ทักษะแห่งอนาคต

ทักษะแห่งอนาคต

"Double Disruption" ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และผลกระทบจากโควิด-19 นับเป็น 2 ปัจจัยสำคัญต่อรูปแบบของงาน รวมถึงทักษะที่ต้องเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่อาจจะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

เมื่อสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาทาง WEF (World Economic Forum) ได้ออกรายงานชื่อ “The Future of Jobs Report 2020” ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากทั่วโลกถึงแนวโน้มของงานและทักษะที่สำคัญในอนาคต โดยได้รวมเอาผลกระทบจากโควิดเข้าไปด้วย ผลสรุปคือจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและผลกระทบจากโควิด ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Double Disruption ต่อคนทำงาน นั้นคือรูปแบบของงานและทักษะที่ต้องเปลี่ยนแปลงในอนาคตนั้นมาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

จากปัจจัยดังกล่าว องค์กรธุรกิจจะต้องลดจำนวนพนักงานลง เนื่องจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน รวมทั้งลักษณะงานที่จะหายไปจากเทคโนโลยี ถึงแม้จะมีงานที่เกิดขึ้นใหม่อันเนื่องจากเทคโนโลยีเองมาช่วยไว้ แต่อัตราการหดหายของงานจะเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าอัตราการเพิ่มของงานใหม่ แถมทักษะสำหรับงานใหม่ย่อมไม่เหมือนกับงานที่หายไป

ตัวอย่างของงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องและสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น ด้าน Data analysts and scientists หรือ AI and machine learning หรือ Big data หรือ Digital marketing and strategy หรือ Digital transformation เป็นต้น ส่วนงานที่จะหายไปนั้นจะเป็นงานที่ซ้ำๆ หรืองานที่เทคโนโลยีสามารถทดแทนได้ ไม่ว่าพนักงานบันทึกข้อมูล เลขานุการผู้บริหาร นักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี หรือพนักงานขาย เป็นต้น

จากลักษณะงานที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลกระทบต่อทักษะของคนทำงานที่ต้องเปลี่ยนไปด้วย การขาดแคลนทักษะของพนักงานที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสามารถขององค์กรในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วย รายงานของ WEF ระบุว่าบริษัทต่างๆ พยายามที่จะเพิ่มโอกาสในการรีสกิล/อัพสกิลให้กับพนักงาน แต่ในทางกลับกันพนักงานเองกลับไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการรีสกิล/อัพสกิลตนเองเท่าใด

เมื่อเจาะลึกเฉพาะประเทศไทยแล้ว พบว่าทักษะที่สำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการขององค์กรสำหรับอนาคตนั้น ประกอบไปด้วย Analytical thinking and innovation, Complex problem solving, Active learning and learning strategies, Critical thinking and analysis และ Creativity, originality and initiative (สำหรับข้อมูลของประเทศไทยนั้น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เป็นพันธมิตรในการจัดเก็บข้อมูลร่วมกับ WEF)

อย่างไรก็ดี เมื่อนำข้อมูลของ WEF เปรียบเทียบกับข้อมูลของธนาคารโลก เรื่องคะแนน PISA ที่ประเมินทักษะและความรู้ของเด็กไทยในการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรายงานที่ออกมาเมื่อเดือน มิ.ย.ปีนี้ (เป็นคะแนนของปี 2561) กลับพบประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประการด้วยกัน

PISA เป็นการทดสอบเด็กนักเรียนอายุ 15 ปีจาก 79 ประเทศทั่วโลก ในการอ่านนั้นประเทศไทยอยู่อันดับที่ 68 ด้านคณิตศาสตร์อยู่อันดับที่ 59 และด้านวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 55 ของโลก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยมีอัตราการขาดเรียนที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ รวมทั้งความรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในระดับเดียวกันและในภูมิภาค

รายงานของธนาคารโลกชี้ชัดลงไปคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างผู้ที่เรียนในโรงเรียนที่แตกต่างกัน ยิ่งเมื่อเผชิญกับสภาวะโควิดแล้วทางธนาคารโลกถึงขั้นระบุออกมาเลยว่า โควิดทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยชัดเจนขึ้น

ความน่าสนใจคือในอีก 5 ปีข้างหน้า (WEF ใช้ปี 2568 เป็นปีอ้างอิงถึงงานและทักษะในอนาคต) ลักษณะของงานและทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่เมื่อดูจากคะแนน PISA ซึ่งเก็บจากเด็กอายุ 15 เมื่อปี 2561 (เด็กกลุ่มนี้จะอายุ 22 และเป็นวัยที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2568) จะเห็นถึงความไม่สอดคล้องกันอย่างมโหฬาร

จริงอยู่คะแนน PISA อาจจะไม่สามารถวัดความสามารถที่แท้จริงของเด็กไทย หรือรูปแบบการเรียนในปัจจุบันและอนาคตอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งโรงเรียนแล้วก็ได้ แต่ก็นำไปสู่คำถามว่าแล้วการศึกษาของไทย สามารถเตรียมพร้อมเด็กไทยสู่ทักษะและการทำงานในอนาคตได้ดีเพียงใด