‘ก้าวหน้า’สะเทือน‘ก้าวไกล’ สนามท้องถิ่นไม่มี‘ส้มหล่น’

‘ก้าวหน้า’สะเทือน‘ก้าวไกล’  สนามท้องถิ่นไม่มี‘ส้มหล่น’

เมื่อบริบท"การเมืองท้องถิ่น" ต่างไปจาก "สนามใหญ่" ตรงนี้เองที่อาจกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้ง "ก้าวหน้า" และ "ก้าวไกล" จะต้องกลับไปคิดว่าการเล่นบท "แยกกันเดินร่วมกันตี" ยังคงเป็นยุทธ์ศาสตร์ที่ตอบโจทย์และมีผลไปถึงสนามอื่นๆในอนาคตหรือไม่?

ควันหลงเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เวลานี้ทั้ง76จังหวัดคงได้เห็นโฉมหน้า “นายกอบจ.” และ “สจ.” ในพื้นที่ของตนเองกันแล้วว่าเป็นใครกันบ้าง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผลเลือกตั้งอบจ.ซึ่งเป็นการประเดิมสนามท้องถิ่นเป็นสนามแรก สะท้อนนัยการเมือง การชิงไหวชิงพริบ” ของบรรดาพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ที่อาจส่งผลไปถึงสนามการเมืองอื่นๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

อย่าง “คณะก้าวหน้า” ซึ่งมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นแกนนำ ก่อนหน้านี้พยายามปลุกกระแส “เขย่าการเมืองท้องถิ่น” เอาเข้าจริงกลับต้องผิดหวัง กวาดสจ.มาได้เพียง57คนจากที่ส่งทั้งมด 1,001 คน

มิหนำซ้ำในส่วนของ “นายกอบจ.” ยังถูกบรรดาบ้านใหญ่ “แก้เกมเอาคืน” จนพ่ายเรียบทั้ง 42 จังหวัด 

ผลที่ออกมามีการประเมินไปว่า เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทั้ง “ระบบเลือกตั้ง” ที่ในระดับท้องถิ่น ยังเอื้ออำนวยให้ “บ้านใหญ่” หลายๆบ้าน ที่มีการเกื้อหนุนกันระหว่าง การเลือกตั้งอบต. เทศบาล และ อบจ. ต่างจากสนามใหญ่ที่อาศัยกระแสและความนิยมพรรค

160865676286

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องบัตรเลือกตั้งซึ่งใช้บัตรสองใบ ต่างจากการเลือกตั้งสนามใหญ่เมื่อวันที่24มี.ค.2562 ที่มีการมองว่าพรรคอนาคตใหม่ส้มหล่นจากบัตรใบเดียว บวกกับกระแส ณ เวลานั้นซึ่งมีกระแสเทมาจากไทยรักษาชาติที่ถูกยุบพรรค

หากยังจำกันได้แกนนำไทยรักษาชาติบางคนถึงขั้นประกาศเทคะแนนให้อนาคตใหม่ เพราะเวลานั้นไม่มีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่าง "เพื่อไทย" ลงแข่ง 

ยังไม่นับรวมกับ “กระแสคนรุ่นใหม่” ที่ครั้งนี้ไม่ปังเหมือนสนามใหญ่ ที่เวลานั้นกำลังเห่อของใหม่และนโยบายที่ฉีกไปจากเดิม  ขณะที่การเลือกตั้งอบจ.ยังเป็นการเลือกตั้ง “ม้วนเดียว-วันเดียวจบ” ไม่มีจัดเลือกตั้งล่วงหน้าหรือนอกเขต 

ตรงนี้จึงอาจทำให้ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นฐานคะแนนสำคัญของก้าวหน้า ที่กระกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะเมืองหลวงเลือกที่จะไม่ไปใช้สิทธิ สอดคล้องกับตัวเลขผู้ใช้สิทธิ 62.25% ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่กกต.ตั้งไว้ที่80%

อีกหนึ่งประเด็นที่แม้แต่ตัว “ธนาธร” ยังออกมายอมรับเองว่าเป็นตัว "ฉุดคะแนนนิยม" นั่นคือ จุดยืนและการสนับสนุนกลุ่มทางการเมืองที่มีการชูประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน”และเริ่มปรากฎภาพการโห่ไล่ระหว่างหาเสียงในพื้นที่ต่างๆมาเป็นระยะ

160865700538

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลเลือกตัั้งอบจ.ครั้งนี้เกิดจุดพลิกไปจากสนามใหญ่คือ “นโยบาย”  ซึ่งต้องยอมรับว่าบริบทการเมืองท้องถิ่นจะให้ความสนใจในเรื่องปากท้อง คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ดังนั้นพรรคไหน กลุ่มไหน ชูเรื่องการกินดีอยู่ดี มีน้ำ มีไฟ มีถนนหนทางใช้ ก็อาจได้รับความสนใจมากกว่าที่จะมาคิดว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จเมื่อไหร่ ปรองดองจะเป็นอย่างไร การชุมนุมจะไปถึงไหน 

ดังนั้นแม้บางพรรคการเมืองจะบอกว่า ไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในแง่กฎหมาย แต่การหยิบยกบางนโยบายที่มุ่งเน้นในเรื่องประชานิยม อัดฉีดเม็ดเงินในช่วงโค้งสุดท้ายก็อาจทำให้สามารถตีแตกและได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด

จากเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา อาจเรียกได้ว่าความพ่ายแพ้ของ "ก้าวหน้า" ในครั้งนี้ พิสูจน์แล้วว่า “ไม่มีส้มหล่น” เหมือนเช่นการเมืองสนามใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้นมีการวิเคราะห์ข้ามช็อตไปถึงฐานเสียงและคะแนนความนิยมของเครือข่ายค่ายส้มหวานอย่าง “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นฐานเดียวกันว่าจะส่งผลต่อการเมืองในอนาคตมากน้อยเพียงใด?

160865711593

อย่างที่รู้กันว่า ภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ค่ายส้มหวานมีการแตกตัวกลายเป็น "คณะก้าวหน้า" และ "พรรคก้าวไกล" โดยเลือกที่เล่นบท “แยกกันเดินร่วมกันตี” แบ่งฐานเสียงกันระหว่างสนามระดับชาติและสนามท้องถิ่น

แต่ดูเหมือนว่าผลเลือกตั้งอบจ.ที่ออกมาจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ทำให้"ค่ายส้มหวาน" อาจจะต้องกลับไปคิดใหม่ว่า จะยอมเสี่ยงเล่นบทเดิมต่อไปในสนามท้องถิ่นสนามหน้าหรือไม่?

โดยเฉพาะสนามกทม.ซึ่งถือฐานเสียงสำคัญของ "พรรคก้าวไกล" หรือ "อนาคตใหม่" เดิม

ศึกครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้นยังเหลืออีกหลายสนามให้แก้มือ อยู่ที่ว่าฝั่งไหนจะ “ชิงไหวชิงพริบ” ได้มากกว่ากัน...