'การบินไทย' จ่อยื่นแผนฟื้นฟู ก.พ.นี้ รับโควิดรอบใหม่กระทบผู้โดยสารวูบ 10%

'การบินไทย' จ่อยื่นแผนฟื้นฟู ก.พ.นี้ รับโควิดรอบใหม่กระทบผู้โดยสารวูบ 10%

“ชาญศิลป์” เผยคืบหน้าแผนฟื้นฟู เตรียมยื่นศาล ก.พ.นี้ รับโควิดระบาดรอบใหม่ กระทบผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศลด 10% หันเพิ่มรายได้นอนแอร์โร พร้อมลดค่าใช้จ่าย 30%

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ในช่วงสัปดาห์หน้าการบินไทยเตรียมยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดส่งแผนวันที่ 2 ม.ค.2564 เป็น 2 ก.พ.2564 ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ จะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้ คาดว่าจะจัดประชุมในกลางเดือน มี.ค.2564

โดยหากเจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นตามที่การบินไทยเสนอ ก็คาดว่าศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูอีกครั้ง ในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค.2564 และการบินไทยก็มั่นใจว่าจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เมื่อได้รับอนุมัติก็จะเดินหน้าดำเนินการตามที่กำหนด อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายระบุไว้ว่าต้องดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จในช่วงแรก 5 ปี และขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี โดยรวมจึงจะใช้เวลาดำเนินการแผนฟื้นฟูไม่เกิน 7 ปี 

“โควิดทำให้การเดินทางหายไปเยอะมาก ในปี 2563 มีผลรุนแรงอย่างยิ่งกับธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก รายได้หายไป 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ก็ทำให้การบินไทยเกิดการปรับตัวอย่างมาก โดยในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยมีเที่ยวบินในประเทศเริ่มกลับมา 60-70% แต่เมื่อเกิดโควิดเชียงรายและสมุทรสาคร ก็กระทบปริมาณหายไปเกือบ 10%”

อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังคงสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาสร้างรายได้ในประเทศ นอกเหนือจากธุรกิจการบิน ไม่ว่าจะเป็น รายได้จากครัวการบิน รายได้ต่างประเทศก็เพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) และเที่ยวบินรับคนไทยกลับบ้าน ซึ่งแม้ว่าการเพิ่มรายได้ดังกล่าวจะไม่สามารถชดเชยกับรายได้ที่การบินไทยเคยมีเดือนละกว่า 1 หมื่นล้านบาทได้ แต่ก็เป็นรายได้ที่ช่วยทำให้การบินไทยหาอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

นายชาญศิลป์ ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2564 การบินไทยจะพยายามหารายได้จากทุกช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน (นอนแอร์โร) การสร้างให้การบินไทยเป็นศูนย์กลลางภาคพื้นที่ให้บริการด้านภาคพื้นแก่สายการบินอื่น ทั้งงานบริการด้านอาหาร ด้านการซ่อมบำรุง และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งในปีหน้า การบินไทยยังคาดการณ์ว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงอีก 30% โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่จะลดจาก 1.3 หมื่นล้านบาท เหลือ 9 พันล้านบาท จากความร่วมมือของพนักงานทุกคน