน

สำหรับการระบาดรอบใหม่ในไทย ที่พบผู้ติดเชื้อกระจายไปในหลายจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีประวัติเชื่อมโยงกับ “ตลาดกลางกุ้ง” จุดศูนย์กลางการระบาด จนศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)ต้องแบ่งการบริหารจัดการจังหวัดเป็นพื้นที่ 4 โซน ประกอบด้วย พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวัง

160882327057

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การจำกัดพื้นที่การควบคุมโรค เป็นการพิจารณาว่าหากมีการระบาดที่ไหนก็จะมีการควบคุมเป็นจุดๆ ไป เป็นการล็อคเป็นจุดๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อวิถีชิวิตประชาชน ขณะนี้จะต้องเฝ้าระวังใน 2-3 วันต่อจากนี้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ควบคุมหรือโซนไข่แดงที่เป็นชุมชนแออัดของแรงงานต่างด้าวที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาครมีจำนวนลดลง ตรวจเชื้อครบ และตรวจชุมชนอื่นโดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง

“หากไม่มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างมีนัยยะ และการติดเชื้อสามารถเชื่อมโยงกับต้นทางได้ ก็แสดงว่าสามารถควบคุมพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นหลักการควบคุมโรคทั่วไป หากทุกคนให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันทุกอย่างก็จะสงบด้วยความรวดเร็ว ทั้งนี้การจำกัดพื้นที่จะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการประเมินความปลอดภัยตามมาตรฐานการควบคุมโรค ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางการ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือกับประชาชนไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก”อนุทินกล่าว

 10 จ.อย่าซ้ำรอย

อย่างไรก็ตาม เหตุที่สมุทรสาครและเชื่อมโยงจังหวัดอื่นนั้น ขณะนี้ยังเป็นไปตาม “ทฤษฎีสะเก็ดไฟ” คือ มีไฟกองใหญ่ที่เป็นพื้นที่ระบาดรุนแรงเกิดขึ้นที่จ.สมุทรสาคร และมีการสะเก็ดออกไปประปรายในจังหวัดต่างๆ หากแต่ละจังหวัดตามตะครุบทัน ด้วยการค้นหาผู้ติดเชื้อได้ตั้งแต่ระยะยัง “ไม่มีอาการ”และติดตามผู้สัมผัสของผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด ก็จะสกัดการลุกลามในจังหวัดนั้นได้ พร้อมๆกับการดับไฟกองใหญ่ จากนั้นสถานการณ์ก็จะสงบ

แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือ การป้องกันไม่ให้เกิด “ไฟกองใหญ่”ซ้อนทับหรือซ้ำรอยขึ้นมาอีก โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่มากที่สุดตามตัวเลขของกระทรวงแรงงาน ในเดือนพ.ย.2563 ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 589,419 คน 2.สมุทรสาคร 239,752 คน 3.สมุทรปราการ 161,745 คน4.ชลุบรี 158,578 คน 5.ปทุมธานี 134,389 คน 6.นนทบุรี 99,804 คน 7.นครปฐม 93,532 คน 8.เชียงใหม่ 89,357 ราย9.สุราษฎร์ธานี 77,528 คน และ10.ภูเก็ต 72,966 คน

160882329864

 คัดกรองเชิงรุกในชุมชนแรงงานเมียนมา

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดคัดกรองเชิงรุกในชุมชนแรงงานเมียนมา หากมีการติดเชื้ออาจใช้สมุทรสาครโมเดล โดยการปิดพื้นที่ทำ OQ (Organization Quarantine) ซึ่งเป็นการจัดการสถานการณ์อย่างเหมาะสม ปิดเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยง ไม่ได้เป็นการปิดทั้งจังหวัด และต้องสื่อสารให้ความรู้ประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เนื่องจากการปิดพื้นที่อาจทำให้ประชาชนกังวลและเดินทางออกจากพื้นที่ ขอให้มีการซักซ้อมความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ รวมถึงขอให้สถานประกอบการที่มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก ดำเนินการตรวจด้วย Rapid Test

ทั้งนี้ จาก “โควิดสมุทรสาคร” บทเรียนที่ประเทศไทยได้รับ จะต้องนำมาสู่การแก้ปัญหา “อุดช่องโหว่” ตั้งแต่ต้นทาง แนวชายแดนต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการลักลอบเข้าเมือง พื้นที่ชั้นในจะต้องตรวจตราแรงงานผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น

 ผู้ประกอบการอย่าฝ่าฝืน

เหนือสิ่งอื่นใด “ผู้ประกอบการ” ทั้งที่เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำงานและเจ้าของสถานที่พัก ซึ่งนับเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดแรงงานต่างด้าวและรู้ข้อมูลมากที่สุด จะต้องปฏิบัติตามคำของทางราชการอย่างเคร่งครัด ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอให้งดรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าทำงาน ร่วมมือสอดส่องและแจ้งเจ้าหน้าที่หากพบแรงงานลักลอบเข้ามาในประเทศ และหากจะรับแรงงานถูกกฎหมายเข้ามาใหม่ จะต้องจัดสถานที่กักกันโดยสถานประกอบการ(Organization Quarantine :OQ)ให้แรงงานแยกพัก 14 วันก่อนทำงาน

และคนไทยทุกคนจะต้อง “การ์ดไม่ตก” คงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลไว้อย่างเหนียวแน่น ใส่หน้ากากทุกครั้งเมื่อไปในสถานที่ชุมชน ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น และสแกนไทยชนะ เพราะข้อมูลจาก

160882335188

อย่าเพิ่งตรวจจับ

ขณะที่ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการ อาทิ 1. ขอให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายในการตรวจจับ กวาดล้างแรงงานและนายจ้างที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องการความร่วมมือจากแรงงานทุกคนในการตรวจ คัดกรองและรักษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่แรงงานยุติการกวาดล้างและดำเนินคดีอาญาต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างที่ผิดกฎหมายทุกกรณีในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยทันที โดยให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข

และ2. ขอให้รัฐบาลดำเนินการดึงแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสถานการณ์ทำงานที่ถูกกฎหมายที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย โดยมีมาตรการการอนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิดและจนกระทั่งจะมีการเปิดชายแดนให้มีการดำเนินการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้

ไม่มีอคติร่วมกันป้องกันโรค

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงอคติที่คนไทยเริ่มมีต่อแรงงานข้ามชาติว่า สิ่งที่เรากลัว เขาก็กลัว ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องกลับมาที่หลักการในการเข้าใจกัน และช่วยกันควบคุมป้องกันโรคน่าจะเป็นความปลอดภัยร่วม มากกว่าจะไปกดดัน ทำให้รู้สึกว่าแปลกแยก จนไม่อยากให้ความร่วมมือในการป้องกันโรค ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามกับที่ต้องการ

“วันนี้เรากลัวโรค แต่อย่ากลัวคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใคร ถ้าเรามีมาตรการในการที่ตัวเราเองดูแลตัวเอง ด้วยหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือให้ ยิ่งไม่ได้เข้าพื้นที่เสี่ยงก็อยู่ในความปลอดภัยอยู่แล้ว คนทุกชนชาติมีวิธีการในการป้องกันโรคที่เป็นมาตรการส่วนบุคคลเหมือนกันทั้งหมด” พญ.พรรณพิมล กล่าว


เชื่อว่าคนไทยทุกคน คงไม่อยากให้เกิด “ไฟกองใหม่ของโควิด-19”เกิดซ้อนทับหรือเกิดใหม่ขึ้นในจังหวัดอื่นๆ