'โควิด' ระลอกใหม่บอกอะไรคนไทยในยุค Digital

โควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้คนมีประสบการณ์การรับมือมาแล้ว พร้อมใช้ชีวิตกับแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตอื่นๆ ที่ตามมาอีก

หลังจากการถ่ายทอดสดจากจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อค่ำวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมประกาศปิดเมือง ก็เป็นอันแน่นอนว่าคนไทย กลับเข้าสู่สภาวะการแพร่ระบาดของโรค ‘โควิด-19 อีกครั้ง รอบนี้ดูจะน่ากลัวกว่ารอบแรกมากเพราะติดกันวันเดียว 500 กว่าคนทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มตรวจไปได้นิดเดียว วันต่อมาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กระจายไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งต้นต่อที่มาก็ล้วนมาจากสมุทรสาครเกือบทั้งสิ้น บรรยากาศที่คนไทยเริ่มผ่อนคลาย บรรยากาศรื่นเริงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงต้องใช้คำว่าชะลอตัวในทันที ถ้าภายใน 2-3 วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อและสถานการณ์ออกมาในลักษณะที่พอรับได้คนไทยที่พร้อมจะสนุกสนานก็คงจะเดินหน้าเข้าสู่บรรยากาศการเฉลิมฉลองกันได้

  • Digital ทางออกของชีวิต

เมื่อข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ออกมา ผมเฝ้าสังเกตอาการและอารมณ์ของผู้คนรอบๆ ตัว และติดตามใน Social Media ต่างๆ คนไทยส่วนใหญ่ดูจะคุ้นชินกับการดำรงชีวิตในสภาวะโควิด 19 แพร่ระบาดได้ดี เรียกได้ว่ามีแผนการเตรียมตัวในระดับหนึ่ง ไม่มีความกังวลว่าจะไม่สะดวกสบาย ไม่มีความกังวลว่าจะไม่มีอะไรทำหากต้องล็อกดาวน์

เพื่อนๆ หลายกลุ่มพูดถึงโปรแกรมที่เคยใช้บน Platform ที่ทำให้สายบันเทิงยังคงปาร์ตี้กันได้แม้ห่างไกล แถมไปได้หลายปาร์ตี้ หลายกลุ่มในค่ำคืนเดียว เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ปาร์ตี้ออนไลน์ไม่ใช่ปัญหา หลายกลุ่มพูดถึงการสั่งอาหารหรือกลุ่ม Shopping Online ยิ่งบันเทิงใหญ่ เพราะการ Shopping ผ่านจอมือถือหรือการนำเสนอสินค้าผ่านจอมือถือดูจะเป็นความเคยชิน และส่วนตัวผมคิดว่าจะอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป

หันมาดูเรื่องการทำงาน ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน การบริหารงาน การทำงาน ผ่านระบบสื่อสารทางไกล หรือ Online ดูจะเป็นเรื่องปกติ และแทบจะไม่กระทบการทำงานเลย ทุกสำนักงานมีการเตรียมเครือข่ายการสื่อสารที่ดี ทุกสำนักงานมีระบบประชุม Online ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสไตล์การทำงานและจริตของคนหมู่มากในที่ทำงาน

  • Digital จะไม่มีทางมาแทนที่มนุษย์  

อย่างที่บอกว่าการดำรงชีวิตและการทำงานจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในสถานการณ์โควิดเพราะ Digital จะทำให้ทุกอย่างราบรื่นไม่ติดขัด แต่สิ่งที่จะขาดหายไปอย่างสิ้นเชิง คือความเป็นมนุษย์ที่เทคโนโลยี Digital จะเข้ามาทดแทนไม่ได้ มนุษย์ชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม ทำอะไรร่วมกัน มนุษย์ที่ยังต้องการการพบปะพูดคุย ซุบซิบนินทาแบบตัวเป็นๆ

ไม่ว่าคุณจะขายของเก่งขนาดไหน นำเสนอเก่งขนาดไหน แต่มนุษย์ก็ยังต้องการรอยยิ้ม ต้องการการสัมผัสพูดคุย สบตา เห็นการเคลื่อนไหวของร่างกายในระหว่างพบเจอ รวมทั้งบรรยากาศโดยรอบ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจและสร้างความพึงพอใจให้กับมนุษย์เสมอ

Digital จะแทนที่มนุษย์ได้ก็เฉพาะการทำธุรกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะให้สำเร็จลงเท่านั้น แต่ Digital จะไม่มีทางที่จะแทนจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ได้เลย ยามห่างไกลเราอาจจะได้คุยกับสมาชิกในครอบครัว คุยกับเพื่อนฝูงที่เรารักผ่านเทคโนโลยี Digital ที่ให้ภาพคมชัด เสียงสดใส แต่สิ่งที่ Digital ถ่ายทอดไม่ได้คือความรัก ความอบอุ่น ความไว้ใจ และจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่จะถ่ายทอดถึงกันได้ด้วยการพบเจอกันแบบตัวเป็นๆ เท่านั้น ดังนั้นไม่ว่า Digital หรือ เทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปไกลเพียงใดก็ตาม Human Touch การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะยังคงเป็นไม้ตายหรือทีเด็ดทีขาดที่จะทำให้มนุษย์เหนือกว่าเทคโนโลยีอยู่ร่ำไป

มนุษย์อาจจะเลือกซื้อสินค้าได้จากที่บ้าน มีสินค้าให้เลือกมากมายจากทุกที่ทั่วโลก จ่ายเงินได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส และรอรับสินค้าได้เพียงไม่นาน ไม่ต้องออกไปฝ่าการจราจร ไม่ต้องต่อคิว เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตมนุษย์สามารถที่จะสั่งอาหารชั้นเลิศจากที่ไหนก็ได้ สั่งเครื่องดื่มรสชาติดี ใช้วัสดุที่อลังการ แต่มนุษย์ก็ยังต้องการผู้ร่วมโต๊ะอาหาร บริกรและบรรยากาศหรือกลิ่นไอในร้านอาหารที่แตกต่างไปจากเดิมๆ

อีกเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการเดินทาง การท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ มนุษย์วิวัฒนาการและสร้างค่านิยมในการพักผ่อนหย่อนใจด้วยการท่องเที่ยวมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีแล้ว การแสวงหาความแปลกใหม่การสัมผัสบรรยากาศจริงๆ ในที่แปลกๆ  พบปะพูดคุย ใช้ชีวิตในบรรยากาศแตกต่างจากที่ดำเนินอยู่ ถูกโปรแกรมให้เป็นความสุขและการพักผ่อนของมนุษย์เรียบร้อยแล้ว บรรยากาศแบบ Digital แม้ว่าจะเสมือนจริงแค่ไหน ก็ไม่ทำให้จิตใจมนุษย์รู้สึกดีขึ้นเลย ในทางตรงกันข้ามอาจจะเป็นการเพิ่มความต้องการให้มนุษย์ต้องการสัมผัสและพบเห็นสถานที่ต่างๆเหล่านั้นด้วยตาเนื้อ ด้วยตัวเป็นๆ เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

  • Digital กับ ความเป็นไทย

ขนบประเพณีหรือความเป็นไทย ดูจะเป็นอะไรที่ Digital เข้ามาแทนที่ไม่ได้เลยทีเดียว ความสวยงามของศิลปะวัฒนธรรม ความสุภาพอ่อนโยน การให้บริการของคนไทย เป็นจุดแข็งของความเป็นไทย เป็นจุดที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นเหนือประเทศอื่นๆ รายได้จากนักท่องเที่ยวจึงเป็นรายได้หลัก และผูกพันไปยังห่วงโซ่ธุรกิจอื่นๆ 

ด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวหยุดลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาในเมืองไทยได้ และ Digital ไม่สามารถแทนที่ขนบประเพณีและวัฒนธรรมของไทยได้

ผมคงต้องปล่อยประเด็นนี้ไว้ให้นักทฤษฎี นักปราชญ์ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาช่วยกันคิดแล้วครับว่า Digital จะมาชดเชยสิ่งนี้ได้อย่างไร ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าหรือวัฒนธรรมบางอย่างไปต่างประเทศเพื่อนำรายได้เข้ามายังประเทศของเราได้บ้างหรือไม่ ลองช่วยกันดูนะครับ