เมืองใหญ่ยกเลิกเคาท์ดาวน์'กสิกรไทย'คาดสูญ4.5หมื่นล.

เมืองใหญ่ยกเลิกเคาท์ดาวน์'กสิกรไทย'คาดสูญ4.5หมื่นล.

หัวเมืองใหญ่ทยอยยกเลิกจัดงานเคาท์ดาวน์ “เซ็นทรัลเวิลด์-ไอคอนสยาม” พลิกรูปแบบ “ส่งความสุข” นิวนอร์มอล “ไร้คน-ไร้สัมผัส” ต่างจังหวัดเลิกคอนเสิร์ต-งดอีเวนท์ดึงคน ศูนย์วิจัยกสิกรคาดล็อกดาวน์กระทบเศรษฐกิจ 4.5 หมื่นล้าน ม.หอการค้า ชี้ฉุดจีดีพี 0.2-0.3%

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ที่กำลังลุกลามไปในหลายพื้นที่ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องตั้งการ์ดป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด โดยเฉพาะกิจกรรมใหญ่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือ งานเคาท์ดาวน์ ซึ่งเป็นการจัดงานบนพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่มีผู้คนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากนั้น ภายใต้การจัดงานซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่นั้น ได้ตัดสินใจทยอยยกเลิกการจัดงาน และปรับรูปแบบงานใหม่ (นิวนอร์มอล) เลี่ยงการมีส่วนร่วมของผู้คน

รายงานข่าวจาก บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล เซ็นทรัล ภูเก็ต และ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต แจ้งว่า ได้มีการปรับแผนการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คืนวันที่ 31 ธ.ค. “Thailand & centralwOrld Bangkok Countdown 2021” ที่เซ็นทรัลเวิลด์ในฐานะแลนด์มาร์กเคาท์ดาวน์ใจกลางกรุงเทพฯ โดยเน้นรูปแบบการจัดงาน “ส่งความสุข” แบบไม่มีคน

“โจทย์ของเราทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่มีคน จะไม่เปิดให้ลูกค้าเข้างานแต่อย่างใด แม้ไม่มีคนเข้าแต่ยังคงบรรยากาศและส่งความสุขถึงประชาชนทั่วประเทศได้อย่างปลอดภัยไร้สัมผัส ผ่านช่องทางของเซ็นทรัลเวิลด์ เช่น เฟซบุ๊คไลฟ์”

สำหรับศูนย์การค้าต่างจังหวัดที่มีการจัดงานในหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ศาลายา อุดรธานี นครศรีธรรมราช ระยอง ได้ยกเลิกคอนเสิร์ตและอีเวนท์ที่จะดึงคน ยังคงไว้เพียงบรรยากาศทางการตลาด เช่น วินเทอร์มาร์เก็ต พร้อมสร้างความมั่นใจในการมาชอปปิงให้ลูกค้าภายใต้มาตรฐานด้าน “Hygiene&Safety” ที่ดำเนินงานอย่างเคร่งครัดตามแผนแม่บท“เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ” ใน 5 แกนหลักกว่า 75 มาตรการ

โดยเซ็นทรัลพัฒนาได้รับมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย “SHA” หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration ซึ่งร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้บริโภค

ขณะที่งาน“อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ เคาท์ดาวน์ 2021” ที่ไอคอนสยาม แลนด์มาร์คเคาท์ดาวน์ของประเทศไทยกำลังพิจารณาแนวทางดำเนินงานอย่างไรภายใต้มาตรการปลอดภัยขั้นสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะมีรูปแบบไม่แตกต่างจากเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้งงาน“Celebrating The New Heritage” ที่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ พบว่า ได้งดการแสดงคอนเสิร์ต คงเหลือเฉพาะส่วนการแสดงพลุ-เพลง “พรปีใหม่” และดำเนินมาตรการป้องกันการควบคุมโรคโควิด-19 และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเข้มข้น

ต่างจังหวัดทยอยยกเลิกเคาท์ดาวน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดและพื้นที่ทยอยประกาศยกเลิกการจัดงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2564 อย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด อาทิ เทศบาลเมืองแสนสุข พัทยา นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุโขทัย และขอนแก่น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ยอมรับว่ากรณีโควิดสมุทรสาครกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งผู้คนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา เดินทางท่องเที่ยวพร้อมครอบครัว และเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยคาดว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งในปีปกติจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศ 3.4 ล้านคน-ครั้ง เงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1.24 หมื่นล้านบาท

กสิกรไทยคาดสูญ 4.5 หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรอบใหม่ซึ่งเริ่มต้นจากตลาดกุ้งในสมุทรสาครเมื่อต้นเดือน ธ.ค.2563 จนกระทั่งนำมาสู่การล็อกดาวน์ชั่วคราวจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่ 19 ธ.ค.2563 ถึง 3 ม.ค.2564

ขณะเดียวกันก็ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดของประเทศไทย ในเบื้องต้นภายใต้กรณีที่ไม่พบคลัสเตอร์ของจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่นหรือเหตุการณ์ไม่ลุกลามจนนำมาสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่ของโควิดราว 45,000 ล้านบาทในกรอบเวลา 1 เดือน แบ่งเป็นความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล ที่อาจมีมูลค่ารวมกันราว 13,000 ล้านบาท

ความสูญเสียจากการที่ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ได้แก่ การเลี้ยงสังสรรค์ การจัดกิจกรรมต่างๆ การลดความถี่ในการใช้จ่ายที่ร้านค้าปลีก เป็นต้น

ความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไป 17,000 ล้านบาท หรือราว 30% ของรายได้ท่องเที่ยวในช่วงเวลา 1 เดือน ภายใต้กรณียังไม่ประกาศห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด

นอกจากนี้ยังอาจสร้างผลกระทบด้านอื่นที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจนด้วย อาทิ ผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าอื่นๆ ในตลาด จากการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัญจรโดยเฉพาะการสัญจรไปในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

ม.หอการค้าชี้กระทบจีดีพี0.3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นใน จ.สมุทรสาคร และขยายไปบางจังหวัดประเมินผลต่อเศรษฐกิจสมุทรสาครเฉลี่ยวันละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งกว่า 70% มาจากภาคอุตสาหกรรมและอีกส่วนมาจากภาคการค้า ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบการจับจ่ายในจังหวัดเฉลี่ย300 ล้านบาทต่อวัน

ทั้งนี้โรงงานยังเปิดดำเนินการปกติแม้จะมีต้นทุนความเข้มงวดในการดูแลแรงงานแต่การขนส่งสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารยังไม่กระทบมากนัก ทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก เพราะผู้บริโภคยังคงรับประทานอาหารทะเลตามปกติเพียงให้ปรุงสุก

รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 4.5-6 หมื่นล้านบาท ต่อเดือน หรือกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.2-0.3% ซึ่งไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจ 15.5 ล้านล้านล้านบาท แต่หากมีการล็อกดาวน์และใช้มาตรการเหมือนช่วงต้นปีจะกระทบจีดีดีพี 12% แม้จะมีระบาดหลายพื้นที่แต่คงประมาณเศรษฐกิจปี 2563 ติดลบ 6.3% และปีหน้าขยายตัว 2.8%

อนุมัติกรอบงบขาดดุลถึงปี 68

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบสถานะและประมาณการเศรษฐกิจตามกรอบการคลังระยะปานกลาง (2565-2568) โดยจีดีพีในปี2565 ขยายตัว 3-4 % และปี 2566 จะขยายตัว2.7-3.7% และจะเร่งขึ้นช่วง 2.9-3.9% ในปี 2567 และขยายตัว 3.2-4.2% ในปี 2568

สำหรับประมาณการรายได้สุทธิปี 2565-2568 ได้แก่ ปี 2565 คาดว่ารายได้อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ปี 2566 อยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ปี 2567 อยู่ที่ 2.62 ล้านล้านบาท และปี 2568 อยู่ที่ 2.75 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ประมาณการดังกล่าวมีสมมติฐานนโยบายภาษีสำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service) รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

สำหรับประมาณรายจ่ายปี 2565-2568 อยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ปี 2566 อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ปี 2567 รายจ่ายอยู่ที่ 3.31 ล้านล้านบาท และปี 2568 จะอยู่ที่ 3.42 ล้านล้านบาท โดยเป้าหมายการคลังระยะสั้น-ปานกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะให้รองรับสถานการณ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่เป้าหมายระยะยาวให้ปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุล